ราชดำเนินเสวนาชี้จุดอ่อนรัฐธรรมนูญ 60เซ็ตซีโร่องค์กรอิสระส่อปมปัญหา

10 มิ.ย. 2561 | 10:43 น.
ราชดำเนินเสวนา ชี้จุดอ่อนรัฐธรรมนูญ 60 “บรรเจิด” หวั่น เลือกเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระบางองค์กร เปิดช่องนักการเมืองถล่มในอนาคต

จากเว็บไซด์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยว่าทางสมาคม ได้จัดงานราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ "องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบทบาทและความท้าทายทางการเมือง " โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) นายบรรเจิด สิงคะเนติ นักวิชาการนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)

โดยนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยว่าที่ผ่านมาการควบคุมการตรวจสอบ การปราบปรามทุจริตยังทำไม่ได้เต็มที่เพราะอำนาจอยู่ในฝ่ายบริหารมาก รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงเอาอำนาจฝ่ายบริหารออกมา พอถึงตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 องค์กรอิสระยังถูกมองว่ายังไม่ได้ทำหน้าที่ ไม่มีมาตรฐาน ไม่ได้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา สองมาตรฐาน ดังนั้น ตอน กรธ.ร่างจึงนั่งคิดว่าองค์กรอิสระจะทำอย่างไรให้เป็นไม้ค้ำยันประชาธิปไตยไทยยุคใหม่ เป็นหลักประชาธิปไตย หลักควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหาร ที่เข้ามาใช้เงิน ใช้อำนาจ รวมถึงตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่ต้นทาง

chatchai

 

“กรธ.จึงต้องตั้งหลักกันว่า จะต้องเขียนความคิดลงในหมวดองค์กรอิสระ 1.ต้องอิสระ มีกรรมการสรรหาชุดเดียวตรงกลาง มีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่ละองค์กรไม่ได้สรรหากรรมการในองค์กรนั้นส่งมา 1 คน เพื่อให้เป็นกลางในการสรรหา สามารถกำหนดวิธีการกลั่นกรอง เพื่อไม่ให้เกิดครหานินทา พยายามการันตีให้เกิดความอิสระตั้งแต่การสรรหา 2.ต้องการให้ทำงานเชิงรุก ป้องกัน ป.ป.ช.ไม่ต้องรอให้มีใครมาร้อง มากล่าวหา แต่ต้องออกไปรณรงค์ให้ประชาชนเห็นพิษเห็นภัยการทุจริต หรือ กกต.จะเลือกตั้งให้อาวุธ กกต. มีกระทั่งงบประมาณในการหาข่าว หารือ ธนาคารแห่งประเทศไทยแบงก์ชาติ ดูเส้นทางการเงิน รวมถึงให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นมือไม้ ตระเวณดู ในระหว่างไม่มีเลือกตั้งก็ต้องไปดูทำงานเชิงรุก เช่นเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปค้นหา วิเคราะห์ วิจัย แก้ไขปัญหาต่างๆ เสนอมาเลยเรื่องนี้ไม่ดีต้องแก้ไขอย่างไร ส่งให้รัฐบาลและนิติบัญญัติทราบ 3.ทุกองค์กรต้องทำงานเร็ว จะมีการกำหนดระยะเวลา ป.ป.ช.มีคนมากล่าวโทษหากมีข้อมูลหลักฐานไม่ถูกต้องจริง ภายใน 1 ปี ต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานและชี้มูลให้เสร็จ ถ้าไม่ทำต้องอธิบายเหตุผลและอีก 1 ปี รวม 2 ปี แต่ถ้าโกงข้ามชาติอาจเกิน 2 ปีได้ แต่ก็ต้องอธิบาย”

