ทางออกนอกตำรา : บอร์ดคปภ.กินดีหมีหัวใจเสือ เปิดศึกขายประกันผ่านมือถือ

12 มิ.ย. 2561 | 14:03 น.
26236

 

 

เรื่องที่ผมจะนำมาเสนอในวันนี้ เป็นเรื่อง “นโยบายตลกร้าย” ที่ประชาชนพึ่งพาอาศัยใครไม่ได้ นอกจากต้องช่วยตัวเองละครับพี่น้องเอร้ยยย...

เมื่อ “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการจัดตั้งขึ้นมาในปี 2550 ให้ดำเนินการใน 3 ด้าน

1.กำกับและพัฒนาธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต ให้มีความเข้มแข็งมั่นคง

2.ส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัย มีบทบาทสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

3.คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย

กลับออกมาประกาศว่า ในการประชุมคณะกรรมการ คปภ.เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 มีมติให้ความเห็นชอบ ร่างประกาศเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2562 โดยกำหนดให้เพิ่มช่องทางการขายแก่ธนาคารให้สามารถขายประกันทางไปรษณีย์ และสามารถขายทางโทรศัพท์ได้ด้วย จากเดิมที่อนุญาตให้ขายที่สาขาธนาคารและสามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ เท่านั้น

[caption id="attachment_289373" align="aligncenter" width="335"] สุทธิพล ทวีชัยการ สุทธิพล ทวีชัยการ[/caption]

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ คปภ.ยังไม่อนุญาตให้พนักงานธนาคาร สามารถขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยนอกที่ตั้งของสาขาธนาคารแก่ประชาชนได้โดยตรง เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก ขัดแย้งกันมาก จึงจำเป็นต้องหาข้อยุติอย่างรอบคอบ

ประกอบกับที่ผ่านมาสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA) ได้คัดค้านมาอย่างหนักและสู้มาต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาการขายประกันผ่านธนาคาร

เลขาธิการฯ คปภ. สุทธิพล บอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอประธานบอร์ด คปภ.ซึ่งตามโครงสร้างนั้น จะมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ลงนามในประกาศ เพื่อใช้บังคับต่อไป

เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยทุกคนต้องตื่นรู้ เพราะประตูการขายประกันทางโทรศัพท์ที่เคยถูกคำสั่ง นายกฯ ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “สั่งลั่นดานปิดตาย” ถูกใครหน้าไหนก็ไม่รู้ล็อบบี้ให้ “คปภ.” ถอดสลักออก
CustomerService2 ผมไม่รู้ว่าบรรดาคณะกรรมการที่มาโดยตำแหน่งไล่จาก ประสงค์  พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อันประกอบด้วยบรรดาผู้มีชื่อเสียงที่พอฝากผีฝากไข้ เช่น  อัชพร จารุจินดา, วิชัย อัศรัสกร, วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ สมพล เกียรติไพบูลย์, ประสัณห์ เชื้อพานิช ฯลฯ รับรู้เรื่องหรือไม่ว่า คปภ.ของท่านกำลังยื่นอาวุธสำคัญให้บรรดา “นักขาย นายหน้า นายธนาคาร” ผู้ที่คปภ.ออกใบอนุญาตให้ ออกมาระรานสร้างความรำคาญใจให้ประชาชนทั่วเขตคาม

คนอื่นอาจจะลืมไปแล้ว แต่ผมนั้นจำได้ว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะนี่แหละ สั่งการในที่ประชุม ครม.ว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเพิ่มรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต และร่างพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ที่กระทรวงการคลังเสนอมา โดยให้ไปพิจารณาเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลพฤติกรรมการขายประกันผ่านทางโทรศัพท์ และการบังคับการขายประกัน พ่วงกับการกู้เงินผ่านสถาบันการเงิน เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

อะไรที่มาดลใจให้ “เลขาธิการ คปภ.” ถึงกล้ามาปลดล็อกกุญแจนี้ ผมมิอาจรู้ได้...แต่ผมรู้ว่า ประชาชนเอือมระอา ยามเผชิญกับ "ฮัลโหลขายประกัน"
shutterstock_295683053
ผมเชื่อว่า หลายคนเคยถูกใครก็ไม่รู้อ้างตัวว่า เป็นพนักงานธนาคารเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ ขายบัตรเครดิต ขายสินเชื่อเงินด่วนกันมากกว่าเดือนละ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย จากเดิมทีขายกันวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จนขยาดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกกฎเหล็กมาห้ามปรามไว้ จึงซาลง

เมื่อถามพนักงานเหล่านั้นว่า เบอร์นี้ท่านได้แต่ใดมา ใครเอาความลับลูกค้ามาขาย โดยไม่บอกกล่าวเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ ก็ไม่มีคำตอบ ปัญหาแบบนี้ ใช่หน้าที่ของ คปภ.ที่ต้องเข้ามากำกับดูแลผู้ขายประกันชีวิตและวินาศภัยใช่หรือไม่ แล้วทำไมถึงเปิดประตูบ้านให้  “นักขายมาระรานความเป็นส่วนตัว”

จะมาบอกว่าเพื่อส่งเสริมการออมก็ใช่ที่ เพราะการกระทำแบบนี้เท่ากับ คปภ.ไปดูแลคนขายมากกว่าดูแลผู้ซื้อ ที่ถ้าเขามีความต้องการเขาจะสอบถามพนักงานเอง มิใช่ปล่อยให้เกิดการขายตรงผ่านเสียงคุยที่ไร้หลักประกัน ไร้ตัวตนใดๆ

ผมไม่เชื่อว่า ผลประโยชน์จากเบี้ยประกันภัยรวมปีละ 871,041 ล้านบาท โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิต 640,079 ล้านบาท เบี้ยประกันวินาศภัย ปีละ 230,963 ล้านบาท จะมาบดบังวิจารณญาณของวิญญูชนใน คปภ.ได้
วิธีลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ผมไม่เชื่ออีกเช่นกันว่า การถอดดานเปิดประตูบ้านของ คปภ.เพียงเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ขายประกัน หรือนายหน้าให้ครอบคลุมเพื่อสร้างหลักประกันการออมและลดความเสี่ยงให้กับประชาชน

เพราะปัจจุบันนี้ตัวแทนรายบุคคลทั่วประเทศ มีมากถึง 5.22 แสนราย เป็นตัวแทนประกันชีวิต 2.73 แสนราย ตัวแทนประกันวินาศภัย 2 หมื่นราย นายหน้าประกันชีวิตกว่า 1 แสนราย นายหน้าประกันวินาศภัย กว่า 1.23 แสนราย มีนายหน้านิติบุคคลอีกกว่า 300 ราย ที่อยู่ในธุรกรรมนี้

ผมไม่เชื่อว่าเพราะค่านายหน้าจากการขายผ่านช่องทาง bancassurance ที่มีเบี้ยประกันโดยตรงปีละ 223,263 ล้านบาท จะมาบังตาให้ คปภ.องค์กรที่มีหน้าที่ดูแลคุ้มครองประชาชนโดยตรงจะตาบอดมืดมิด...

แต่ผมเชื่อว่า มีอะไรสักอย่างซ่อนเร้นอยู่แน่ ๆ ...ผู้ที่เอือมระอากับการขายสินค้าผ่านทางมือถือมาช่วยกันตามหากันดีมั้ยครับ...

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3374 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-16 มิ.ย.2561
e-book-1-503x62-7