อัดงบ 1.5 แสนล้าน! เติมพลังรากหญ้า

10 มิ.ย. 2561 | 07:43 น.
100661-1425 appTP8-3141-A

คลังยอมรับรายได้เกษตรกรทรุด! ฉุดเศรษฐกิจฐานราก ตั้งเป้า 4 เดือน อัดฉีดงบ 1.5 แสนล้านบาท ผ่านนโยบายประชารัฐกระตุ้นกำลังซื้อ ... 'ออมสิน' เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เฟส 2 อีก 1 หมื่นล้านบาท พร้อมดึงพิโกไฟแนนซ์ร่วมปล่อยสินเชื่อ วงเงิน 1 แสนบาทต่อราย ดอกเบี้ย 36% ต่อปี ... 'เจ้าสัวบุณยสิทธิ์' แนะแบงก์ชาติคุมค่าบาท

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 1 จะขยายตัวถึง 4.8% แต่ชาวบ้านยังรู้สึกจน ก็เพราะดัชนีรายได้เกษตรที่แท้จริงยังติดลบ ซึ่งรัฐบาลเองพยายามเร่งเติมเงินลงไปหมุนเวียนในระบบผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้ดำเนินการในเฟสแรกไปแล้ว ในเรื่องของการช่วยเหลือค่าครองชีพ


a1_943

ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟส 2 ที่จะให้คนมาฝึกอบรม สร้างอาชีพ คาดว่าจะมีการฝึกอาชีพประมาณ 4-5 ล้านคน ส่วนที่เหลือ คือ อัตราภาษีของเอสเอ็มอีที่ต่ำกว่าบริษัททั่วไปที่เสียในอัตราสูงและยังมีมาตรการอื่น ๆ ในเรื่องการกู้เงินผ่านธนาคารรัฐ การค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

"คนที่ลงทะเบียน 6 ล้านคน น่าจะเป็นเม็ดเงินประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ที่จะเข้าไปหมุนเวียนในระบบ ถือว่าไม่น้อย แต่ก็ไม่มากจนเป็นภาระงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลเองพยายามช่วยส่วนหนึ่ง แต่ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัว เพราะโลกเปลี่ยนไป มีเรื่องของการค้าออนไลน์เข้ามามากขึ้น ต้องรู้จักฝึกอาชีพที่เป็นทักษะเฉพาะสามารถสร้างรายได้ได้"


app-BAN04_THAILAND-THAKSIN_0816_03

4 เดือน อัดงบ 1.5 แสนล้าน
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า แม้ว่าดัชนีการบริโภคภาคเอกชนในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค. - เม.ย.) หลายด้านจะปรับตัวดีขึ้น แต่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังติดลบ 4.3% เช่นเดียวกับ ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ยังติดลบ 1.7% ซึ่งรายได้จากภาคเกษตรในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี แต่มีคนที่อยู่ในภาคเกษตรถึง 30 ล้านคน ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น

"จากการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่า ช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2561 (มิ.ย. - 30 ก.ย.) จะต้องเร่งอัดฉีดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีปกติและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงินรวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ลงไปกระตุ้นกำลังซื้อเศรษฐกิจฐานรากโดยตรง"

 

[caption id="attachment_288574" align="aligncenter" width="503"] สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์[/caption]

ธงฟ้าช่วยลดค่าครองชีพ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการจัดตั้งร้านค้าธงฟ้าประชารัฐทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว 2 หมื่นแห่ง ส่วนในเฟสที่ 2 ได้เร่งดำเนินการจัดตั้งร้านค้าธงฟ้าฯ เพิ่มอีก 2 หมื่นแห่ง คาดว่าจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีค่าครองชีพลดลง 8-12% ต่อเดือน หรือมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 2,500 บาทต่อเดือน

น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางยังไม่มีแนวคิดที่จะนำระบบ QR Code มาใช้กับบัตรคนจน ขณะนี้ มีเพียงการเพิ่มวงเงินที่ได้รับอนุมัติในเรื่องการฝึกอาชีพ จากการประเมินพบว่า คนเริ่มคุ้นเคยจากการใช้บัตร จากเดิมที่ใช้ 1-2 พันล้านบาทต่อเดือน ขณะนี้ เต็มเพดานที่กำหนดไว้ 3 พันล้านบาท และยังมีเงินเข้าไปรอบ 2 อีก 1,200 ล้านบาท ดังนั้น ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีเงินเข้าไปในระบบ 4,200 ล้านบาทต่อเดือน และถือว่า เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพ เพราะส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค

 

[caption id="attachment_288575" align="aligncenter" width="503"] ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ชาติชาย พยุหนาวีชัย
ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน[/caption]

เร่งแก้หนี้นอกระบบ
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารยังอยู่ระหว่างการหารือกับสมาคมสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่อเติมเต็มการช่วยเหลือการแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยสามารถกู้กับพิโกไฟแนนซ์ได้อัตราดอกเบี้ย 36% ต่อปี สำหรับกู้เงินไม่เกิน 1 แสนบาท จากเดิมที่ต้องเสีย 10-20% ต่อเดือน โดยพิโกฯ มีทุนสามารถปล่อยกู้ได้เอง หรือ สามารถมาขอวงเงินจากออมสิน เพื่อไปปล่อยกู้ให้กับคนที่มีหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เดินหน้าโครงการแก้หนี้นอกระบบ สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการรัฐ ระยะที่ 2 ภายใต้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถปล่อยกู้ได้ 2.4 แสนคน


S__15818756

แนะแบงก์ชาติดูแลค่าบาท
นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ เปรียบเสมือนกำลังตกหลุมอากาศ ต้องใช้รถโฟร์วีลช่วยพยุง เนื่องจากกำลังซื้อฐานรากยังไม่ดี เพราะเม็ดเงินเข้าไปไม่ถึงกลุ่มดังกล่าว แต่ไปกระจุกตัวอยู่ระดับบน เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า 8% ทิศทางการแก้ปัญหานับจากนี้ จะต้องมีการกระตุ้นและปรับให้ตลาดระดับล่างมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้ามา

"หากค่าเงินบาทแข็งจนมาอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนการเลือกตั้งมองว่าเป็นเรื่องดี กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ไม่เกิดภาวะซึมเศร้า โดยมองว่า พรรคที่จะเข้ามาเป็นคณะรัฐบาลจะต้องมีนโยบายเรื่องค่าเงินและสามารถทำงานร่วมกับแบงก์ชาติได้ เพื่อแก้ปัญหาภาคการเกษตรให้สามารถส่งออกและมีกำไร"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,372 วันที่ 7-9 มิ.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ปฏิกิริยา : "สัญญาณ" จากรากหญ้า ของแพง รายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ
ศก.รากหญ้าฟื้น ซัมมิทลุยลีสซิ่ง


e-book-1-503x62