‘นาทีทอง’ลงทุนไทย ‘ประสาร’ชี้เศรษฐกิจซบเป็นจังหวะได้ต้นทุนถูก

01 ก.พ. 2559 | 02:30 น.
“ประสาร” มองเศรษฐกิจโลกฟื้นช้า ลุ้นปัจจัยจีนหนุนกลับสู่ปกติ วิเคราะห์แบงก์กลางทั่วโลกยังจำเป็นใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ห่วงศักยภาพเศรษฐกิจไทยโต 3.5%-คนรับไม่ทั่วถึง กระทบรากหญ้า แนะธุรกิจที่พร้อมอย่ามัวท่องสูตรแค่ประคอง ให้ฉวยจังหวะนี้ลงทุนได้ราคาถูก ด้านคลังหวัง “เบิกจ่าย-ลงทุน-ท่องเที่ยว-ส่งออกพณ.เป้า 5%”ดันจีดีพี จับตาตัวเลขสศช.เดือนหน้า ฟันธงกนง.คงดอกเบี้ย 1.5%

ปัจจัยเสี่ยงที่โถมใส่มาตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็นการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจีนปี 2558 ที่เติบโตต่ำสุดในรอบ 25 ปี โดยขยายตัว 6.9% เทียบปีก่อนที่ 7.3% และนับเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าส่งออกไทยปี 2558 ติดลบถึง 5.78 % ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กระทรวงการคลัง ประเดิมด้วยการหั่นเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้ ลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.8% มาอยู่ที่ 3.7% แม้จะยังสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ส่วนใหญ่ที่ 3.5% ก็ตาม โดยเฉพาะเป็นการปรับเป้าส่งออกปีนี้ลงมาอยู่ที่ 0.1% จากเดิมที่ 3.2 %

ต่อเรื่องนี้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ"ฐานเศรษฐกิจ" เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 โดยตอบข้อซักถาม ถึงประเด็นความน่ากังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีจีนเป็นกลจักรใหญ่ทำให้ขยายตัว แต่เมื่อกลจักรอันเดิมไม่ได้ขยายตัวสูง ประกอบกับคนที่เคยก่อหนี้ระมัดระวังการใช้จ่าย จึงกระทบต่อประเทศต่าง ๆโดยรวม และรวมถึงไทยด้วย

 ศก.โตจำกัดยิ่งกระทบคนจน

"คำถามที่ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.5% แล้วจะดีกว่าปีที่แล้วจริงไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมองในมิติไหน ถ้ามองที่อัตราเติบโตก็สูงกว่า เพราะปีที่แล้วโตเฉลี่ย 2.8% แต่ประเด็นคืออัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 3.5% สถานการณ์การเติบโตลักษณะแบบนี้ คนจะรับไม่ทั่วถึง คือจะมีคนที่ถูกกระทบเยอะ และจะรับกันได้แค่ไหน ส่วนแนวคิดที่จะไปอุ้มคนจนให้รับกันทั่วหน้าก็เป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้ทรัพยากรมากและไม่คุ้ม " อดีตผู้ว่าการธปท. กล่าว พร้อมประเมินเศรษฐกิจโลกว่า โอกาสที่จะกลับมาปกติเช่นเดิมคงต้องใช้ระยะพอควร ซึ่งดูได้จากการที่ธนาคารกลางขนาดใหญ่หลายประเทศก็อยู่ในภาวะลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ ปรับดอกเบี้ยฮวบฮาบเพราะกลัวผลกระทบ

"อย่างที่ประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ ฯ หรือเฟด เมื่อวานซืน ( 26-27 ม.ค. 59) คงยังชะลอขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นและยุโรปก็ตั้งท่าจะทำคิวอีเพิ่ม ( Quantitative Easing ) เพราะเห็นว่าตลาดการเงินกังวลเลยต้องประคองไว้ก่อน กลัวว่าโพรเซส (process )ที่ทำเหล่านี้ จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ ถ้าปรับเร็วเกินไปก็จะมีผู้เดือดร้อน แต่ไม่มีใครรู้ว่าเราจะอยู่แบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน ยังต้องอึดอัดกันต่อ

