‘สไบโตะ’โบรกเกอร์น้องใหม่ มีเงิน 100 บาทก็เทรดหุ้นได้

02 ก.พ. 2559 | 03:00 น.
เปิดตัวได้แรงและสร้างการจดจำให้กับวงการธุรกิจหลักทรัพย์ไทย สำหรับ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ จำกัด หรือ สไบโตะ (SBITO) โบรกเกอร์น้องใหม่ที่เปิดให้บริการช่วงเดือนตุลาคม 2558 ด้วยการจัดโปรโมชัน ลดค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือค่าคอมมิสชัน 90% จากราคาปกติ เป็นระยะเวลา 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 15 มกราคม 2559

บล.เอสบีไอฯ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง"เอสบีไอ กรุ๊ป" กลุ่มบริษัทการเงินญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำในการให้บริการการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ด้วยจำนวนบัญชีกว่า 4 ล้านบัญชีและมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่นที่สัดส่วน 40% และบล. ฟินันเซีย ไซรัสฯ ท็อปไฟว์ของบริษัทหลักทรัพย์ในไทย โดยถือหุ้นฝ่ายละ 55% และ 45% มีทุนจดทะเบียน 722 ล้านบาท
ทำไมเอสบีไอ กรุ๊ป ยักษ์จากแดนปลาดิบถึงให้ความสนในธุรกิจโบรกเกอร์หุ้นในไทย จนกำเนิดโบรกเกอร์ลูกครึ่ง "สไบโตะ" "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์ 2 ผู้บริหารของบล.เอสบีไอฯ "วราห์ สุจริตกุล" ประธานกรรมการ และ "เมกุมู โมโตฮิสะ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดังต่อไปนี้

สาเหตุที่เอสบีไอ กรุ๊ป สนใจทำธุรกิจหลักทรัพย์ในไทย เพราะมองว่าการเทรดผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือเทรดออนไลน์ จะมาแรงและยังเติบได้อีกมาก โดยปัจจุบันการเทรดหลักทรัพย์ผ่านออนไลน์ในไทยมีสัดส่วนเพียง 20-30% ของมูลค่าการซื้อขาย ขณะที่ญี่ปุ่นมีสัดส่วน 80% และเกาหลีใต้มีสัดส่วนที่สูงถึง 90%

"ประเทศไทยตอนนี้ก็เหมือนญี่ปุ่นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่ด้วยไทยเป็นไทม์ เมอร์ชีน คือพัฒนาเร็วกว่า และมีศักยภาพสูง ที่ญี่ปุ่นคนที่มีรายได้ปานกลางเป็นฐานใหญ่ "เมกุมู โมโตฮิสะ กล่าวเปรียบเทียบตลาดหุ้นไทยกับญี่ปุ่น

ด้วยโอกาสที่มองว่าฐานนักลงทุนและตลาดหุ้นไทยยังขยายได้อีกมาก จึงทำให้เกิดการเจรจาระหว่างบล.ฟินันเซีย ไซรัสฯ กับเอสบีไอ กรุ๊ป ซึ่ง "วราห์" กล่าวเสริมว่า ใช้เวลาคุยกันเป็นปีกว่าดีลจะจบ

"วราห์" กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยมี 1 ล้านบัญชี ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรของประเทศที่มีกว่า 70 ล้านคน ขณะที่มีบัญชีแอกทีฟ หรือซื้อขายสม่ำเสมอแค่ 2-3 แสนบัญชี เปรียบเสมือนบึงเล็ก ๆ และเค้กก้อนเล็ก ๆ ดังนั้นตลาดหุ้นไทยยังโตได้อีกมาก

"เราพร้อมให้บริการทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ หรือรายย่อย จะมีปริมาณซื้อขายเป็นอย่างไร เทรด 100 บาทก็ได้ ส่วนการจัดโปรโมชันลดค่าคอมของเอสบีไอ รับรองว่าไม่เฉือนเนื้อแน่นอน" วราห์ กล่าวและว่า

เช่นเดียวกับการเปิดบัญชี ที่บล.เอสบีไอฯ พร้อมอำนวยความสะดวกตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดบัญชีที่สะดวก รวดเร็ว ง่ายดาย โดยลูกค้าสามารถเปิดบัญชีผ่านเว็บไซต์ของบริษัท และยืนยันตัวตนพร้อมส่งเอกสารประกอบได้ที่ร้าน 7-11 ทั่วไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

2 คีย์แมนบล.เอสบีไอฯ กล่าวว่า บริษัทยังมีจุดเด่นตรงที่ระบบการส่งคำสั่งที่อำนวยความสะดวกลูกค้าในกรณีที่คำสั่งซื้อหรือขายที่ยังไม่ได้รับการจับคู่ (Unmatched order) ซึ่งโดยปกติคำสั่งซื้อขายเหล่านั้นจะถูกยกเลิกโดยระบบในสิ้นวัน แต่ด้วยระบบ GTC/GTD ของบริษัทนักลงทุนเพียงแค่ระบุเงื่อนไขวันหมดอายุ หรือที่เรียกว่า Good Till Cancel (GTC) หรือประเภทระบุวันหมดอายุ หรือ Good Till Date (GTD) เท่านั้นคำสั่งที่ยังไม่ได้รับการจับคู่จะถูกส่งไปยังตลาดหลักทรัพย์ในวันรุ่นขึ้นโดยที่นักลงทุนไม่ต้องส่งคำสั่งใหม่

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบการย้ายหลักประกันระหว่างบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบเรียลไทม์เพียงแค่ส่งคำสั่งการย้ายหลักประกันที่ปลอดชำระ ไม่ว่าจะเป็นเงินสด (Cash Collateral Transfer) หรือหุ้น (Stock Collateral Transfer) วงเงินซื้อขายของลูกค้าจะได้รับการปรับในทันที โดยไม่ต้องรอการดำเนินการจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งนับว่าเป็นการยกระดับการให้บริการออนไลน์ไปอีกระดับ

"เราเป็นเพียวออนไลน์ กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เรื่องการลงทุนมาระดับหนึ่งแล้ว" เมกุมู โมโตฮิสะ กล่าว และว่า

บล.เอสบีไอฯ ยังได้ตั้งทีมฝ่ายการตลาดที่เป็นคนญี่ปุ่นเพื่อรองรับการขยายฐานนักลงทุนญี่ปุ่นด้วย ซึ่งปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทย 1-2 แสนคน

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (มาร์เก็ตแชร์) ที่อัตรา 2.5% ในปี 2559 และจะมีบัญชีลูกค้าประมาณ 3 แสนราย ภายใน 1 ปีหลังจากนี้ พร้อมตั้งเป้าในอีก 5 ปี มาร์เก็ตแชร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 10% โดยเน้นการใช้ช่องการหาลูกค้าจากการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์และการจัดสัมมนา โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นนักลงทุนที่เทรดด้วยโวลุ่มสูง และเทรดด้วยตนเอง

"เราเป็นน้องใหม่ที่aggressive แต่เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถูกและดี ไม่มีในโลก แต่มีที่บล.เอสบีไอฯ" เมกุมู โมโตฮิสะ กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559