คลอดร่างพ.ร.บ.สภาพัฒน์ฉบับใหม่“ไม่ต้องรอเปิดเเผนพัฒนาใหม่ทุก5ปี”

12 มิ.ย. 2561 | 12:01 น.
คลอดร่างพ.ร.บ.สภาพัฒน์ฉบับใหม่“ไม่ต้องรอเปิดเเผนพัฒนาใหม่ทุก5ปี”

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.สัญจร(12 มิ.ย.61) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ ) แต่เนื่องจากพ.ร.บ.ฉบับนี้นั้นเดิมมีมาตั้งแต่ปี 2521 ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรวมถึงภายในสภาพัฒน์ด้วย จึงได้มีการยกร่างพ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ นอกจากจะมีการเปลี่ยนชื่อแล้ว สภาพัฒน์ยังกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงวุฒิ 9 คนและประธาน 1 คน และกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย

carbinet

ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการกฤษฎีกา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน รวมถึงเลขาธิการสภาพัฒน์ รวมจะมีคณะกรรมการทั้งหมด 24 คน

โดยสภาพัฒน์จะมีอำนาจในการกำหนดกรอบ ทิศทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและสภาพเศรษฐกิจของประเทศและของโลก มีหน้าที่จัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นและเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมีหน้าที่พิจารณาข้อเสนองบประมาณประจำปีของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่บริษัทมหาชน สภาพัฒน์สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เฉพาะเรื่องที่เห็นว่ามีความจำเป็น

ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ยังกำหนดให้ต้องจัดทำแผนทุกๆ 5 ปี ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลก รวมถึงมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาเมืองและภูมิภาค การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

นายณัฐพรกล่าวต่อว่า สภาพัฒน์สามารถตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อติดตามงานและประเมินผล รวมถึงสามารถแต่งตั้งบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจเพื่อเสนอในระดับนโยบาย อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาลระบุว่า ให้คณะกรรมการสภาพัฒน์ชุดปัจจุบันสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ไม่เกิน 180 วัน นับแต่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 สามารถบังคับใช้ได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2565

“แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ ถ้าสภาพการณ์เศรษฐกิจและสังคมของโลกเปลี่ยนไป ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องรอ 5 ปี แล้วเปลี่ยนแผนใหม่ สามารถปรับตามสถานการณ์ได้ และเมื่อแผนประกาศใช้แล้ว หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำแผนและรายงานผลการปฏิบัติงานและการประเมินผลหน่วยงานของราชการทุกปี เมื่อมีแผนแล้ว หน่วยงานต้องนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่มีแผนไว้ขึ้นหิ้งเฉยๆ และเมื่อปฏิบัติแล้วจะต้องประเมินด้วยว่าได้ทำตามหรือไม่ ” นายณัฐพรกล่าว

e-book-1-503x62-7