ส่วนราคาน้ำมันโลกคงทรงตัวอยู่ระดับต่ำอีกสักระยะ อย่างน้อย 2-3 ปี เพราะมีเรื่องของดีมานด์ ความต้องการใช้ที่น้อยอยู่ ส่วนซัพพลายการผลิต กลับมีอิหร่านที่เพิ่มเข้ามา "

แนะจังหวะดีลงทุนในต้นทุนถูก

นายประสาร ยังได้แนะต่อว่าในสถานการณ์ขณะนี้ อย่ามั่วแต่ใช้กลยุทธ์ประคองอย่างเดียว ควรหาโอกาสใหม่ ๆ เช่น การเพิ่มช่องทางค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV หลักความจริงในเรื่องลงทุน คนมักถูกสอนกันว่า ควรจะลงในช่วงที่คนอื่นไม่พร้อม เพราะถ้าคนอื่นพร้อม เราไปลงทุนช่วงนั้นจะทำให้ซื้อของแพง แต่การพูดเช่นนี้ก็ต้องแยกแยะ เพราะประเทศเวลานี้มีทั้งคนที่พร้อมและไม่พร้อม ดังนั้นคนพร้อมกว่าก็ควรจะแสวงหาโอกาส ส่วนคนไม่พร้อมก็อาจต้องป้องกันตัว

"เวลานี้ก็เป็นจังหวะดีที่จะลงทุนในราคาที่ไม่แพง ซึ่งมีหลายกิจการที่พร้อมคือพร้อมทั้งกำลังทุน -กำลังธุรกิจ "

เฟดตรึงดบ.-ญี่ปุ่นขยายคิวอี

อนึ่งการประชุมของเฟด เมื่อวันที่ 26-27 มกราคม 2559 ได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25-0.5% โดยเฟด ยังจับตาในเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ,ตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขณะที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา BOJมีมติให้ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ โดยจะเรียกเก็บดอกเบี้ยสำหรับสถาบันการเงินที่นำเงินมาสำรองฝากไว้ในอัตรา ลบ0.1% นอกจากนี้ยังมีมติ ให้เลื่อนช่วงเวลาในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ซึ่งหมายความ BOJ มีแนวโน้มที่จะยืดระยะเวลามาตรการคิวอีหรือเพิ่มฐานเงินที่อัตรา 80 ล้านล้านเยนต่อปีออกไปอีกในอนาคต

"เบิกจ่าย-ลงทุน-ท่องเที่ยว"ดันศก.

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึง แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559 หากมองแล้วเศรษฐกิจโลกยังถือว่าขยายตัวในลักษณะเปราะบาง ดังนั้นจำเป็นที่ภาครัฐต้องหามาตรการเพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดต่ำ กว่าปี 2558 โดยเบื้องต้น สศค.ให้น้ำหนักที่เครื่องยนต์ 3 ตัวหลักๆ คือ

1.การลงทุนภาครัฐและเอกชน โดยมีเม็ดเงินเบิกจ่ายแล้ว 6-7หมื่นล้านบาท จากเม็ดเงินรวมที่มีมากกว่า 9 แสนถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งทางนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ติดตามความคืบหน้าการเบิกจ่ายเงินงบลงทุนอย่างต่อเนื่อง

"โดยเฉพาะปีนี้มีการกำหนดแผนงบประมาณแผ่นดินที่จะต้องทำให้การเบิกจ่ายของงบลงทุนเป็นไปตามแผน ซึ่งงบลงทุนปี 2559 นี้คิดเป็นสัดส่วน 20% ของงบประมาณทั้งหมด สูงกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนไม่ถึง 17-17.5 % และในช่วง 2-3 ปีจากนี้มีการกำหนดสัดส่วนของงบลงทุนจะต้องมีสัดส่วนที่ไม่ต่ำกว่า 20%"

