ทิศทาง ‘เอสซีจี’ ภายใต้‘รุ่งโรจน์’กุมบังเหียน

02 ก.พ. 2559 | 02:00 น.
ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของผู้บริหารป้ายแดงอย่าง รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ที่รับไม้ต่อจาก กานต์ ตระกูลฮุน ที่หมดวาระการบริหารไปเมื่อสิ้นปีทีผ่านมา ในการแถลงผลประกอบการเอสซีจีปี 2558 เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา จึงได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวเป็นจำนวนมาก ต่างป้อนคำถามตรง ถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ไป ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ เป็นครั้งแรกในบทบาทซีอีโอเอสซีจี

รุ่งโรจน์ ได้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินงานหลังจากนี้ไปคงไม่แตกต่างจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะในแต่ละปีจะมีการทบทวนแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ของผู้บริหารเอสซีจีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการนำพนักงานทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการจัดทำแผน ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ที่มีการประเมินปัจจุบันตามสถานการณ์ เพื่อดูจุดอ่อนจุดแข็งของเอสซีจี ภายใต้คู่แข่งที่มีการปรับบริบทอยู่ตลอดเวลา

ให้ความสำคัญตลาดอาเซียน

โดยแผนธุรกิจเอสซีจีจะยังคงเน้นการเข้าไปในตลาดและลงทุนในประเทศแถบอาเซียนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละกว่า 10% และมีการเติบโตอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งเอสซีจีมีความเชี่ยวชาญอยู่ในตลาดแถบนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าการจะเข้าไปลงทุนในโรงงานปูนซีเมนต์ที่เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว และในบางประเทศมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อรองความต้องการภายในประเทศนั้นๆ ประกอบกับสภาพของตลาดที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการแข่งขันสูง มีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น การที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาสินค้าหรือการสร้างนวัตกรรม สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม(เอชวีเอ) ให้เหนือคู่แข่งขัน เพราะในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดว่า ธุรกิจที่มีฐานผลิตในภูมิภาคอาเซียนมีรายได้ถึง 4.717 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคิดเป็นรายได้ของเอสซีจีถึง 11% จากรายได้รวมทั้งหมด ขณะที่การส่งออกสินค้าไปอาเซียนมีรายได้ 5.297 หมื่นล้านบาท ลดลง 6% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ได้ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน ดังนั้นการส่งสินค้าเอชวีเอออกไปตลาดอาเซียนมากขึ้น จะช่วยให้รายได้ในส่วนนี้กลับคืนมาได้ โดยมองว่ายอดการส่งออกในภูมิภาคนี้ของปีนี้น่าจะเติบโตได้ 20%

 แผนลงทุนปิโตรฯคอมเพล็กซ์ล่าช้า

ส่วนงบลงทุน 5 ปี(2559-2563) ที่ตั้งอยู่ในราว 2.5 แสนล้านบาทนั้น ในระยะสั้นยังไม่มีการทบทวน แต่โดยปกติจะเฉลี่ยการลงทุนปีละประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทอยู่แล้ว ที่จะมีการใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือลดต้นทุนพลังงาน และการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้เงินสำหรับการเข้าซื้อกิจการที่มีศักยภาพ และอีกส่วนเป็นเงินลงทุนในการขยายงานประเทศเพื่อนบ้านที่ได้เข้าไปลงทุนแล้ว ซึ่งการลงทุนในอาเซียน ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องจากแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะโรงงานปูนซีเมนต์ในอินโดนีเซีย กำลังผลิต 1.8 ล้านตันต่อปีได้เริ่มผลิตสินค้าออกสู่ตลาดแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

