โลกกังขา จีนเปิดศึกค่าเงิน หลังอัดฉีด 8 แสนล้านหยวน

01 ก.พ. 2559 | 03:00 น.
การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ถูกจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้โดยการคาดการณ์ของหลากหลายสถาบันระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) นโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินของรัฐบาลจีน จึงเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิด เพราะการขยับแต่ละครั้งมักส่งแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดหุ้นและตลาดการเงินโลกในเวลาเพียงข้ามคืน โดยเฉพาะนโยบายยกเลิกการผูกขาดค่าเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งข่าวลือการยกเลิกผูกติดค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงกับดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกและทำให้มีการเทขายหุ้นอย่างหนักทั้งในตลาดจีนและฮ่องกง ทำให้จีนประสบภาวะเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่องจนทางการจีนต้องออกมาตรการห้ามเลือดสกัดเงินทุนไหลออกและเสริมสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจเป็นระลอกๆ

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน หรือ พีบีโอซี ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่องอีกกว่า 8 แสนล้านหยวน โดยผ่านกลไกเงินกู้ยืมระยะสั้นให้กับสถาบันการเงินมูลค่า 4 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ก่อนจะอัดฉีดเพิ่มเติมอีกระลอก 3.52 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ผ่านกลไกการกู้ยืมระยะกลางเข้าสู่ตลาดอินเตอร์แบงก์เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องรับเทศกาลตรุษจีนปีนี้

ทั้งนี้ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ระบุว่า ในปี 2558 มีเงินไหลออกจากตลาดจีนแล้วกว่า 7.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 26 ล้านล้านบาท ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนที่ไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจและตลาดทุนของจีน นักวิเคราะห์กล่าวว่า ยิ่งเงินทุนไหลออกจากตลาดจีนและฮ่องกงมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งกดให้ค่าเงินอ่อนลงไปอีก ซึ่งจะเป็นสัญญาณเชิงลบต่อบรรดานักลงทุนไปเรื่อยๆ ทำให้นอร์แมน ชาน ผู้ว่าการคณะกรรมการการเงินฮ่องกง และผู้ว่าการธนาคารกลางฮ่องกง ต้องออกมาแถลงสกัดความหวั่นวิตกของนักลงทุนแล้วว่า ทางธนาคารไม่มีแผนจะเลิกตรึงเงินดอลลาร์ฮ่องกงกับดอลลาร์สหรัฐฯแต่อย่างใด

เดินสายเรียกความเชื่อมั่น

เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้ยืนยันทางโทรศัพท์ไปยังนางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่า รัฐบาลจีนไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงเพื่อหวังผลกระตุ้นการส่งออก อีกทั้งไม่ได้คิดจะทำสงครามการค้ากับประเทศใดอย่างแน่นอน "จีนยังจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป" นายกรัฐมนตรีจีนกล่าว พร้อมทั้งระบุด้วยว่า ในความเป็นจริง อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนถือว่ามีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับหลากสกุลเงินในตะกร้าของไอเอ็มเอฟ ไม่มีเหตุผลใดๆที่จีนจะปล่อยให้ค่าเงินหยวนลดลงต่อไปเรื่อยๆ

นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า การให้ความเห็นของผู้นำจีนต่อไอเอ็มเอฟในครั้งนี้ก็เพื่อหวังขจัดข้อกังขาในตลาดการเงินที่ว่าทางการจีนกำลังเล่นเกมปั่นค่าเงิน ทั้งยังต้องการลบข้อสงสัยที่ว่าเศรษฐกิจจีนยังจะขยายตัวอย่างแข็งแรงต่อไปได้หรือไม่ เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นว่า จีนซึ่งปีที่ผ่านมา (2558) มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในอัตราต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 6.9% นั้น ยังคงต้องเจอแรงกดดันที่จะส่งผลเชิงลบทางเศรษฐกิจอีกมาก

สำหรับท่าทีของไอเอ็มเอฟนั้น นางลาการ์ดกล่าวว่า ตนเชื่อรัฐบาลจีนจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้รุดหน้าต่อไปด้วยมาตรการต่างๆซึ่งประกอบด้วยการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และปรับปรุงการสื่อสารกับตลาดเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไอเอ็มเอฟเองยินดีที่จะร่วมมือและประสานงานกับจีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการสื่อสารกับไอเอ็มเอฟเพื่อทำความเข้าใจแล้ว ผู้นำรัฐบาลจีนยังใช้เวทีเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเวทีย้ำจุดยืนของจีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระดับโลก โดยแสดงความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้านโยบายปฏิรูปอย่างเต็มกำลัง

เฉิน เฟิงหยิง นักวิจัยอาวุโสจาก China Institute of Contemporary International Relations ให้ความเห็นว่า ในช่วงเวลาที่จำเป็นเช่นนี้ ทั้งนางลาการ์ดและไอเอ็มเอฟ เป็นช่องทางที่สำคัญอย่างยิ่งที่จีนจะใช้เป็นสื่อกลางส่งผ่านสิ่งที่จีนต้องการจะบอกไปยังตลาดการเงินโลก "ตลาดถูกครอบคลุมด้วยความไม่มั่นใจ เพราะฉะนั้น ผู้นำรัฐบาลจีนจึงต้องออกมาพูดตอกย้ำความมั่นใจของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจและสกุลเงินของตัวเอง เพราะหากจีนไม่ออกมาพูด ทั้งตลาดหุ้นและตลาดเงินโลกก็จะยิ่งสับสนและขาดความมั่นใจยิ่งไปกว่าเดิม"