ส่วนมาตรการที่ 2. การเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ภายใต้โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ โดยเชื่อว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินครบได้ภายใน 6 เดือน วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งก่อนหน้าได้ขยายเวลาเบิกจ่ายออกไปให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559 นี้

และ 3.ภาคการท่องเที่ยว ที่ สศค.ประเมินว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มจากปีก่อนหน้า ที่ 29.8 ล้านคน เป็น 33 ล้านคนซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้จากการท่อง เที่ยว 2.3-2.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ รัฐบาลเองอยู่ระหว่างประเมินมาตาการส่งเสริมทางด้านภาษี เช่น การขอคืนภาษีจากการท่องเที่ยววงเงินต่อรายที่ 1.5 หมื่นบาท ที่คาดจะข้อสรุปและมีผลต่อเนื่องจากปี 2558 ซึ่งภาพรวมน่าจะทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 0.15-0.5%

หวังพณ.กู้ส่งออกโต5%

สอดคล้องกับนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. และรักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ กล่าวว่าการที่ สศค.ปรับตัวเลขจีดีพี 2559 ลงเหลือ 3.7% ไม่ถือว่าน่าห่วง เพราะค่ากลางจากฐานอยู่ในช่วง 3.2-4.2% ดังนั้นคงต้องดูว่าภาพรวมของการส่งออก จะสามารถขยายตัวได้เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ เนื่องจากประมาณการครั้งนี้ อยู่บนสมติฐานที่การส่งออกขยายตัว 0.1% ขณะที่เป้าการส่งออกที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ เป็นการบ้านอยู่ที่ 5% นั้นจะสามารถทำได้ใกล้เคียงหรือไม่ หากทำได้ ก็มีโอกาสที่จีดีพีจะขยายตัวได้มากว่า 3.7%

"เป้าจีดีพีใหม่ที่ 3.7% ยังเป็นผลจากปัจจัยส่งออกที่หดตัว โดยเฉพาะจากจีน แม้จะค่อนข้างมั่นใจว่าจีนน่าจะออกมาตรการเข้ามาดูแลเศรษฐกิจภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าหรือทำการค้ากับจีน ต่างมีแนวโน้มขยายตัวลดลง โดยเฉพาะฮ่องกง ไต้หวัน สศค. จึงได้ปรับลดประมาณการเติบโตเพราะมีส่วนที่เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้พ่วงอยู่กับจีน "

นางสาวกุลยา กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจในครึ่งแรกยังเปราะบางและต้องติดตามใกล้ชิด โดยประเมินว่าสหรัฐอเมริกาน่าจะค่อยๆทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไปแน่นอนว่าอาจส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินบาทเฉลี่ยในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออ่อนค่าลง 9.5% เทียบปี 2558 ที่เฉลี่ย 32-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันอยู่ที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือมีค่าเฉลี่ย 30-40 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล

ภัยแล้งปัจจัยฉุด

ด้านแหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างประเมินผลประทบจากภัยแล้ง ที่อาจส่งผลต่อจีดีพีภาคการเกษตร โดยเฉพาะข้าวซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณดูแล กรณีที่รัฐขอความร่วมมือให้ปลูกพืชอื่นทดแทนข้าว เบื้องต้นอาจใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นล้านบาท

นายรชตพงศ์ สุขสงวน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)(บมจ.)กล่าวว่า ธนาคารยังคงเป้าจีดีพีปีนี้ที่ 3.5% ส่งออกไม่เกิน 3% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเติบโต 8.7% สิ่งสำคัญ คือ รัฐต้องเร่งเบิกจ่ายงบการลงทุนภาครัฐให้เป็นรูปธรรมตามแผน ขณะเดียวกันรัฐยังจำเป็นต้องดูแลประชาชนฐานรากและพยุงเกษตรจากปัญหาภัยแล้ว

