ราชาเฟอร์รี่ผนึกเครือข่ายเกาะพะงัน

19 มิ.ย. 2561 | 06:38 น.
ราชาเฟอร์รี่ผนึกเครือข่ายเกาะพะงันร่วมรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมทางทะล

กว่า 38 ปีที่บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด(มหาชน) หรือ RP ในฐานะผู้ประกอบกิจการเดินเรือเฟอร์รี่ข้ามฟาก เส้นทางดอนสัก-เกาะสมุย-เกาะพะงัน “อภิชาติ ชโยภาส” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นเกาะพะงัน หรือเกาะสมุย ก็คือแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย ที่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ และหากต้องการให้ความสมบูรณ์เหล่านี้คงอยู่ตลอดไป สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเร่งช่วยกัน คือ การรักษาและพัฒนา ช่วยกันดูแลธรรมชาติเหล่านั้น ซึ่งนั่นคือที่มาที่ทำให้ RP ยังร่วมมือกับเครือข่ายในเกาะพะงัน ร่วมจัดทำแผนสิ่งแวดล้อม 10 ปี โดยเริ่มนำร่องด้วยโครงการวางทุ่นป้องกันแนวปะการังท่าเรือท้องศาลา

“อภิชาติ” บอกว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องสำหรับแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่บริษัท ทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายดอกไม้ทะเลเพื่ออนุรักษ์เกาะพะงัน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยวางแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องระยะยาว 10 ปี นอกจากโครงการวางทุ่นป้องกันแนวปะการัง ซึ่งจะช่วยให้เรือมองเห็นพิกัดได้ในระยะไกล ก็ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ อาทิ โครงการจัดการขยะภายในองค์กร บนเรือและบริเวณท่าเรือทุกแห่ง ซึ่งเป็นเป้าหมายของบริษัท ที่ต้องการทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ของชุมชนและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ทุ่น

การวางทุ่นครั้งนี้มีจำนวน 10 ลูก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลูกละ 50 เซนติเมตร วางบริเวณปากร่องนํ้าท่าเรือท้องศาลาทั้ง 2 ด้าน คือด้านซ้ายและขวา ทอดระยะทางเป็นแนวยาวประมาณ 300-400 เมตร เพื่อให้เรือที่เดินทางเข้า-ออกท่าเรือท้องศาลา สังเกตเห็นได้ในระยะไกล เรือต่างถิ่นจะรู้ความกว้างของร่องนํ้า ทำให้สามารถกะระยะการเดินเรือได้รู้ว่าบริเวณนั้นมีปะการังที่ต้องเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงเข้าใกล้แนวดังกล่าว

กิจกรรมวางทุ่น ได้รับความร่วมมือจากชุดทีมประดานํ้ามืออาชีพชาวไทยเครือข่ายของ กลุ่มดอกไม้ทะเลฯ นักดำนํ้าอาสาสมัครหนุ่มสาวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อาทิ กลุ่ม Core Sea ซึ่งมีสมาชิกมาร่วมกว่า 20 คน จากประเทศเยอรมนีและอิสราเอล

กลุ่ม Core Sea ซึ่งตั้งสำนักงานเพื่อทำงานด้านศึกษาวิจัยที่เกาะพะงันตั้งแต่ปี 2554 มีการศึกษาเรื่องปะการัง ดูการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ(climate change) ว่าส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อการดำรงชีวิตของปะการังและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ผลการวิจัยพบว่า ปะการังในพื้นที่เกาะพะงันยังมีความแข็งแรงมาก ทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ เช่น เกาะสมุย เกาะเต่า หรือหมู่เกาะอ่างทอง และยังพบการเปลี่ยนแปลงเรื่องความหลากหลายของปะการังที่ลดลงมาก เหลืออยู่เพียงไม่กี่ชนิดเมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ ที่ทีมงานเริ่มเข้ามาวิจัย หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ การพัฒนาความเจริญและการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่นั่นเอง

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับ 3374 ระหว่างวันที่ 14 - 16 มิ.ย. 2561

e-book-1-503x62-7