"ประยุทธ์" วาง 5 มาตรการ ดูเเลประชากรไทย 20 ปี

09 มิ.ย. 2561 | 07:37 น.
- 9 มิ.ย.2561 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ว่า “ในอนาคต การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการอพยพย้ายถิ่น จะทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ครัวเรือนไทยกว่า 5 ล้านครัวเรือน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ซึ่ง 3 ล้านครัวเรือน เป็นผู้มีรายได้น้อย

รัฐบาลมีทั้งมาตรการระยะสั้น ในการช่วยจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ด้อยโอกาส พร้อมกับพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตไปด้วย สำหรับมาตรการระยะยาว ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2579 โดยมีเป้าหมายให้ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในปี 2579”
20180605032737 โดยมีหลักในการดำเนินการ 5 ด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ได้แก่
(1) การพัฒนาและสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น โดยมีการบริหารจัดการที่ดินอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปด้วย รวมถึงเร่งพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านที่อยู่อาศัย เพื่อรับทราบข้อมูลความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงในการจัดทำนโยบายสนับสนุน หรือแก้ไขได้อย่างตรงจุด ตรงความต้องการนะครับ

(2) การเสริมสร้างระบบการเงินและสินเชื่อ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสการมีที่อยู่อาศัย อาทิกองทุนที่อยู่อาศัยแห่งชาติ กองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับชุมชน ระดับเมือง และกองทุนค้ำประกันความเสี่ยงในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น

(3) การยกระดับการบูรณาการด้านบริหารจัดการ ที่อยู่อาศัยในทุกระดับ โดยภาคเอกชนและท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วม รวมถึงจัดตั้งศูนย์บริการร่วมแบบเบ็ดเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน

(4) การส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน โดยมีการจัดสวัสดิการในชุมชนเพื่อให้เกิดการพึ่งพากันภายใน และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน
และ (5) การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยส่งเสริมการจัดการที่ดินและผังเมือง รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ภายใต้แผนแม่บทนี้รัฐบาลได้จัดทำแผนงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อรองรับผู้มีรายได้น้อย กว่า 1 ล้านครัวเรือน ทั้งในเมืองและชนบท และอีกประมาณ 2 ล้านครัวเรือน ก็จะจัดให้มีการเช่า หรือเช่าซื้อ เช่น บ้านประชารัฐ บ้านเอื้ออาทร ที่ปรับระบบการบริหารจัดการใหม่ เป็นต้น

จะครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ประมาณ 6,500 ชุมชน 700,000 กว่าครัวเรือน ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพการทำงานของรัฐบาลได้ชัดเจนขึ้น ผมขอยกตัวอย่างโครงการต่างๆ นะครับ ที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว สำหรับพี่น้องประชาชนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้...

กลุ่มแรก คือ โครงการที่อยู่อาศัย สำหรับผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง ได้แก่
(1) บ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าว ยาวเกือบ 32 กิโลเมตร โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการปลูกสร้างบ้านเรือนโดยไม่ได้รับสิทธิการเช่าที่ดินจากทางการอย่างถูกต้อง และบ้านเรือนทรุดโทรมเพราะปลูกสร้างในน้ำ

ซึ่งโครงการบ้านประชารัฐ ได้ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐกับพี่น้องประชาชน ในการย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อน แล้วรวมตัวกันเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี เมื่อครบ 30 ปีแล้ว ก็สามารถทำสัญญาต่อได้คราวละ 30 ปี ค่าเช่าก็ไม่แพง ปีละไม่กี่ร้อยบาท หรือเดือนละ 50 ถึง 100 บาทต่อครัวเรือน เท่านั้น

รวมถึงมีการให้สินเชื่อเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบสหกรณ์ ครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท ผ่อนชำระ 15 ปี ซึ่งโครงการนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีสถานที่พักผ่อนในชุมชน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องชุมชนริมคลอง ส่งเสริมการฝึกอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้านรวมทั้งมอบทุนการประกอบอาชีพในหลายชุมชน

ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 29 ชุมชน 2,600 กว่าครัวเรือน ซึ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จ ทั้งสิ้น 1,190 ครัวเรือน อีก 1,200 กว่าครัวเรือน อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องในชุมชนริมคลองเท่านั้น แต่จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้อีกด้วยนะครับ
(2) โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงจากพื้นที่อาคารแฟลตดินแดงเดิมที่ทรุดโทรม และไม่ปลอดภัยแก่การอยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน ที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะดำเนินการปรับปรุงมาต่อเนื่องนานถึง 16 ปี

รัฐบาลนี้ได้เข้ามาสานต่อเพื่อเร่งแก้ไข ปรับเปลี่ยนเพิ่มคุณภาพชีวิต และยกระดับการอยู่อาศัยของคนในพื้นที่ ให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยขับเคลื่อนและให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และความจำเป็นการฟื้นฟูชุมชนดินแดง

จนในที่สุดก็สามารถทยอยเริ่มดำเนินการได้ช่วงปลายปี 2559 ซึ่งหากโครงการเสร็จสิ้น จะสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ได้ทั้งหมด 20,000 กว่าหน่วย แยกเป็นการรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ประมาณ 6,500 หน่วย ซึ่งการก่อสร้างในระยะแรก คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในเดือนมิถุนายนนี้

สำหรับการรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ ที่เป็นข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ประมาณ 13,000 หน่วย อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนกับเอกชน

โครงการนี้ นอกจากจะทำให้ประชาชนในชุมชนมีความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการสร้างทัศนียภาพเมืองให้น่าอยู่ เพิ่มพื้นที่นันทนาการ สวนสาธารณะ อีกทั้ง ยังจัดพื้นที่ร้านค้าชุมชน เพื่อจะสร้างโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีรายได้มีสุขภาพที่ดี ทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย เศรษฐกิจ สังคมและ สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

และ (3) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในเมืองที่ไร้บ้าน เพื่อฟื้นฟูศักยภาพบุคคล และช่วยเหลือให้คนไร้บ้าน กลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และสังคม มีการดำรงชีวิตประจำวันดีขึ้น

ได้มีการสร้างศูนย์คนไร้บ้าน เพื่อดำเนินกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร โดยในปี 2560 มีการก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ สามารถรองรับกลุ่มคนไร้บ้าน 80 ราย

ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็มีการปรับปรุงศูนย์แรกรับคนไร้บ้าน เขตตลิ่งชัน รองรับกลุ่มคนไร้บ้าน 50 ราย และในปี 2561 ดำเนินการจัดซื้อที่ดินพร้อมอาคารในพื้นที่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี รองรับกลุ่มเป้าหมาย 120 ราย พื้นที่ จ.ขอนแก่น กำลังดำเนินการจัดซื้อที่ดินและออกแบบศูนย์ร่วมกันระหว่างเครือข่ายคนไร้บ้าน นักวิชาการ และภาคีในพื้นที่ เพื่อจะรองรับกลุ่มเป้าหมายอีก 125 ราย นะครับ ก็คงต้องทำต่อไปนะครับ จำนวนเรามีมากพอสมควร

สำหรับโครงการในกลุ่มที่สอง เป็นโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนยากจน ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มผู้เปราะบาง ผมขอยกตัวอย่าง ได้แก่

(1) โครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการเพื่อขจัดอุปสรรค และสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิต และปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ โดยพิจารณาคนพิการที่มีฐานะยากจน มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่มีคนดูแล ไม่ปลอดภัย หรือ ไม่เหมาะกับสภาพความพิการ โดยจะมีการปรับสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต

เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ บันได ทางเดิน ห้องนอน และอื่นๆ ตามความจำเป็น มีเป้าหมายในการดำเนินการ จำนวน 132,700 หลัง นอกจากนี้ ผมได้สั่งการให้ทุกโครงการเพื่อสาธารณะ จะต้องสอดคล้องกับแนวทาง “อารยสถาปัตย์” แม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่เราจะต้องลดความเหลื่อมล้ำ “ทางกายภาพ” ให้ได้เสียตั้งแต่วันนี้นะครับ