นายชาติชาย กล่าวต่อว่า 4.คุณสมบัติคณะกรรมการองค์กรอิสระที่หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องดำรงตำแหน่งอธิบดีไม่น้อยกว่า 5ปีนับรวมกัน ทั้งที่หายากมาก เจตนาของ กรธ.เมื่อมีการให้ทำงานเชิงรุก ให้หน้าที่และอำนาจมากขึ้น จึงต้องการคุณสมบัติประสบการณ์วิจารณญาณที่ดี และกล้าหาญ กล้าชี้ถูกชี้ผิด เพราะบางครั้งความไม่กล้าหาญนำมาสู่วิกฤตการเมือง ต้องรับผิดชอบ อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าลาออกจากประธานต้องพ้นจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปด้วย 5.ต้องตรวจสอบกันเองให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม คุมมาตรฐานกันเอง มีกลไกให้สังคมตรวจสอบ กรรมการองค์กรอิสระ ต้องรับผิดลอยนวลไม่ได้ เป็นเจตนารมณ์ขององค์กรอิสระ

“อย่างกรณีการที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ต้น การกำหนดคุณสมบัติ คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ส.ส. ,ส.ว. มียาวเหยียด กกต.ต้องตรวจเช็คตั้งแต่คนสมัครรับเลือกตั้ง พอลงสมัครรับเลือกตั้งก็มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งไปตรวจสอบ เมื่อฝ่ายบริหารต้องแถลงต่อสภา องค์กรต่างๆ ก็ต้องไหวตาดู ไม่ใช่ให้มีคนมาร้อง พอเข้าไปใช้อำนาจ กระบวนการแปรญัตติงบประมาณหากมี ส.ส. ที่เป็นคณะกรรมาธิการแปรญัตติ หากเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับงบประมาณในพื้นที่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่ามีความผิดจริง ถ้าเป็น ส.ส.ก็หลุดจากตำแหน่ง เป็นรัฐมนตรี ผิดจริงก็พ้นไปทั้งคณะรัฐมนตรี“นายชาติชาย กล่าว

ban

 

ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ นักวิชาการนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่า ความวิกฤติศรัทธาทางการเมืองจะเชื่อมโยงกับการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพราะเป็นองคาพยพที่จะตรวจสอบองค์กรฝ่ายการเมือง บทบาทองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 40 ได้ดีไซน์เป็นครั้งแรกแยกองค์กรตรวจสอบมาเป็นองค์กรอิสระเป็นอำนาจที่ 4 แต่รัฐธรรมนูญ 2540 แบ่งเป็น2ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่ปี 2540 เป็นบุคลากรใหม่หมด จะเห็นความอิสระในการทำงาน แต่มาช่วงกึ่งกลางถึง 2540-2544 ฝ่ายการเมืองเห็นแล้วว่าองค์กรอิสระนั้นมีพิษสงต่อการดำรงอยู่ของฝ่ายการเมือง ดังนั้น การแทรกแซงจึงเกิดขึ้นในช่วงหลังรัฐธรรมนูญ 2545 จนถึง 2549 องค์กรที่ถูกทุบทิ้งองค์กรแรกคือศาลรัฐธรรมนูญ เป็นจุดสำคัญของวิกฤติการเมืององค์กรอิสระ จึงถูกสร้างมาถ่วงดุลการตรวจสอบฝ่ายการเมือง ครึ่งหลังของรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดวิกฤติศรัทธาองค์กรอิสระ หลายคนต้องรับชะตากรรมจนถึงทุกวันนี้

“รัฐธรรมนูญ 2550 บทบาทขององค์กรอิสระยังคงเดิม แต่ปรับเปลี่ยนบางเรื่อง เช่น ปรับเปลี่ยนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินหนี้สินไปอยู่ ป.ป.ช.ศาลรัฐธรรมนูญปรับอำนาจหน้าที่ บทบาทองค์กรอิสระเป็นช่วงที่เผชิญหน้ากับฝ่ายการเมือง ถ่วงดุลตรวจสอบ อาจพูดได้ว่าองค์กรที่มาตามหลักประชาธิปไตยฝ่ายการเมือง ถูกตรวจสอบจากองค์กรที่มาจากหลักนิติรัฐ และการถ่วงดุลตรวจสอบ นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐสภา คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นวิกฤติความขัดแย้งนำมาสู่ 22พ.ค.2557 และการร่างรัฐธรรมนูญ 2560”