สำหรับโรงงานปูนซีเมนต์ที่เมียนมา กำลังผลิต 1.8 ล้านตันต่อปี จะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ช่วงกลางปีนี้ และที่สปป.ลาว กำลังผลิต 1.8 ล้านตันต่อปี จะเริ่มผลิตได้กลางปี 2560 รวมทั้งการขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ที่กัมพูชา จากเดิม 1.1 ล้านตันต่อปี จะเพิ่มขึ้นอีก 9 แสนตันต่อปี ในช่วงปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่เวียดนาม มูลค่าการลงทุนราว 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ทำให้พันธมิตรผู้ร่วมทุนจากกาตาร์ได้ขอถอนตัว จึงต้องหาพันธมิตรรายใหม่เข้ามาร่วม ที่ต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 6 เดือน น่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งทำให้โครงการล่าช้าไป 6 เดือน จากที่คาดว่าจะเริ่มหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ในช่วงต้นปีนี้

 มั่นใจเศรษฐกิจไทยไปได้

ขณะที่การดำเนินธุรกิจในประเทศนั้น มองว่า แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศในปีที่ผ่านมาจะอยู่ในภาวะชะลอตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน แต่ในปีนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยให้เกิดการบริโภคและการขับเคลื่อนการลงทุนไปได้ ที่จะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าและความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา

แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังมีความเป็นห่วงอยู่ ที่จะมีผลต่อการแข่งขันของสินค้าในตลาดโลก และทำให้ความต้องการใช้สินค้าหลักๆ ลดน้อยลงประกอบกับสภาพตลาดในประเทศโดยเฉพาะธุรกิจวัสดุก่อสร้าง มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น แต่ปริมาณความต้องการใช้สินค้าคงที่ หรือปรับตัวลดลง 1-5% ขึ้นกับประเภทของวัสดุก่อสร้าง และบางประเภทมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มด้วย

ทั้งนี้สำหรับการปรับตัวรับการแข่งขัน เอสซีจี คงจะมุ่งการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน และเพิ่มสัดส่วนสินค้าเอชวีเอเข้าไปในประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย โดยในปีที่ผ่านมาเอสซีจีได้ใช้งบประมาณวิจัยและพัฒนาไปกว่า 3.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนหน้า หรือมีสัดส่วนต่อยอดรายได้ 0.8% ส่งผลให้เอสซีจีมีรายได้จากยอดขายสินค้าเอชวีเอในปีที่ผ่านมาถึง 1.61 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 37% เทียบกับรายได้ทั้งหมดที่ 4.39 แสนล้านบาท และในปีนี้จะใช้งบวิจัยและพัฒนาอีกกว่า 4.3 พันล้านบาท หรือมากกว่า 1% ของยอดขายรวม ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ในส่วนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกและคาดว่าจะส่งผลให้รายได้ในปีนี้เติบโตประมาณ 5-10%

 หาตลาดใหม่ทดแทนจีน

ส่วนสถานการณ์ของธุรกิจต่างๆ นั้น สำหรับธุรกิจเคมิคัล ยังดีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2561 เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ยังไม่มีออกมา เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ส่วนต่างราคาวัตถุดิบกับผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูงซึ่งปีที่ผ่านมาเอสซีจีส่งออกผลิตภัณฑ์ในสัดส่วน 50% เป็นการส่งออกไปตลาดจีน 20% ซึ่งผลการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนทำให้เอสซีจีต้องหาตลาดใหม่ทดแทนด้วยโดยปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจนี้มีรายได้ 2 แสนล้านบาท ลดลง 19% เนื่องจากสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวตามราคาน้ำมันที่ลดลง มีกำไร 2.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 129% จากส่วนต่างราคาที่ดีขึ้น

ขณะที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์นั้น คงต้องรอดูความชัดเจนในการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ที่จะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งหากมีความแน่นอนและเกิดการลงทุนได้ เชื่อว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะกลับขึ้นมา จากปี 2558 ความต้องการใช้ไม่ได้เพิ่มขึ้น มีเพียงไตรมาสที่ 4 เท่านั้น ที่เพิ่มขึ้นมาเพียง 2% เท่านั้น ซึ่งปีที่ผ่านมามีรายได้จากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ 1.78 แสนล้านบาท มีกำไร 1 หมื่นล้านบาท ลดลง 22% ส่วนธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง มีรายได้ 7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ที่เป็นผลจากการส่งออกบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้น ทำให้มีกำไร 3.4 พันล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559