depa โชว์ Digital Park Thailandพร้อมเผยแผนพัฒนาสถาบันIoTแห่งแรกของไทย

10 มิ.ย. 2561 | 07:09 น.
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำทีมสื่อมวลชนไทย – จีน ลงพื้นที่ศรีราชา เยี่ยมชม Digital Park Thailand พร้อมเผยแผนการพัฒนาสถาบันไอโอทีแห่งแรกของไทย หนึ่งในเมกะโปรเจคอีอีซี ดันเศรษฐกิจไทยทะยานขึ้นสูง สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ พร้อมดึงนักลงทุนต่างชาติร่วมลงทุน

de

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้นำคณะสื่อมวลชนไทย - จีน ลงพื้นที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เยี่ยมชมพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) บนพื้นที่ 830 ไร่ ภายในเขตพื้นที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC : Eastern Economic Corridor (EEC)

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า พื้นที่ตั้ง Digital Park Thailand ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลประกาศเมกะโปรเจ็กต์ อีอีซีดิจิทัลเพื่อการเป็นศูนย์กลางความเจริญในอาเซียน ซึ่งกลุ่มโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลตั้งใจพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อในภูมิภาค ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ – ระยองเพื่อเชื่อม 3 สนามบิน คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อกับกลุ่ม CLMV จึงเป็นการยกระดับ สนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางและเป็นเมืองการบินของภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ส่วนขยาย (มาบตาพุด) และโครงการรถไฟรางคู่ (สถานีมาบตาพุด)

de2

Digital Park Thailand ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางด้านการสื่อสารความเร็วสูงของไทย เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานีดาวเทียมและสถานีเคเบิลใต้น้ำ ที่เป็น เส้นทางหลักของการเชื่อมไฟเบอร์ออพติคภายในประเทศกับต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงเปรียบเสมือน ศูนย์กลางอินเทอร์เน็ต (Internet Hub) ของประเทศใน AEC และ หากพิจารณาตามสถานที่ตั้งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลในพื้นที่อย่างจริงจัง

ดร.ภาสกร กล่าวว่า โครงการ Digital Park Thailand เป็นความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) CATและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาพื้นที่กว่า 830 ไร่ ให้เกิดการลงทุนใน อุตสาหกรรมดิจิทัลจากภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการกำหนดพื้นที่ใช้งานออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วย โซน 1

de5

พื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลและศูนย์การเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานจริง (Work Integrated Learning Space) โซน 2 พื้นที่ลงทุนสำหรับธุรกิจดิจิทัล เช่น International Submarine Cable Station, Smart Device, Intelligent Software, IoT and Automation, Data Center, Satellite, New Digital Content และ Data Analytic เป็นต้น และโซน 3 พื้นที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์และสิ่งอำนวยความสะดวก

depa ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวกว่า 30 ไร่ หรือคิดเป็น 4 %ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อสร้างสถาบันไอโอที ( IoT Institute) แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่ช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมให้บริการด้านดิจิทัลครบวงจรโดยเน้นหลักการบูรณาการร่วมกัน (Ecosystem Collaboration) ซึ่งขณะนี้ depa ได้ใช้นโยบายโดยนำแนวคิดของพันธมิตรด้าน IOT (IoT Alliance) ทั้งจากภายในประเทศและระดับสากล มาเป็นกลยุทธ์ในการผลักดันการส่งเสริมด้าน IOT โดยกลุ่มพันธมิตรหลัก ประกอบด้วย 1) สถาบันการศึกษาและหน่วยงานของภาครัฐ 2) กลุ่มผู้ประกอบการ Start up 3) ภาคเอกชน และ 4) ภาคอุตสาหกรรม

de6

“จุดเด่นของสถาบันคือการสนับสนุนการทำกิจกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้าน IoT อย่างครบวงจร โดยการสร้างอาคารได้เน้นการนำแนวคิดของการสร้างอาคารแบบ Digital Smart Building เน้นหลักการ สนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลจากการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านสาธารณูปโภคด้านดิจิทัล (Linkage) ด้านการสื่อสาร (Communication) ด้านเทคโนโลยี (Technology) ด้านการสร้างเครือข่ายพันธมิตร (Networking) และด้านนวัตกรรม (Innovation) รวมทั้งการนำกรอบแนวคิดของรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเน้นการออกแบบอาคารแบบ Green building เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ดร.ภาสกรกล่าว

