"อี-คอมเมิร์ซโลก" หนุน SMEs ไทย!

11 มิ.ย. 2561 | 15:07 น.
110661-2200

[caption id="attachment_289059" align="aligncenter" width="317"] เจสัน ลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีเบย์ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอิสราเอล เจสัน ลี
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีเบย์ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอิสราเอล[/caption]

จากงานสัมมนา E-Commerce Big Bang จัดโดย กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2561 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ หัวข้อ "การเพิ่มช่องทางการขายสินค้าไทย โดยแพลตฟอร์มเด็ดระดับโลก" นายเจสัน ลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีเบย์ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอิสราเอล ยกตัวอย่างประสบการณ์ของอีเบย์ (eBay) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์ระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา เข้าถึงตลาดผู้ซื้อผู้ขายกว่า 190 ประเทศ และมีผู้ซื้อมากกว่า 170 ล้านคน เผยว่า ปรัชญาการทำธุรกิจของอีเบย์ คือ การทำให้ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในการค้าขายออนไลน์ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใครหรืออยู่ในประเทศใดก็ตาม ซึ่งอีเบย์ทำเช่นนั้น ได้ด้วยการทำแพลตฟอร์มซื้อขายที่ใช้ง่าย ไม่มีความซับซ้อนยุ่งยาก เพียงเข้าไปในเว็บไซต์ eBay.com ก็สามารถขายสินค้าได้ โดยไม่ต้องยุ่งยากกับการลงทะเบียน ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับการเริ่มต้นนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย (จ่ายต่อเมื่อทำยอดขายได้แล้ว) ผู้ใช้สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ได้จากการขายสินค้าบนอีเบย์ด้วยการเริ่มต้นอย่างง่ายดาย แต่สามารถเข้าถึงผู้ซื้อได้ทั่วโลก จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาใช้บริการ โดยออฟฟิศอีเบย์พร้อมให้ความสนับสนุนผู้ขายหน้าใหม่ มีทีมพัฒนาธุรกิจคอยให้คำแนะนำปรึกษา "อีเบย์เข้ามาให้บริการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ปี 2544 จากวันนั้นจนถึงวันนี้เรามียอดขายสินค้าจากประเทศไทยถึง 42,000 ล้านบาท ปีที่ผ่านมา มีผู้ขายเพิ่มขึ้น 7,500 ราย และมีผู้ขายรวมในปัจจุบันกว่า 10,000 ราย" ผู้บริหารของอีเบย์ประมาณการว่า ภายในปี 2020 ยอดขายสินค้าข้ามพรมแดนทางออนไลน์ (Cross Border Trade) ผ่านแพลตฟอร์มของอีเบย์ทั่วโลก น่าจะขยับขึ้นสู่ระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์

 

[caption id="attachment_289061" align="aligncenter" width="315"] อากาธา โซว์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ช้อปปี้ ประเทศไทย (Shopee) อากาธา โซว์
หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ช้อปปี้ ประเทศไทย (Shopee)[/caption]