"ช่วงนี้ปัจจัยภายนอก ไม่มีอะไรเป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทยเลย ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจะขยับมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น ซึ่งหากดูจากดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจของกรุงไทยในไตรมาส4/2558 ปรับเพิ่มขึ้นดีกว่า 50 ส่วนหนึ่งจากภาครัฐเอาจริงเอาจังและทำไปเยอะ อีกทั้งความเชื่อมั่นภาคเอสเอ็มอีของหอการค้าก็สะท้อนออกมาในเชิงบวก"

คาดกนง.คงดบ. 1.50%

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้รอดูตัวเลขจริงของสภาพัฒน์ ( สศช. :สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ )ในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นข้อกังวลเช่นเดียวกับหลายสำนักที่ทยอยปรับเป้าลง เพราะส่วนใหญ่มองเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน โดยระหว่างนี้จะเห็นรัฐบาลเดินหน้าการลงทุนและโครงการต่างๆ ในส่วนของศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นความพยายามของรัฐบาลทั้งการออกมาตรการอย่างต่อเนื่อง หรือหากมีมาตรการใหม่ออกมาอีก โดยจะประเมินผลของมาตรการอีกครั้งว่าจะชดเชยตัวเลขการส่งออกเพียงไร

ทั้งนี้คาดว่าจะมีการทบทวนตัวเลขประมาณการจีดีพีประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายนอีกครั้ง โดยประมาณการทั้งปีขณะนี้ยังอยู่ที่ 3%(กรอบประมาณการ 2.5-3.5%) ส่วนการส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ 2%(0.5-3.5%) การบริโภคอยู่ที่ 2.1%(1.7-2.5%) การบริโภคภาครัฐ 2.8% และการลงทุน 4.6%(4.0-5.2%)โดยเป็นการลงทุนเอกชน3.9%และการลงทุนภาครัฐ 7.9%

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายไทย ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง. ) ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 นี้ คาดว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50 % ต่อ เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ในประเทศไทยเวลานี้ความเชื่อมั่นดีขึ้น รวมทั้งการท่องเที่ยวยังมีสัญญาณบวกที่ดีเช่นกันขณะที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นและเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐอย่างเต็มที่

เศรษฐกิจธ.ค.ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ด้านนางรุ่ง มัลลิกะมาศ ธปท. กล่าวถึง ภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม 2558 โดยระบุว่า ภาพรวมยังฟื้นตัว โดยมีแรงขับเคลื่อนจาก 3 ปัจจัยคือ 1.การใช้จ่ายภาครัฐทั้งในและนอกงบประมาณที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายทางด้านลงทุนที่ไม่รวมเงินโอนจากรัฐบาลสามารถขยายตัวได้ถึง 44.1%

ขณะที่รายได้จัดเก็บขยายตัวได้ค่อนข้างดีที่ 8.4% แต่โดยหลักมาจากรายได้การประมูลใบอนุญาต 4จี (4G) 1,800 เมกะเฮิรตซ์งวดแรก แต่หากพิจารณาเฉพาะรายได้จากภาษี โดยภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต (VAT) ยังขยายตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนทางด้านอุปโภคบริโภคยังขยายตัวต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยที่ 2 ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วนปัจจัยที่ 3.การท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 30 ล้านคน ขยายตัว 3.4% จากระยะเดียวกันของปีก่อน

สำหรับปัจจัยถ่วงของเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องของการส่งออกที่ยังคงมีแนวโน้มของการหดตัว โดยปริมาณส่งออกติดลบอยู่ที่ 1.9% เมื่อเทียบระยะเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากการชะลอตัวของคู่ค้าสำคัญอย่างจีน และผลกระทบทางอ้อมจากคู่ค้าในประเทศอาเซียน รวมถึงราคาสินค้าส่งออกหลายชนิดที่มีความเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ลดลง ส่วนด้านนำเข้ายังอยู่ในทิศทางโน้มต่ำลง ทั้งการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่ใช่น้ำมัน และน้ำมัน แต่ในส่วนของสินค้านำเข้าหมวดอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยจากการบริโภคภายในและจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559