นายบรรเจิด กล่าวต่อว่า บทบาทความท้าทายขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 60 มี 3 ประเด็น 1.เรื่องเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ นัยยะสำคัญจะต้องเคลียร์ให้จบ เพราะถ้าไม่จบบางองค์กรไป บางองค์กรอยู่ มองภาพหลังเลือกตั้งถ้าฝ่ายการเมืองเข้ามา อาจมองภาพว่าองค์กรนี้มาด้วยเอื้ออาทร กัลยาณมิตร จะเป็นรอยด่างให้ฝ่ายการเมืองเขาโต้แย้ง จะเป็นประเด็นให้ฝ่ายการเมืองนำไปถล่ม

“เช่น ป.ป.ช.ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ถูกเซ็ตซีโร่ไปดำเนินการชี้มูลความผิดฝ่ายการเมือง ก็จะถูกมองว่าไปเอื้อเป็นกัลยาณมิตรกับ คสช. ดังนั้น ควรจะให้เรื่องนี้ขึ้นสู่กระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปเสีย ว่าศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าที่ สนช.อ้างว่าไม่เซ็ตซีโร่นั้นมีประโยชน์อย่างไร มิเช่นนั้นการเริ่มต้นจะนำไปสู่การขยายผลทางการเมือง เพราะไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือจุดเริ่มต้นความท้าทายของรัฐธรรมนูญที่ไปยึดโยงไม่เป็นไปตามหลักเดียวกัน วิธีแก้มี 3 ทาง จะเซ็ตซีโร่ก็เซ็ตให้หมด อยู่ต่อก็อยู่ให้หมดไม่มีใครติดใจ หรือ ทางที่ 3 คุณสมบัติองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสูงกว่าฉบับเก่า ไปเขียนให้ใครที่ไม่มีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติใหม่ก็ให้พ้นจากตำแหน่ง คิดว่าเขียนอย่างนี้ไม่มีใครติดใจ แต่พอไปทำเช่นนี้รอยด่างควรได้รับการซักล้างโดยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตัดกระแสไม่ให้เป็นประเด็นทางการเมืองในอนาคต เป็นปฐมบทของความท้าทายมาก ขึ้นอยู่กับหลักการเลือกตั้งใครจะเข้ามามีอำนาจทางการเมือง จุดนี้เคลียร์ได้เคลียร์อย่าให้เป็นเชื้อในภายภาคหน้า”

ban1

นายบรรเจิด กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงหลักการตามรัฐธรรมนูญ 3 เรื่อง 1. มาตรา 236 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ในกรณีที่ ส.ส., ส.ว. 1ใน 5 หรือ ประชาชน 2 หมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหากรรมการ ป.ป.ช.ว่ากระทำความผิดตามมาตรา 234(1) โดยยื่นต่อประธานรัฐสภา พร้อมหลักฐานหากเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดให้ส่งเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะไต่สวน แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ให้ยื่นศาลฎีกาและศาลฎีกาตั้งผู้ไต่สวน นึกภาพอนาคต ถ้าฝ่ายการเมืองมา ป.ป.ช.ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายการเมือง ฝ่ายการเมืองต้องการดิสเครดิต ลองคิดดูว่าความอิสระของกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไปตรวจสอบฝ่ายการเมืองจะได้แค่ไหนเพราะให้ประธานรัฐสภา จะกระทบอย่างสำคัญต่อกรรมการ ป.ป.ช.ถ้าฝ่ายการเมืองหลังเลือกตั้งเป็นคนละขั้วกันอะไรจะเกิดขึ้น จะนำไปสู่การทำให้ ปปช.ทำได้โดยอิสระสมบูรณ์หรือไม่เพราะฝ่ายการเมืองจะเข้ามามีดุลพินิจ