ยิ่งออกมาตรการ เรตติ้งยิ่งลด

อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ออกมาระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่จะถูกนำออกมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆในปี 2559 จะส่งผลให้กระบวนการปรับสมดุลทางโครงสร้างเศรษฐกิจจีนยิ่งล่าช้าออกไป และชะลอการแก้ปัญหากำลังผลิตที่ล้นเกิน ซึ่งความล่าช้าในเรื่องดังกล่าวยิ่งจะส่ง "ผลลบ" ต่ออันดับความน่าเชื่อถือของจีน

มูดี้ส์ประเมินสถานการณ์ว่า ในปีนี้ รัฐบาลจีนน่าจะยังคงให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และหลีกเลี่ยงการชะลอตัวอย่างรุนแรง ซึ่งนั่นหมายความว่าจะมีการออกชุดมาตรการหรือนโยบายกระตุ้นการเติบโตออกมาอีกเป็นระลอกๆ

"มาตรการเหล่านี้จะทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของจีนเป็นลบ หากมันทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ" รายงานของมูดี้ส์ระบุ พร้อมทั้งพยากรณ์ว่า ในปี 2559 การขาดดุลการคลังของจีนจะอยู่ที่ระดับ 2.5% - 3% ของจีดีพี (ปี 2558 อยู่ที่ 2.7 % ของจีดีพี) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับไม่ถึง 2 % ในระยะ 5 ปีก่อนหน้านี้

"คาดว่าหนี้ของภาครัฐจะขยับสูงขึ้นเหนือระดับ 40 % ของจีดีพีในปี 2559 นี้ ซึ่งก็พอๆกับประเทศอื่นๆที่อยู่ในอันดับความน่าเชื่อเดียวกันกับจีน" มูดี้ส์ระบุ ด้านไอเอ็มเอฟซึ่งเผยแพร่รายงานว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลก World Economic Outlook เมื่อเร็วๆนี้ ประเมินสถานการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะยิ่งชะลอตัวหนักกว่าเดิม คือจาก 6.9 % ในปี 2558 มาเหลือเพียง 6.3% ในปี 2559 และลดต่อเนื่องเป็น 6% ในปี 2560

ในความเสี่ยง ยังมีโอกาส

ชาง จิน เว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) จากสำนักงานใหญ่ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวขณะเดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มี 3 ปัจจัยจากประเทศจีนที่มองกันว่าเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆที่เป็นคู่ค้าของจีนในเวลานี้ ซึ่งก็รวมทั้งไทย นั่นก็คือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งการอ่อนตัวของค่าเงินหยวน ทั้งนี้ แน่นอนว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างจีน จะทำให้ประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีน ส่งออกไปจีนได้น้อยลง เนื่องจากความต้องการของตลาดลดลง นอกจากนี้ การอ่อนตัวของค่าเงินหยวนก็จะทำให้สินค้าจีนบุกตลาดโลกได้มากขึ้น และมีความได้เปรียบสินค้าคู่แข่ง

สำหรับจีนเองที่พยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น แทนการพึ่งพิงภาคการส่งออกในสัดส่วนสูง ปัจจุบันพบว่า อุปสงค์ภายในประเทศยังเติบโตในอัตราที่แข็งแรงคือราว 6.7-6.8 % สะท้อนว่าผู้บริโภคชาวจีนยังคงมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอย ยังมั่นใจที่จะออกมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในต่างแดน ถึงแม้ว่าจีดีพีของจีนจะขยายตัวในอัตราน้อยลง แต่ผู้บริโภคของจีนส่วนใหญ่ยังยินดีที่จะใช้จ่าย ดังนั้น จุดนี้จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรจะได้ประโยชน์ "นักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นได้ชื่อว่ามีพฤติกรรมการช้อปปิ้งแบบจ่ายไม่อั้น หรือที่ถูกให้คำนิยามแบบขำๆว่า explosive buying เป็นการกวาดซื้อแทบหมดร้าน แม้จีดีพีปีที่ผ่านมาจะอยู่ที่ 6.9 % แต่ผู้บริโภคก็ยังมั่นใจที่จะใช้จ่าย ผมมองว่านี่ยังเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย"

ส่วนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ผู้เชี่ยวชาญจากเอดีบีกล่าวว่า มองในอีกแง่หนึ่งจะเห็นภาพสะท้อนว่ามีอุตสาหกรรมบางแขนงของจีนที่สมรรถนะการแข่งขันลดลง เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ และอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้วยหลายๆปัจจัย แต่หลักๆคือ ต้นทุนผลิตในจีนสูงขึ้นมาก ช่วงจังหวะนี้จึงเป็นโอกาสที่ประเทศคู่แข่งของจีนในอุตสาหกรรมเดียวกัน น่าจะเร่งเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นไทย หรือประเทศใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ควรจะใช้ช่วงโอกาสนี้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับปรุงระบบขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งลงมา และเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดและช่วงชิงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา โดยแทนที่จะไปลงทุนในจีน ก็ให้เข้ามาลงทุนผลิตในไทย กัมพูชา หรือเมียนมา แทน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559