‘อาร์บิทราจ’ คริปโตฯ 1 เดือนกำไร 20%

22 มิ.ย. 2561 | 03:40 น.
รูปแบบในการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี นอกเหนือจากการเก็งราคาซื้อขาย การลงทุนที่นิยมไม่แพ้คือ การทำ Arbitrage หรือการทำกำไรจากสินค้าตัวเดียวกันในราคาที่ต่างกันในแต่ละตลาด เช่น นักลงทุนรายนี้ที่ "ฐานเศรษฐกิจ" จะกล่าวถึง

นายวรกร วัฒนกุลชาติ นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิตอล และทำกิจการของครอบครัว กล่าวว่ากระแสเหรียญดิจิตอล หรือคริปโตฯที่มาแรง และการแข่งขันที่เทคโนโลยีความรวดเร็วเป็นโอกาสการทำอาร์บิทราจ อย่างปีที่แล้วการทำอาร์บิทราจสร้างกำไรต่อเดือนที่ 17-20%  และช่วงต้นปีที่บูมๆ สามารถสร้างผลกำไรถึง 35-40% สูงสุดถึง 50%

[caption id="attachment_289484" align="aligncenter" width="381"] วรกร วัฒนกุลชาติ วรกร วัฒนกุลชาติ[/caption]

“สิ่งที่เราทำ ซื้อสินทรัพย์ดิจิตอลใน exchange  (ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอล หรือเว็บเทรด) ที่ถูกไปขายยังเอ็กซ์เชนจ์ ที่แพงกว่า โดยผมจะเอาเอ็กซ์เชนจ์ในหลายๆ ที่มาปูเรียงกันดูว่าสินทรัพย์ดิจิตอลในแต่ละเอ็กซ์เชนจ์ราคาเท่าไร และหาตัวที่ถูกที่สุดและแพงที่สุด หักลบค่าธรรม เนียม เช่น ซื้อบิตคอยน์ที่ Bx.in.th ไปขายที่เอ็กซ์เชนจ์ coinone ของเกาหลี

เปอร์เซ็นต์กำไรที่ได้ เทียบไม่ได้กับกำไรจากการเก็งกำไรราคาซื้อขายคริปโตฯ เพื่อนผมบางคนได้ผลตอบแทนเป็นเท่าตัว  หรือ 3 เท่าตัวก็มี แต่มีโอกาสขาดทุนสูงจากราคาที่ผันผวน เช่นในช่วงที่คริปโตฯ ร่วงหนัก    ขณะที่การอาร์บิทราจความเสี่ยงแทบไม่มี เพราะแทบไม่มีการถือเหรียญดิจิตอลหรือคริปโตฯ เลย  แต่ทั้งนี้ก็ต้องเลือกเอ็กซ์เชนจ์ที่มีความน่าเชื่อถือ เช่นที่เคยมีบทเรียนเว็บเทรดระดับโลก Mt.Gox ถูกแฮกจนบิตคอยน์หายไปเกือบหมด”

สำหรับกำไรจากการอาร์บิทราจปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ   3-5% นายวรกร คาดการณ์ว่าโอกาสทองในการทำอาร์บิทราจ จะเกิดขึ้นช่วง 2-3 ปีนี้เท่านั้น  เพราะยิ่งการที่สถาบันการเงินต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มมืออาชีพ มีเครื่องมือ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี โดดเข้ามาร่วมวงในตลาดมากขึ้น จะทำให้เหรียญดิจิตอลในแต่ละเอ็กซ์เชนจ์จะใกล้เคียงกัน โอกาสทำอาร์บิทราจ ก็อาจแทบไม่มี bitcoin

ทั้งยังเชื่อว่าเว็บเทรดหรือเอ็กซ์เชนจ์ทั่วโลกที่มีกว่าพันแห่งจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ เหลือเฉพาะรายใหญ่จริงๆ ที่อยู่รอด  ขณะที่เอ็กซ์เชนจ์ของไทยด้วยโวลุ่มที่น้อย ค่าธรรมเนียมจัดเก็บสูง (0.25% ของมูลค่าการซื้อขาย ) และไม่มีมาร์เก็ต เมกเกอร์ ที่จะทำให้ตลาดเหรียญดิจิตอล มีสภาพคล่อง โอกาสการเติบโตจึงยาก

“เอ็กซ์เชนจ์ สำคัญคือโวลุ่ม แต่ของไทย ผมแทบเล่นไม่ได้เลย เพราะการที่โวลุ่มน้อย แสดงว่ามีคนตั้งราคาน้อยมาก อย่างผมมีเงิน 2 ล้านบาท  แทบจะหาซื้อไม่ได้ ยกตัวอย่างเอ็กซ์เชนจ์รายใหญ่สุดของไทยคือ  Bx.in.th (มีปริมาณการซื้อขายต่อวัน  380-400 ล้านบาท) ถ้าจะซื้อสัก 2 ล้านบาท ผมต้องซื้อแพงกว่าตลาดประมาณ 2%

อีกเรื่องคือค่าธรรมเนียมของไทยแพง  เทียบต่างประเทศเช่น  hitbtc ของยุโรป (มาร์เก็ตแคป 1.5 หมื่นล้านบาท) คิดค่าธรรมเนียมเพียง 0.10%  และถ้าเราเป็นฝ่ายตั้งคำสั่งซื้อ ยังได้ค่าธรรมเนียมกลับคืนมา เสียจริงเพียง 0.03% ถูกกว่าเมืองไทยเกือบ 3 เท่า และสิ่งที่จำเป็นจริงๆ คือเราไม่มีมาร์เก็ต เมกเกอร์ หรือคนที่ไปตั้งราคารอให้คนซื้อ”

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,374 วันที่ 14-16 มิถุนายน 2561

e-book-1-503x62