วิทยุการบินฯ หวังใช้ Big Data บริหารการจราจรทางอากาศ

11 มิ.ย. 2561 | 07:23 น.
วิทยุการบินฯ จัดการประชุมผู้ให้บริการจราจรทางอากาศทั่วโลก หารือแนวทางความร่วมมือนำ Big Data มาใช้บริหารจัดการจราจรทางอากาศ

- 11 มิ.ย. 61 - บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จัดการประชุม CANSO Asia Pacific Conference, CANSO Global ATM Summit, Annual General Meeting (AGM) และการประชุมที่เกี่ยวข้องด้านการให้บริการจราจรทางอากาศ ระหว่างวันที่ 7–14 มิ.ย. 2561 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โดยเริ่มจากการประชุมกลุ่มย่อย ได้แก่ Safety Workgroup, Operations Workgroup, CEO Strategy Workshop, CANSO Executive Committee Meeting และ CANSO Asia Pacific Conference ส่วนการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมประชุมมากที่สุดจากทุกภูมิภาคทั่วโลก คือ Global ATM Summit โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเปิดการประชุม S__8692005

นายอาคม กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่ได้แสดงศักยภาพในเวทีการบินโลก ซึ่งอุตสาหกรรมการบินของไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ปริมาณเที่ยวบินในปี 2561 สูงถึง 1 ล้านเที่ยวบิน คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 6% และ อีก 10 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าปริมาณเที่ยวบินรวมจะสูงถึง 2 ล้านเที่ยวบิน ในขณะที่การเติบโตมากกว่า 50% อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การเติบโตดังกล่าวนี้หมายถึงการที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์การพัฒนาคมนาคมขนส่งทางอากาศของประเทศไทย 20 ปี ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถ (Capacity) ของระบบการบินของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management: ATM) การบริหารจัดการห้วงอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิกเพื่อมุ่งไปสู่การบริหารจราจรทางอากาศแบบไร้รอยต่อ (Seamless ATM) S__8692006

การประชุมนี้เป็นเวทีที่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานให้บริการจราจรทางอากาศจากทุกภูมิภาคทั่วโลกได้หารือเกี่ยวกับปัญหา/ข้อจำกัด แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและหารือแนวทางในการปฏิบัติ (Best Practice) ที่ดีที่สุด รวมทั้งร่วมกันกำหนดทิศทางด้านการให้บริการจราจรทางอากาศ ที่มุ่งเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูล (Big Data) เพื่อบริหารต้นทุนและบริหารจัดการด้านความปลอดภัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสสำคัญที่ไม่เพียงแต่วิทยุการบินฯ เท่านั้น หน่วยงานการบินของไทยได้ร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการบินเพื่อพร้อมรองรับการเติบโตและความท้าทายต่างๆ S__8692009

นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิตระบบอุปกรณ์/เทคโนโลยีด้านการบิน ผู้ผลิตระบบติดตามอากาศยาน ผู้ผลิตเทคโนโลยีการบริหารจราจรทางอากาศ รวมทั้งผู้แทนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมาพันธ์ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศนานาชาติ (International Federation of Air Traffic Controllers' Associations: IFATCA) สมาพันธ์นักบินนานาชาติ (International Federation of Air Line Pilots' Associations: IFALPA) และสายการบินเข้าร่วมด้วย