เรื่องที่ 2. การเปลี่ยนคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ให้บุคคลซึ่งมาจากองค์กรอิสระ 4-5 คนมีบทบาทสำคัญ คนเหล่านี้คุณสมบัติเหมือนตุลาการ ถ้าเปรียบเทียบกับคณะกรรมการสรรหาของรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ประธานองค์กรอิสระมาเป็นกรรมการสรรหา มีตำแหน่งเป็นหลักประกันความรับผิดชอบ แต่วันนี้ไม่รู้กรรมการสรรหาที่เป็นผู้แทนองค์กรอิสระไม่รู้เป็นใคร และอยู่ต่อเนื่อง มีอำนาจในการชี้ขาดคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระ

“เรื่องที่ 3. คุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ถูกร้องนิดเดียวถ้าซื่อสัตย์สุจริตไม่ประจักษ์แล้วขาดคุณสมบัติ ซึ่งคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้ชี้ขาด แทนของเดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีหลักประกันความเป็นอิสระ ดังนั้น ถ้าเป็นคณะกรรมการสรรหาชี้ขาดไม่ใช่ตุลาการวินิจฉัย จะโต้แย้งต่อได้ไหม ประเด็นเหล่านี้จะยึดโยงไปสู่ประเด็นหลังเลือกตั้ง เพราะแค่ไหนเพียงใดไม่ประจักษ์ก็อาจถูกถอดได้ จึงเป็นปัญหาในการออกแบบ เหมือนเป็นข้อต่อใส่เกราะแล้วยังมีช่องว่างให้ทวนเข้ามาเสียบได้จะป้องกันอย่างไร เป็นความท้าทายใน รัฐธรรมนูญ 2560” นายบรรเจิด กล่าว

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ส่วนนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวว่า องค์กรอิสระส่วนใหญ่ให้อยู่ต่อยกเว้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่องค์กรนานาชาติไม่ยอมรับกระบวนการสรรหาเพราะไม่ถูกต้อง จึงต้องเซ็ตซีโร่ รวมถึง กกต. ที่มีปัญหาหลายเรื่อง เช่น การเลือกตั้งครั้งใหม่ กกต.ควรจะเป็นชุดเก่าหรือจัดเลือกตั้งหรือไม่ กกต.ชุดเก่าใกล้หมดวาระจะทำอย่างไร ได้หารือว่าสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ตัดสินใจให้พ้นไป แล้วเสียงส่วนใหญ่ก็ไปตามนั้น ในอนาคตจะเกิด2 มาตรฐานหรือไม่จะแก้อย่างไร ในทางการเมืองเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 6เม.ย.2560 ถ้าให้พ้นไปแล้วเลือกมาใหม่ทั้งหมด ปัญหาคือจะหาคนจากไหนที่คุณสมบัติครบตามรัฐธรรมนูญ เพราะวันนี้ กกต.ยังหาคนใหม่ค่อยได้ ถ้าเลือกมาฝ่ายการเมืองก็บอกว่าเลือกในสมัย คสช.ถ้าให้อยู่ต่อไปก็อาจจะบอกว่าอยู่ต่อโดยผลพวงของรัฐธรรมนูญ ก็จะถูกกล่าวหาทั้งสองทาง

“ส่วนเรื่องคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้ชี้ขาดคุณสมบัติแต่ละชุดจะต้องอยู่ถึง 7 ปี ให้แสดงเหตุผลในการสรรหาทุกครั้ง เหมือนคำวินิจฉัยส่วนตน ถ้าเลือกกรรมการท่านนั้นมาเป็นองค์กรอิสระ ต้องระบุว่าดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร เป็นหลักฐานบันทึกไว้ว่าถ้าหากกรรมการองค์กรอิสระไม่ว่า กกต. ป.ป.ช.ทำผิดในอนาคตจะได้นำคำอธิบายเหตุผลมาประจานต่อสาธารณะ แต่สิ่งสำคัญต้องทำให้ผู้แทนองค์กรอิสระที่มาเป็นกรรมการสรรหาต้องเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะมีตัวตนมีบทบาท เพราะถ้าไม่เป็นที่รู้จักอาจถูกการเมืองแทรกแซงได้” นายสมชาย กล่าว

e-book-1-503x62