การไฟฟ้าฝ่ายผลิตดึงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ รับพีกช่วงฤดูร้อนพุ่ง 2.9 หมื่นเมกะวัตต์/ห่วงก๊าซอ่าวไทยหมด

02 ก.พ. 2559 | 04:00 น.
กฟผ.เร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าเข้าระบบตามแผน รับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในหน้าร้อนนี้พุ่งกว่า 2.9 หมื่นเมกะวัตต์ และเร่งนำโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเข้าระบบมากขึ้น หวังเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้ากลับมาที่ 40% จากปัจจุบันลดเหลือ 35% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เผยยังมั่นใจโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา เข้าตามแผน ห่วงวิกฤติก๊าซในอ่าวไทยสะดุด กระทบต่อการผลิตไฟฟ้า

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในช่วงต้นปีนี้ทาง กฟผ.จะทยอยนำกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่แล้วเสร็จเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมพระนครเหนือ กำลังการผลิต 850 เมกะวัตต์ ที่ได้มีการนำเข้าระบบในช่วงต้นปีนี้ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งต้องการนำมาเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนที่จะถึงนี้ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีกจะพุ่งขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 2.9 หมื่นเมกะวัตต์ สูงกว่าปี 2558 ค่อนข้างมาก

ทั้งนี้คาดว่าพีกจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ โดยปัจจัยที่น่าห่วงคือหากในปีนี้ประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำ ที่ปัจจุบันน้ำใน 2 เขื่อนหลักมีเพียง 30% เท่านั้น จึงต้องลุ้นปริมาณฝนปีนี้จะมีมากน้อยเพียงใด หากมีปริมาณน้ำน้อยก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

ขณะที่การรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีถัดๆไปนั้น โดยในปี 2560 จะมีโรงไฟฟ้าทยอยเข้าระบบเป็นระยะเพิ่มขึ้นอีก และต่อเนื่องไปถึงปี 2561 ที่จะมีโรงไฟฟ้าทยอยเข้าระบบ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนหน่วยที่ 4-7 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2561 ,โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน เครื่องที่ 1-2 ขนาดกำลังผลิต 1.3 พันเมกะวัตต์ จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2562 ,โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน 1.2 พันเมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2562 ,โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2563 และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาชุดที่ 1 กำลังการผลิต 1 พันเมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2564 และชุดที่ 2 อีก 1 พันเมกะวัตต์ จะเข้าระบบปี 2567 ดังนั้นจะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 40% ได้

"นับตั้งแต่มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาลงทุนผลิตไฟฟ้าได้ ส่งผลให้ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงเหลือประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 35% ลดลงจากเดิมเคยอยู่ในระดับถึง 50 %ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด"

นายรัตนชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ที่มีอยู่ หากมองในภาพรวมในการดำเนินงานของกฟผ.ไม่น่ามีความเป็นห่วงมากนัก แต่หากคิดในแง่ความมั่นคงของการผลิตไฟฟ้าของไทยก็มีความกังวล เนื่องจากต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูง ขณะเดียวกันปริมาณสำรองก๊าซในอ่าวไทยลดลง ขณะนี้มีสำรองที่พิสูจน์แล้วไม่ถึง 6 ปี ดังนั้นหากเกิดวิกฤติก๊าซในอ่าวไทย หรือไม่สามารถป้อนก๊าซจากอ่าวไทยได้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากก๊าซในอ่าวไทยคิดเป็นสัดส่วน 60 % ของปริมาณก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

ขณะเดียวกันการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ก็ยังจำกัดและมีราคาสูงกว่าก๊าซในอ่าวไทย การใช้น้ำมันทดแทนก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อของการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสำรวจขุดเจาะ 8-9 ปี จึงต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทน ดังนั้นหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นในระบบก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาเสริมระบบก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตได้ 100% โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม

ส่วนความคืบหน้าการศึกษานำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ. เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนให้กับโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน กำลังการผลิต 1.2 พันเมกะวัตต์ ที่จะเข้าระบบในปี 2562 โดยทาง กฟผ. จะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งคลังลอยน้ำ ท่อส่งก๊าซ คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ในอนาคตอาจให้บริษัทลูกของ กฟผ. เป็นผู้ลงทุน อาทิ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง ที่สนใจนำเข้าแอลเอ็นจีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ก็หารือกับทาง บมจ.ปตท.เช่นกัน เนื่องจากต้องเปรียบเทียบราคาแอลเอ็นจี เพราะหาก กฟผ. นำเข้าเองแต่มีราคาสูงกว่าก็ไม่คุ้ม โดยสาเหตุที่ กฟผ.สนใจนำเข้าแอลเอ็นจีเองนั้น มาจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มีความต้องการใช้ก๊าซในปริมาณมาก ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาก๊าซที่รับซื้อจาก ปตท. ในบางแหล่งมีค่าความร้อนไม่ตรงกับที่ กฟผ. ต้องการ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าลดลง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559