อย่างไรก็ดี สถาบันไอโอที (IoT Institute) ได้แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 6 ประเภท ประกอบด้วย 1.Open labs 2. IoT Design Centre 3. Office 4. Exhibition 5. Auditorium 6. Common Area โดยคาดว่าในปลายปีนี้จะได้เห็นโครงสร้างในส่วนของOpen labs

โดยระหว่างนี้ depa ได้มีการดึงนักลงทุน รวมถึงสถาบันวิจัยใหญ่ๆ เพื่อให้เกิดการทำวิจัยที่ไม่เคยมีในประเทศไทย เกิดการ Transform คนในพื้นที่เพื่อขยายต่อไปยังสถาบันการศึกษาและทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังได้รับสิทธิพิเศษจากการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น Smart Visa การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้า เครื่องจักรวัตถุดิบ เงินสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการลงทุนการวิจัย สิทธิการเช่า ที่ดินราชพัสดุ ระบบ One-stop Service เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดิจิทัล ปาร์ค ไทยแลนด์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีพื้นที่ติดกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในส่วนของจิสด้าจะเป็นพื้นที่อินโนเวชั่นปาร์คที่มีหลายส่วนงานที่จะต้องเชื่อมโยงและพัฒนาร่วมกันอย่างแน่นอน เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลาย จะเห็นได้ว่า ด้วยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี เครื่องมือและกลไกต่างๆ ของทั้ง 2 หน่วยงาน แม้จะต่างกระทรวงกัน แต่เราก็สามารถบูรณาการงานร่วมกันได้อย่างไม่มีขีดจำกัด สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุน ผู้ประกอบการ จากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนทุกหน่วย ซึ่งจะมีการประสานความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อเปิดประตูบ้านให้กับนักลงทุนฯ ได้ขยายฐานมาสู่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

de4

พร้อมกันนี้ จิสด้ายังได้เปิดบ้านต้อนรับคณะผู้บริหารของดีอี และร่วมพาคณะสื่อมวลชนไทย-จีนทัวร์อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 120 ไร่ ทำให้เห็นความพร้อมในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เช่น การมีศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ หรือ SOAR ซึ่งเป็นหนึ่งใน Center of Excellence ของจิสด้า ที่มีหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบินและเทคโนโลยีดาวเทียมของไทย โดยศูนย์ดังกล่าวมีความร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับหน่วยงานชั้นนำ ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ ระบบวางแผนถ่ายภาพด้วยดาวเทียมสำรวจโลก ระบบวิเคราะห์และบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ หรือ GISAVIA รวมถึง การพัฒนาระบบบริหารจัดการกิจกรรมบั้งไฟและโคมลอย หรือบำเพ็ญ

ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พัฒนาต่อยอดจากระบบ GISAVIA เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบนำทางด้วยดาวเทียมหรือ GiNNo ที่จะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ แหล่งสร้างแรงบันดาลใจ และจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ นักพัฒนานวัตกรรม นักลงทุน นักธุรกิจ จากไทยและต่างประเทศ และเป็นหน่วยที่เชื่อมโยงการใช้ข้อมูลกับ National CORS Data Center เพื่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ GNSS ด้วยการต่อยอดให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้การระบุตำแหน่งความแม่นยำสูง โดยมุ่งเน้นในด้าน Smart Agriculture, Mobile Mapping และ Smart Transportation นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการสาธิตเทคโนโลยีโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และขยายผลต่อไปยังอุตสาหกรรมด้านการคมนาคมขนส่ง การจัดทำแผนที่มีความถูกต้อง การวางผังเมืองและเขตเศรษฐกิจ และการเกษตร อีกด้วย

de1

e-book-1-503x62