ขยายหน้าร้านบนมือถือ
ด้าน อากาธา โซว์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ช้อปปี้ ประเทศไทย (Shopee) ขยายมิติของ อี-คอมเมิร์ซ เพิ่มเติมว่า อย่ามองเพียงการค้าขายผ่านเว็บไซต์ ซึ่งเป็นช่องทางร้านค้าออนไลน์ทั่วไปที่ผู้คนคุ้นเคยกันดี เพราะมีอีก 2 เทรนด์ใหม่ ที่มีการขยายตัวอย่างร้อนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นเทรนด์ระดับโลก นั่นคือ โมบายคอมเมิร์ซ (Mobile Commerce) ซึ่งเป็นการซื้อขายสินค้าผ่านทางแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เข้าเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ ก็สามารถซื้อขายสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และอีกเทรนด์ คือ โซเชียล คอมเมิร์ซ (Social Commerce) เป็นการซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม สำหรับช้อปปี้เองนั้น เป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ เข้าสู่ตลาดประเทศไทยปลายปี 2558 ค้นพบว่า เทรนด์โมบายคอมเมิร์ซของไทย ขยายตัวอย่าง รวดเร็วเช่นเดียวกับภาพรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโมบายล์คอมเมิร์ซโตเร็วกว่าในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก "เรามีผู้ขายในไทยมากกว่า 800,000 คน มียอดดาวน์โหลดกว่า 19 ล้านครั้ง เน้นช่องทางผ่านแอพบนมือถือและโซเชียลมีเดีย ที่สำคัญ คือ ระบบขนส่งสินค้าที่รวดเร็วและติดตามได้ นอกจากนี้ ผู้ขายในระบบของช้อปปี้ยังจะได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการขายสินค้าบนช่องทางใหม่นี้ผ่านทางโครงการ Shopee University ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด" นอกจากไทยแล้ว ช้อปปี้ยังบุกเจาะตลาดในเอเชียอีก 6 ประเทศ เน้นกลยุทธ์ Localization เข้าถึงผู้ซื้อผู้ขายในแต่ละประเทศ ซึ่งมีความต้องการแตกต่างกันไป ทำให้เนื้อหาและบริการบนแอพพลิเคชันของช้อปปี้ในแต่ละประเทศตอบโจทย์ได้อย่างตรงเป้าหมาย ปัจจุบัน ช้อปปี้มีผู้ขายในระบบกว่า 6 ล้านคน

 

[caption id="attachment_289062" align="aligncenter" width="317"] ฮงชอล จอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเลฟเว่น สตรีท ประเทศไทย (11Street) ฮงชอล จอน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเลฟเว่น สตรีท ประเทศไทย (11Street)[/caption]

ฝึกอบรมเสริมเขี้ยวเล็บผู้ขาย
นายฮงชอล จอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเลฟเว่น สตรีท ประเทศไทย (11Street) เว็บจำหน่ายสินค้าออนไลน์อันดับ 1 จากเกาหลีใต้ ซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยในปี 2559 ร่วมตอกย้ำความร้อนแรงของธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ ว่า การใช้อินเตอร์เน็ตที่กระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น เทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนและความสะดวกสบายในการชำระเงินออนไลน์ เป็นปัจจัยที่เอื้อให้ตลาด อี-คอมเมิร์ซ ในประเทศไทย มีการขยายตัวอย่างมาก โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดซื้อขายออนไลน์ของไทยเติบโตขึ้นราว 7 เท่า คนรุ่นใหม่ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการใช้งานโซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ เพื่อทำธุรกรรมค้าขายเพิ่มขึ้น จึงเชื่อได้ว่า การทำธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์จะยังคงทิศทางขยายตัวต่อไป สำหรับอีเลฟเว่นสตรีทนั้น มีจุดแข็งที่ผู้ซื้อสามารถเลือกสรรจับจ่ายสินค้าคุณภาพดีโดยตรงจากเกาหลีอย่างจุใจ มีสินค้าให้เลือกกว่า 16 ล้านรายการ นอกจากนี้ ยังจับมือกับธนาคารพาณิชย์จัดกิจกรรมให้ส่วนลดแก่ผู้ที่จับจ่ายสินค้าผ่านบัตรเครดิตของธนาคาร เป็นการกระตุ้นการจับจ่ายและเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้า ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ขาย บริษัทยังมี "อีเลฟเว่นสตรีทแคมปัส" จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ขายสินค้าที่ไม่มีพื้นฐานและประสบการณ์ด้าน อี-คอมเมิร์ซ มาก่อนอีกด้วย "ในภาษาเกาหลีเลข 10 หมายถึงความสมบูรณ์แบบ (Perfect) แต่ชื่อของเรา "อีเลฟเว่น" เป็นเลข 11 เพราะสิ่งที่เรามอบให้กับลูกค้าที่เป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายนั้น คือ มูลค่าเพิ่ม เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความสมบูรณ์แบบ"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,373 วันที่ 10-13 มิ.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทางออกนอกตำรา : ‘แจ็ค หม่า’ ปักธงไทยโอกาสหรือวิกฤติ
เพย์พาลรุกตลาดฟินเทคไทย ดึง ‘สมหวัง’ ดูแล/ปั้นร้านค้าขายผู้ซื้อ 192 ล้านคนทั่วโลก


e-book-1-503x62-7