แห่ช็อปฟุ่มเฟือยพุ่ง! 4 เดือน นำเข้า 2 แสนล้าน

08 มิ.ย. 2561 | 12:27 น.
080661-1904 1229

คนไทยยังอู้ฟู่! สวนทางเศรษฐกิจฐานรากฟุบ ยอดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 4 เดือนแรก โต 1.97 แสนล้าน ... เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง ยอดกระฉูด! ... สรท. - พาณิชย์ ชี้! ผลพวงแห่ช็อปออนไลน์ บาทแข็งอื้อ ... ดิวตี้ฟรี-ห้าง เร่งนำเข้ารับท่องเที่ยวบูม

จากการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ถึงการนำเข้ากลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย 8 รายการ ช่วง 4 เดือนแรก ปี 2561 พบมีการนำเข้ามูลค่ารวม 197,332.19 ล้านบาท ขยายตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่นำเข้า 197,805.55 ล้านบาท หรือลดลง 0.2%


apptp5-3180-a

ประกอบด้วย สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน มีมูลค่านำเข้า 75,028 ล้านบาท ลดลง 12.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน , ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม 38,769.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.9% , ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ 24,099 ล้านบาท ลดลง 10.3% , เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ 21,837.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12/8% , สบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง (รวมน้ำหอม) 15,935.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.1% , เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค 9,616.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.5% , นาฬิกาและส่วนประกอบ 8,135.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% , กระเป๋าถือและกระเป๋าอื่น ๆ 3,909.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3%


GP-3372_180608_0013

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของไทยที่ยังมีมูลค่าและอัตราการขยายตัวสูง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ สินค้าสบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง (รวมน้ำหอม) และสินค้า นาฬิกา และส่วนประกอบ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ชื่อดังจากทั่วโลก ผลพวงจากเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าในราคาที่ถูกลง และผลจากการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ขยายตัว

"นอกจากนี้ มองว่า อาจเป็นสัญญาณของการฟื้นตัวของกำลังการบริโภคในประเทศ และในส่วนของสินค้าแฟชั่นอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนฤดูของแฟชั่น ทำให้มีเทรนด์ใหม่ ๆ ในการนำสินค้าเข้ามา ส่วนสินค้าผัก ผลไม้ ที่นำเข้าลดลงช่วงนี้ น่าเป็นผลจากในฤดูร้อนช่วงต้นปีมีผลผลิตทางการเกษตรภายในของไทยออกมามาก"


MP36-3301-A

อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยคงมีการนำเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตอาจมีการนำเข้ามาเพิ่มขึ้น จากกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเหลือ 5% เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

สอดคล้องกับ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ที่กล่าวว่า การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการในดิวตี้ฟรีและในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ การนำเข้าผ่านการช็อปออนไลน์ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผลจากการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับหลายประเทศ ทำให้อัตราภาษีนำเข้าต่ำ หรือเป็น 0% จูงใจนำเข้า อย่างไรก็ดี เรื่องการค้าออนไลน์ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ส่งผลดีกับสินค้าไทย เช่น ทำให้ไทยส่งออกผลไม้ได้มากขึ้น เกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประโยชน์

 

[caption id="attachment_288343" align="aligncenter" width="266"] เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เกศมณี เลิศกิจจา
นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย[/caption]

ด้าน นางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวว่า การนำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่มีความตกลงเอฟทีเอกับไทย ซึ่งภาษีนำเข้าได้ลดเป็น 0% แล้ว (ปี 2560 ไทยมีการนำเข้าเครื่องสำอาง 38,492 ล้านบาท ในจำนวนนี้ นำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ 5,294 , 4,109 และ 3,901 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19 , 13 และ 14% ตามลำดับ) และอีกส่วนหนึ่งจากผู้ประกอบการไทยไปจ้างโรงงานในเกาหลีใต้และไต้หวันผลิตสินค้าและส่งเข้ามาจำหน่ายในไทย จากกฎระเบียบการนำเข้าไม่ยุ่งยากเหมือนสินค้าที่ผลิตในประเทศ และบรรจุภัณฑ์สวยงามกว่า

"เครื่องสำอางไทยมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ ปีที่ผ่านมา ส่งออกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยสัดส่วน 42-43% ส่งไปตลาดอาเซียน ซึ่งยอดก็เพิ่มขึ้นทุกปี เราไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลจะลดภาษีเครื่องสำอางลงเป็น 0% เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เพราะจะกระทบผู้ประกอบการภายใน"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,372 วันที่ 7-9 มิ.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'วีระศักดิ์' เตรียมฟื้นเศรษฐกิจ 'จตุจักร' แหล่งช้อปของคนไทย-เทศ
'กรุงศรีเจซีบีแพลทินัม' ... "กิน ช็อป เที่ยว" บัตรเดียวในญี่ปุ่น


e-book-1-503x62-7