เตือนจีดีพีอังกฤษอาจหดถึง2% ถ้าผลการลงประชามติเลือกไม่เป็นสมาชิกอียูต่อไป

01 ก.พ. 2559 | 12:00 น.
นักวิเคราะห์จากเครดิต สวิส เตือน ถ้าอังกฤษลงมติออกจากสหภาพยุโรปจะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทันที ราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ตก และส่งผลให้จีดีพีหดหายไปมากถึง 2%
บทวิเคราะห์จากวาณิชธนกิจ เครดิต สวิส เกี่ยวกับการลงประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของอังกฤษในสหภาพยุโรป (อียู) แสดงความคิดเห็นว่า ชาวอังกฤษน่าจะตัดสินใจเลือกที่จะเป็นสมาชิกอียูต่อไป อย่างไรก็ดี ได้เตือนว่าในกรณีที่ผลการลงประชามติออกมาว่าชาวอังกฤษต้องการออกจากอียู ผลที่เกิดขึ้นตามมานั้นจะรุนแรงและยาวนาน

"ถ้าอังกฤษลงมติออกจากอียู มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินของอังกฤษในทันที เราคาดหมายว่าการลงทุน การจ้างงาน และความเชื่อมั่นจะลดลง การหยุดชะงักลงทันทีของเงินทุนที่เคลื่อนย้ายเข้าประเทศจะส่งผลให้การบริหารจัดการงบประมาณที่ขาดดุลสูงทำได้ยากและนำไปสู่การอ่อนค่าของเงินปอนด์" โซนาลี พันฮานี และเนวิลล์ ฮิลล์ นักวิเคราะห์ของเครดิต สวิส กล่าวในรายงาน

เครดิต สวิส กล่าวอีกว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะหดหายไป 1-2% ในระยะสั้น เนื่องจากปัจจัยลบที่ผสมผสานกันระหว่างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลง สถานะการเงินที่ตึงตัวขึ้น เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และรายได้แท้จริงที่ลดลง ส่วนในระยะกลาง จะเกิดผลกระทบขึ้นกับอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งหมายถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง

บทวิเคราะห์ยังระบุถึงผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัย โดยราคาจะลดลงทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ขณะที่ในตลาดการเงิน นักลงทุนจะต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยงในการถือครองสินทรัพย์ของอังกฤษที่สูงขึ้น "เราคิดว่ามันจะหมายถึงการอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินปอนด์สเตอร์ลิงและราคาสินทรัพย์ที่ลดลง ซึ่งรวมถึงหุ้น อสังหาริมทรัพย์ และพันธบัตรรัฐบาล ค่าเงินที่อ่อนลงจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น กระทบกับรายได้ครัวเรือนและการใช้จ่ายของประชาชน"

นักลงทุนในตลาดกล่าวว่า ความเป็นไปได้ในการจัดทำประชามติอย่างเร็วในเดือนมิถุนายน และความไม่แน่นอนของผลที่จะออกมา ได้ส่งผลกดดันค่าเงินปอนด์ให้อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการลงประชามติภายในสิ้นปี 2560 แต่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลอังกฤษได้ตัดสินใจเลือกวันที่ 23 มิถุนายนเป็นกำหนดลงประชามติ

ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวบนเวที เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม เมื่อสัปดาห์ก่อน เตือนว่าความกังวลต่อสถานะของอังกฤษในอียูกลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งปัจจัย พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการบรรลุข้อตกลงเพื่อให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อไปได้อย่างรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ของยุโรปและเศรษฐกิจทั่วโลก

นักวิเคราะห์ของเครดิต สวิส คาดการณ์ผลกระทบในระยะสั้น แต่ยอมรับว่าผลในระยะยาวยากที่จะประเมิน โดยจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและอียูหลังจากนั้น

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การจ้างงานในประเทศจะได้รับผลกระทบจากการลงประชามติอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบริษัทว่าจะดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างไร ยูนิลีเวอร์ บริษัทผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ยักษ์ใหญ่ของโลก กล่าวยืนยันว่าจะไม่ลดขนาดธุรกิจในอังกฤษลงถ้าอังกฤษตัดสินใจออกจากอียู เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์โตโยต้าที่กล่าวว่าจะผลิตรถยนต์ในโรงงานที่เดอร์บีเชียร์ต่อไปแม้อังกฤษจะไม่เป็นสมาชิกอียู อย่างไรก็ดี เจพี มอร์แกน ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่จ้างงาน 19,000 ตำแหน่งในอังกฤษ ส่งสัญญาณว่าอาจจะถอนตัวออกจากประเทศถ้าอังกฤษออกจากอียู

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559