เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | การส่งผ่านทาง 'เทคโนโลยี'

13 มิ.ย. 2561 | 06:28 น.
130661-1313 07-3374-10

ประเทศไทยในขณะนี้ กำลังส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างจริงจัง เป้าหมาย คือ การยกระดับรายได้ของประเทศให้มีรายได้สูงเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีโครงการ อาทิเช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งต่อยอดมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งดำเนินการมาตลอดกว่า 30 ปี จะทำการพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ ถือเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนและมีการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจนี้

มีบริษัทต่างชาติมากมายให้ความสนใจในการลงทุน หนึ่งในนั้น คือ อาลีบาบา บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการ อี-คอมเมิร์ซ จากประเทศจีน ยุทธศาสตร์ในการยกระดับผลผลิตหรือรายได้ให้สูงเทียบเท่ากับประเทศที่มีรายได้สูงนั้น เป็นการมองไปข้างหน้าและมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจในระยะยาว


Appoecd

เศรษฐกิจในระยะสั้นกับระยะยาวนั้น มีความแตกต่างกัน ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาวจะแตกต่างกันไปด้วย ในระยะสั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ อุปสงค์ทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความผันผวนหรือความแปรปรวนทางเศรษฐกิจ คือ ปรากฏการณ์ที่ระดับการผลิตมีมากหรือน้อยกว่าระดับการผลิตในระดับปกติที่เป็นอยู่ อุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้ได้ระดับผลผลิตที่แตกต่างกัน อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการผลิตที่มากขึ้น เศรษฐกิจมีการผลิตมากกว่าระดับปกติที่ผลิตได้ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ มีความต้องการการบริโภค การลงทุน การส่งออกที่มากขึ้น

การส่งออกที่มากขึ้น อาจมีสาเหตุมาจากมีความต้องการจากต่างชาติที่จะบริโภคสินค้าจากประเทศเรามากขึ้น นโยบายทางการคลังและนโยบายทางการเงินสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ได้ การใช้จ่ายของภาครัฐที่สูงขึ้นในการพัฒนาประเทศ การลดภาษีลง เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน การเพิ่มอุปทานเงิน ทำให้อุปสงค์มากขึ้นและการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อภาคการผลิต ทำให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น


Appskport

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว หรือแนวโน้มของเศรษฐกิจหนึ่ง จะถูกกำหนดโดยแรงงานทุน นอกเหนือจาก 2 ปัจจัยนี้ ที่สำคัญ คือ ศักยภาพในการผลิต ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยี เศรษฐกิจในระยะยาวเปลี่ยนแปลงได้ มีผลผลิตหรือรายได้เพิ่มขึ้นได้ จะเห็นว่า ต้องอาศัยการเติบโตของแรงงาน การสะสมทุน และการเติบโตของศักยภาพการผลิตที่จำเป็นต้องมีนวัตกรรม หรือ เทคโนโลยี ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นที่ต้องการของประชากรในประเทศและต่างประเทศ

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวนั้น จะขึ้นกับอัตราการเติบโตทางเทคโนโลยี ถ้าประเทศมีการเติบโตทางเทคโนโลยีต่ำ การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวก็จะต่ำ แต่ถ้ามีการเติบโตทางเทคโนโลยีสูง การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวก็จะสูง แหล่งที่มาของเทคโนโลยี คือ ทุนมนุษย์และการวิจัยและพัฒนา เศรษฐกิจที่มีทุนมนุษย์สูง คือ เศรษฐกิจที่ประชากรมีความรู้ มีการศึกษา มีประสบการณ์มาก สามารถนำเทคโนโลยีจากต่างชาติมาใช้ มาปรับปรุงต่อยอดได้ การวิจัยและพัฒนาของบริษัทมีความสำคัญที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่


TP05-3314-1a

สำหรับประเทศไทย ทั้งทุนมนุษย์และการวิจัยและพัฒนายังอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางเทคโนโลยีที่ต่ำและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวก็ต่ำตามไปด้วย รัฐบาลจำเป็นต้องเน้นไปที่การจัดสรรงบประมาณและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดไปกับการทำให้ผลผลิตในระยะยาวสูงขึ้น อาทิ นโยบายที่สร้างทุนมนุษย์ ส่งเสริมให้มีการทำวิจัยและพัฒนา ควรจะใช้งบประมาณอย่างจำกัดและไม่สิ้นเปลืองในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระยะสั้น อาทิ นโยบายที่ส่งเสริมการบริโภค นโยบายนี้จะทำให้การออมลดลง ส่งผลเสียต่อการสะสมทุน ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างรายได้ในระยะยาว ทำให้ในอนาคตมีทุนไม่เพียงพอ เมื่อถึงตอนนั้นประเทศต้องการการลงทุน ก็จำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะเป็นหนี้ต่างชาติมากขึ้นไปอีก นโยบายทำให้ระยะสั้นเศรษฐกิจมีการขยายตัว โดยมากแล้ว รัฐบาลจะชอบ เนื่องจากเห็นผลงานเร็ว


Screen Shot 2561-06-13 at 13.14.42

แม้ประเทศไทยจะมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกมามากกว่า 30 ปี แต่ประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการทางเทคโนโลยีได้เอง คำอธิบายที่เป็นไปได้มีหลายประเด็น อาทิ การขาดแคลนคุณภาพแรงงาน ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีความสามารถในการเลียนแบบเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ประกอบกับกลยุทธ์และแผนของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ประเทศไทยปัจจุบัน เพียงลำพังไม่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการทางเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีเข้ามาด้วย

ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจพิเศษต่อยอดจากแผนเดิม จึงจำเป็นและในขณะเดียวกัน เป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งของประเทศไทย


komchadluek_Apr252013_002

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แต่ถ้ายังไม่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีมาสู่บริษัทของไทยได้ ไม่ก่อให้เกิดการเติบโตทางศักยภาพการผลิต และเศรษฐกิจจะมีการเติบโตเพียงแค่ในระยะสั้นเท่านั้น เป็นผลมาจากอุปสงค์ในส่วนของการลงทุน และเมื่อเวลาผ่านไป ในระยะยาวจะไม่สามารถยกระดับรายได้ของประเทศให้เทียบเท่าประเทศที่มีรายได้สูง ถ้าต้องการให้ประเทศมีรายได้สูง รัฐบาลต้องมีกลยุทธ์ แนวทางและการกำกับที่แน่นอนว่า การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้บริษัทไทยสามารถเรียนรู้และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ สร้างนวัตกรรม ต่อยอด ออกแบบ ผลิตสินค้าและบริการทางเทคโนโลยีของเราเองได้ ทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตของศักยภาพการผลิต การเติบโตของศักยภาพการผลิตจะทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ

สิ่งที่สำคัญมากกว่าการชักชวนและให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในบ้านเราตามแผนยุทธศาสตร์ คือ การทำให้เกิดการส่งผ่านทางเทคโนโลยีไปสู่บริษัทของไทย


……………….
คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,374 วันที่ 14-16 มิ.ย. 2561 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ กับ "สิทธิในที่ดินทำกิน"
เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | นักเศรษฐศาสตร์ แห่งโลกอนาคต


e-book-1-503x62-7