ภาคผลิตอุตฯเริ่มโงหัวขึ้นสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชี้ปีนี้แนวโน้มดี เอ็มพีไอขยาย2%ได้อานิสงศ์โครงการรัฐ

03 ก.พ. 2559 | 02:30 น.
สศอ.สรุปการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวแค่ 0.3 % และจีดีพีอุตสาหกรรมเติบโต 0-1 % ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ชี้ปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะไทยพึ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมถึง 70 % แต่มั่นใจปีนี้มีแนวโน้มดี คาดการณ์เอ็มพีไอขยายตัวได้ที่ระดับ 2 % และจีดีพีอุตฯ ขยายตัว 2-3 % มองอุตสาหกรรมรถยนต์ พลาสติกเคมีภัณฑ์ยังสดใส

[caption id="attachment_29488" align="aligncenter" width="500"] ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและจีดีพีอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและจีดีพีอุตสาหกรรม[/caption]

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศที่ชะลอตัวเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมขยายตัวไม่ได้เท่าที่ควร จากผลการสำรวจดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) ของปีที่ผ่านมาขยายตัวเพียง 0.3 % ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3-4 % และยังส่งผลให้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมหรือจีดีพีอุตสาหกรรมขายตัวอยู่ในระดับประมาณการณ์ที่ 0-1 % จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2-3 % และส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 64.6 % เท่านั้น

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากภาวการณ์ส่งออกในปีที่ผ่านมาติดลบ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทำให้การบริโภคสินค้าลดลง ขณะที่การส่งออกของไทยกว่า 70 % เป็นสินค้าจากภาคอุตสาหกรรม จึงฉุดให้ภาคการผลิตไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้เท่าที่ควร ทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลง 4.6 % ประกอบกับการบริโภคในประเทศก็ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากปี 2558 ที่ผ่านมา มีการนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งบ่งบอกถึงการลงทุนหรือขยายกำลังการผลิต หดตัวลง 4.8 % และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ที่นำมาผลิตสินค้า ได้หดตัวลงเช่นกันที่ 7.6 %

อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวมของภาคผลิตอุตสาหกรรม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในแง่ของการฟื้นตัวของประเทศไทยยังดีกว่าประเทศดังกล่าว ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเรื่อยๆ

ส่วนแนวโน้มของปี 2559 นั้น มองว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ประมาณการณ์ว่าในปีนี้จะผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงได้ราว 2 แสนล้านบาท ประกอบกับมีความชัดเจนด้านการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และการลงทุนขนาดใหญ่ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินออกมาในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไปนั้น ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ และมีแผนที่จะไปเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน จะช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีโอกาสขยายตัวตาม โดยสศอ.คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปีนี้จะปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 2 % และส่งผลให้จีดีพีภาคอุตสาหกรรมปรับตัวไปที่ระดับ 3-4 % ได้

นายศิริรุจ กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมได้นั้น น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวอยู่ ซึ่งไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า จะมีการฟื้นตัวไปถึงระดับใด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่มีความแน่นอน ที่อาจจะฉุดภาวการณ์ส่งออกไม่ได้ตามเป้าหมาย

อีกทั้ง มีความเป็นห่วงอุตสาหกรรมรายสาขา ที่อาจจะได้รับผลกระทบหรือยังมีความเสี่ยงอยู่จากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ยาง ปาล์มน้ำมัน ที่ยังมีราคาตกต่ำ รวมทั้งวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก ที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากเหล็กจากจีนที่มีการนำเข้ามาดัมพ์ราคาค่อนข้างมาก จากที่เคยมีราคาอยู่ในระดับ 630 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลงมาเหลือ 265 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งในส่วนนี้ได้มอบหมายให้สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าฯไปดูว่า แท้จริงแล้วต้นทุนการผลิตควรจะอยู่ในระดับใด เพื่อหาแนวทางในการป้องกันเหล็กนำเข้าจากจีนต่อไป โดยพบว่าในปีช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีการนำเข้าเหล็กคิดเป็นมูลค่า 897 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.84 %

ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ยังสามารถไปได้ด้วยดี เช่น รถยนต์ที่มียอดการส่งออกเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ที่ตลาดยังมีความต้องการ โดยเฉพาะตลาดในอาเซียนที่ยังมีการเติบโตค่อนข้างมาก หลังจากที่มีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี รวมถึงอุตสาหกรรมอาหาร บ้างประเภท เช่น กุ้ง ที่ขณะนี้มียอดคำสั่งซื้อเริ่มกลับเข้ามาเป็นปกติ หลังจากที่ได้มีการแก้ไขปัญหาโรคตายด่วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559