และ (2) โครงการเสริมสร้างชีวิตใหม่ให้คนไร้ที่พึ่ง เร่ร่อน และผู้ทำการขอทานภายใต้โครงการบ้านน้อยในนิคมสร้างตนเอง โดยที่รองรับกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูศักยภาพ ตามธัญบุรีโมเดล จำนวน 347 หลังในพื้นที่นิคมสร้างตนเอง 23 แห่ง ใน 17 จังหวัดพร้อมทั้ง พัฒนาศักยภาพด้านอาชีพ และ ทักษะการใช้ชีวิตอิสระ

เพื่อให้พร้อมในการกลับคืนสู่ครอบครัว และชุมชน ปัจจุบัน มีผู้เข้าสู่กระบวน การพัฒนา 224 ราย ส่งกลับบ้านแล้ว ในปีงบประมาณ 2561 ทั้งหมด 10 รายและยังมีผู้เข้าร่วมโครงการ 202 ราย อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ เช่น การทำงานในสถานประกอบการ การจ้างงานตามบ้าน และพื้นที่การเกษตร

ในกลุ่มที่ 3 เป็นการบูรณาการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ให้กับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และที่อยู่อาศัยในชนบท ผมขอตัวอย่าง ดังนี้

(1) โครงการบ้านมั่นคงชนบทในพื้นที่ สปก.ที่ดำเนินการใน 7 จังหวัด 10 โครงการ จำนวน 982 ครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 497 ครัวเรือน เช่น โครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ สปก. จังหวัดอุทัยธานี ที่มีการจัดสรรที่ดิน 3,000 กว่าไร่ ให้เกษตรกรเกือบ 500 แปลง ครอบครัวละประมาณ 5 ไร่

ซึ่งภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างบ้าน หลังละ 40,000 บาท และ เจ้าของบ้านสมทบส่วนที่เหลือ โดยการก่อสร้างบ้านจะใช้วิธีการลงแรงร่วมกัน เพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งครัวเรือนจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้ทานเอง

ส่วนในแปลงเกษตรจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพหลัก และเป็นเกษตรผสมผสานเป็นต้น ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ดี นะครับ ของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ระดับฐานราก ด้วยการทำงานอย่างบูรณาการกันของภาครัฐ

สิ่งสำคัญ ก็คือ “พลังของประชาชน” ในแต่พื้นที่ รวมทั้ง “การระเบิดจากข้างใน” ตามศาสตร์พระราชา ครับ
(2) โครงการบ้านพอเพียงในชนบท เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในพื้นที่ชนบทที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ดิน และที่อยู่อาศัย รวมทั้งพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ และ ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย โดยในปี 2560 ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 10,000 ครัวเรือน

ส่วนในปี 2561 มีเป้าหมายจำนวน 15,000 ครัวเรือน แต่ดำเนินการได้มากกว่าเป้าหมายนะครับ ที่ 16,000 กว่า ครัวเรือน ซ่อมสร้างเสร็จแล้ว 4,000 กว่า ครัวเรือน งบประมาณรวมราว 340 ล้านบาท

โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณซ่อมแซม หรือสร้างบ้านใหม่ โดยใช้วัสดุเก่าที่มีอยู่บางส่วน ครัวเรือนละ ไม่เกิน 18,000 บาท ส่วนที่เกินเจ้าของบ้าน หรือชุมชนอาจต้องร่วมสมทบนะครับ โดยใช้แรงงานในชุมชนร่วมกัน “ลงแขก” สร้างความสามัคคีในชุมชนของตน

ในบางตำบลก็ร่วมกันก่อตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นกองทุนนำไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปอีกด้วย นอกจากโครงการที่ผมยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างแล้วนั้นนะครับ ยังมีอีกหลายโครงการ ที่ภาครัฐดำเนินการโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

ก็คือสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนในทุกกลุ่ม มีโอกาสได้ปรับปรุงที่อยู่อาศัย และ ยกระดับการดำรงชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ หรือการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรยากจน และด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นความคืบหน้าการดำเนินงานและ แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังของภาครัฐ ซึ่งจะเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่ดีนะครับ ให้กับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย และ ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ในการลดความเหลื่อมล้ำ และ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ยกระดับความเป็นอยู่ และ สร้างภาวะแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลานของเราต่อไปด้วยนะครับ"