อุตฯ ลุยเวียดนาม! ศึกษาพัฒนาอุตสาหกรรม - การลงทุนของนักธุรกิจไทย

08 มิ.ย. 2561 | 13:18 น.
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเดินทางมายังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 8-10 มิ.ย. 2561 เพื่อมาศึกษาดูงานความก้าวหน้าและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม การลงทุนของนักธุรกิจไทยในเวียดนาม

ประเทศเวียดนามถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยมายาวนาน และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยจากข้อมูลของสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เวียดนามประมาณ 563,251 ล้านบาท (ส่งออก 393,000 ล้านบาท นำเข้า 170,251 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 20 เป็นอันดับ 5 รองจาก จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และมาเลเซีย โดยมีสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) น้ำมันสำเร็จรูป (2) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (3) รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (4) เม็ดพลาสติก และ (5) เคมีภัณฑ์ และสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าเป็นมูลค่าสูงสุด ได้แก่  (1) เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (2) น้ำมันดิบ (3) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (4) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ และ (5) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

 

[caption id="attachment_288365" align="aligncenter" width="333"] สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมชาย หาญหิรัญ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

โดยเวียดนามถือว่า เป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ในปีที่ผ่านมาเวียดนามเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศจีนและประเทศอินเดีย มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 240,000 ล้านบาท ซึ่ง ซี.พี.เวียดนาม (C.P. Vietnam Corporation) ถือเป็นหนึ่งในบริษัทสัญชาติไทยที่มีโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำในเวียดนาม จำนวน 2 โรงงาน ใช้เทคโนโลยีการผลิตอาหารที่ทันสมัยและปลอดภัย ในแต่ละปีบริษัท ซี.พี.เวียดนาม ได้แปรรูปอาหารทะเลและส่งออก ปริมาณ 20,000 ตัน ไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย ฮ่องกง จีน และยุโรป เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบให้ได้ถึง 25-30 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2563 ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพลังงานชาติ ซึ่งบริษัท SCG ได้เข้าไปถือหุ้นในโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเวียดนาม (Long Son Petrochemicals Company Limited :LSP) มูลค่าการลงทุน 173,000 ล้านบาท โดยโครงการตั้งอยู่เมืองบาเหรี่ยะ-หวงเต่า อยู่ห่างจากเมืองโฮจิมินห์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 100 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565  นอกจากที่บริษัท SCG ได้เข้าไปถือหุ้นในโครงการปิโตรเคมีของเวียดนามแล้ว ยังมีบริษัทในเครือ อาทิ บริษัท TPC VINA Plastic & Chemical ที่ดำเนินธุรกิจผลิตในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ พลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ ตามโครงการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามด้วย


apptp8-3169-a

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการไทยหลายรายที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ , ไทยวา (ผลิตแป้งมันสำปะหลัง) , กระทิงแดง , เครือเบทาโกร , บริษัท ThaiBev , ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ , เครือซีเมนต์ไทย (SCG) , บริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท แพรนด้า  จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) , บริษัท One ASEAN Development , บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้กลุ่มอมตะของไทย (Amata VN PCL) กับบริษัท ต่วน โจว ของเวียดนาม ได้มีการร่วมลงทุนเพื่อก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ฮาลอง จ.ไฮฟอง ทางตอนเหนือของกรุงฮานอย บนพื้นที่กว่า 4 พันไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมทั่วไปและกลุ่มไฮเทค และอมตะยังมีโครงการพัฒนา อีก 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการอมตะ ซิตี้ ฮาลอง เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ในตลาดจีนและทั่วโลก และโครงการอมตะ ซิตี้ ลองถั่น เพื่อพัฒนาพื้นที่และเปิดขายพื้นที่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค และออโตเมติก เป็นต้น

นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับนักลงทุนไทยเพื่อเข้าสู่ตลาดเวียดนาม คือ การเตรียมกำลังการผลิตให้เพียงพอ สามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดได้ หรือ ปรับสินค้าให้สอดคล้องกับรสนิยมของชาวเวียดนาม หากวางแผนตั้งโรงงานผลิตควรพิจารณาเรื่องวัตถุดิบ แรงงาน พื้นที่ตั้ง และระบบสาธารณูปโภคของโรงงาน รวมถึงการวางแผนการตลาด การส่งเสริมการขายร่วมกับผู้กระจายสินค้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผู้บริโภคเวียดนามให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการขายแบบได้รับทันทีที่จุดขาย และเมื่อเข้าสู่ตลาดควรจดทะเบียนการค้า เพื่อป้องกันสินค้าลอกเลียนแบบ

 

[caption id="attachment_288370" align="aligncenter" width="503"] ©rawpixel.com ©rawpixel.com[/caption]

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปดูต้นแบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่เมืองมุยเน่ จ.ฟานเทียด ที่ถือว่าเป็นเมืองที่สามารถดึงจุดเด่นของจังหวัดมาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งการศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะนำรูปแบบการพัฒนาเมือง และการประชาสัมพันธ์จุดเด่นการท่องเที่ยว มาปรับใช้กับโครงการอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ (CIV) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเดินหน้าพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป้าหมายการพัฒนาในปีนี้ มีจำนวน 158 ชุมชน ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ แยกเป็นการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว 20 ชุมชน ภายใต้งบประมาณ 22.61 ล้านบาท โดยเป็นการประชาสัมพันธ์จัดแสดงผลงานของแต่ละชุมชน เพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักผ่านช่องทางต่าง ๆ และยกระดับอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยว (CIV 4.0) จำนวน 138 ชุมชน

ด้าน นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวทางพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งการมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะนำข้อมูลที่ได้ไปบูรณาการในการพัฒนา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ที่ไทยมีเป้าหมายจะเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลแปรรูปอันดับต้นของโลกเหมือนอย่างเช่นเวียดนาม และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งเวียดนามได้สนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลาย ที่เป็นส่วนที่เหลือจากการผลิตเชื้อเพลิง นับว่าสามารถนำแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรม มาใช้กับพัฒนาเคมีชีวภาพของไทยได้


EEc26

ที่ผ่านมา ไทยกับเวียดนาม ได้มีความร่วมมือด้านวิชาการ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มีกิจกรรมฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2558-2562) ในหัวข้อ The Third Country Training Program on Skill Development for Material Processing for Mekong Countries และความร่วมมือด้านข้อมูลสารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) พัฒนาหลักสูตร Introduction to Industrial Production Indices for Mekong Countries เพื่อยกระดับดัชนีอุตสาหกรรมเชื่อมโยงข้อมูลกับกลุ่มประเทศ CLMV ในการจัดทำดัชนีภาคอุตสาหกรรม เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูล กระบวนการ และวิธีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นมาตรฐาน ตลอดจนยกระดับข้อมูลดัชนีอุตสาหกรรมไปสู่ระดับสากล ซึ่งถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและผลักดันการค้าของทั้งสองประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่ 660,000 ล้านบาท ในปี 2563 ตามมติคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee :JTC)


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เอสซีจี เดินหน้าโครงการปิโตรเคมีครบวงจรรายแรกในเวียดนาม
ไทยส่ง "ข้าว กข21" แก้เกมเวียดนาม ชิงคืนตลาดจีน


e-book-1-503x62-7