ส่งมอบ‘ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น’มุ่งการเมืองซื่อตรงสังคมสะอาด

01 ก.พ. 2559 | 09:00 น.
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นำทีมงานเปิดแถลงข่าว การจัดทำ"ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น"ที่เสร็จสิ้นพร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณชนที่รัฐสภา เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2559 นี้ ว่า หลังจากได้รับแต่งตั้งจากคสช.เมื่อ 5 ตุลาคม 2558 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำงานจนถึงวันนี้รวมแล้ว 117 วัน หากไม่นับวันหยุดที่มีประมาณ 40 วัน ก็จะเป็นวันทำงานจำนวน 77 วัน ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีจำนวน 270 มาตรา ตั้งแต่บททั่วไปจนถึงบทเฉพาะกาล ได้ยึดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เป็นแม่บทและกรอบการทำงาน

ระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากคสช. คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ในทุกรูปแบบผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางไปรษณีย์ อีเมล์ โซเชียลมีเดีย รวมทั้งมีคณะอนุกรรมการรับฟัง เพื่อสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งที่ดำเนินการเอง และออกไปรับฟังความคิดเห็นร่วมกับ สนช.และสปท. เพื่อจัดทำหลักการให้แล้วเสร็จในต้นเดือนมกราคม มีศูนย์นิด้าโพล สำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ เพื่อร่วมประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นแล้วเสร็จ

ในวันนี้เราได้ส่งร่างออกไปยังองค์กรต่าง ๆ ในเบื้องต้น ทั้ง ครม. คสช.องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และแจกสื่อมวลชน เพื่อให้ช่วยดู ถ้ามีข้อเสนอแนะ ขอให้ปรับปรุง ให้ตอบกลับภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เพื่อจะมีเวลาพอที่จะพิจารณาปรับปรุงได้ ซึ่งก็แต่ละหน่วยก็ค่อนข้างที่จะกระตือรือร้น หลายหน่วยที่ส่งคนเข้ามารับเอง หลายหน่วยก็รอฟัง มีการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการรับฟังอย่างกว้าง เพื่อจะได้ไม่มีข้อจำกัด สามารถรับความเห็นเข้ามาอย่างกว้างขวาง และมีคนยื่นมาตลอดเวลา ได้ใช้ประโยชน์อย่างมาก ได้เห็นว่าปัญหาของบ้านเมืองจริง ๆ อยู่ที่อะไร เกือบสรุปได้ว่า แทบทุกคนยกเว้นฝ่ายการเมือง ที่พูดเรื่องการทุจริต ซึ่งประชาชนทั่วไปพูดเรื่องนี้ พรรคการเมืองบางพรรคพูด บางพรรคไม่พูดถึงเลย

โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในมาตรา 35 (3) (4) และ (8) ได้กำหนดกลไกที่สำคัญไว้ กล่าวคือ (3) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุม ให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน (4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบ มิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด และ (8) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า และตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน โดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ

โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ใช้กลไกต่าง ๆ เหล่านี้มาบังคับใช้ด้วย ในส่วนกลไกการควบคุมการใช้อำนาจรัฐนั้น ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะต้องดำเนินการ

สำหรับประเด็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงการเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระและองค์กรอิสระไม่เชื่อมโยงประชาชนนั้น ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้เพิ่มอำนาจจากที่เคยมีอยู่เลย ซึ่งอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระยังมีอยู่ตามเดิม เพียงแต่ได้กำหนดกระบวนการให้ชัดเจน ว่าอย่างไรเป็นเรื่องทุจริต อย่างไรไม่สมควรทำ และกำหนดเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ว่าอย่างไรที่ฝ่าฝืนแล้วถือเป็นเรื่องร้ายแรง หากทำแล้วจะพ้นจากตำแหน่ง โดยในอดีตได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด และในร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเช่นกัน

ทั้งนี้ องค์กรที่มาตรวจสอบจะต้องเป็นอิสระ ซึ่งในประเทศต่าง ๆ ในโลกก็ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินและศาลก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน เพราะฉะนั้น กลไกเหล่านี้ก็เป็นกลไกปกติที่สากลปฏิบัติและใช้กันมา ในส่วนของหมวดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อาจรู้สึกได้ว่ามีจำนวนน้อยลง ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้น้อยลงแต่อย่างใด แต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้เปลี่ยนเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญของประชาชน ไปกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐ คือรัฐมีหน้าที่ในเรื่องต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น เช่น ประชาชนย่อมมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามที่กฎหมายกำหนด มาเปลี่ยนเป็นกำหนดให้ รัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการ และต้องจัดให้ประชาชน เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวโดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ (สิทธิมีส่วนร่วมของประชาชนเดิม และรัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง

สำหรับกลไกการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีวัตถุประสงค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง และการกำหนดให้ที่มาของสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทางอ้อมนั้น เพื่อเปิดให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงโดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง

อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ในวันนี้นั้นยังไม่สมบูรณ์ จะต้องรอรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับแก้ไขอีกครั้ง โดยขอให้เสนอด้วยเหตุผลว่าแก้ไขเรื่องใด เพราะเหตุใด ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพร้อมรับฟังความคิดเห็น เพราะรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นเพื่อประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศ ดังนั้นจึงควรมุ่งผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ นายมีชัย ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุย้ำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559