อีอีซีฟื้นซินดิเคตโลน! 'ออมสิน' มั่นใจ 1 เดือน ระดมเงินได้ 2 แสนล้าน

10 มิ.ย. 2561 | 13:07 น.
100661-1935 app30504269_s

'ออมสิน' ลั่น! พร้อมปล่อยกู้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ เหตุมีเงินฝากที่สูงถึง 2.26 ล้านล้านบาท พร้อมระดมทุนได้ 1-2 แสนล้านบาท ใน 1 เดือน แต่จะเป็นซินดิเคตโลน ... 'ทีเอ็มบี' มองครึ่งปีหลัง ความต้องการสินเชื่อรายใหญ่สูงขึ้น จากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและลงทุนในอีอีซี หลังกฎหมายผ่าน


 

[caption id="attachment_288310" align="aligncenter" width="335"] ชาติชาย2 ชาติชาย พยุหนาวีชัย[/caption]

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารต้องการที่จะเข้าไปปล่อยกู้ให้กับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล อย่าง รถไฟความเร็วสูง 3 ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากมีความพร้อมที่มีฐานเงินฝากถึง 2.26 ล้านล้านบาท มากที่สุดในระบบเช่นกัน จึงเชื่อว่า ผู้ประกอบการจะต้องมาหาออมสินแน่นอน แต่อาจจะเป็นลักษณะการปล่อยกู้ร่วมซินดิเคตโลน หรืออาจจะเป็นหุ้นกู้ หรือตราสารทางการเงินอื่น ๆ ก็ได้ขึ้นกับความต้องการของผู้ประกอบการด้วย

"เราสนใจและมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือกับโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ หรือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐอยู่แล้ว เพราะมีสภาพคล่องอยู่ที่ 3-4 แสนล้านบาท และยังขยายเงินฝากได้อย่างต่อเนื่อง หากมีความต้องการโดยสามารถระดมทุนได้ 1-2 แสนล้านบาท ภายใน 1 เดือน ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่า เงินจะไม่พอเพียง แต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดติดต่อเข้ามา อาจจะเพราะเป็นช่วงเริ่มต้นเพิ่งเปิดทีโออาร์ ดังนั้น หากมีโครงการเข้ามาก็ระดมได้ทันที ตามสัดส่วนเงินกู้ เพราะที่ผ่านมา ออมสินเองให้รัฐบาลกู้ผ่านซอฟต์โลนไปแล้ว 1.8 แสนล้านบาท"


MP24-3373-A

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังจะเห็นความต้องการสินเชื่อชัดขึ้น โดยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่น่าจะสดใสขึ้น นอกจากทิศทางเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นแล้ว โครงการภาครัฐเริ่มเข้าสู่กระบวนการเปิดขายซองสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมีผลเชิงบวกต่อความต้องการเงินกู้ร่วม หรือ ซินดิเคตโลน ขณะที่ พ.ร.บ.โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีผลบังคับแล้วจะเพิ่มความคึกคักในพื้นที่อีอีซี แต่ในแง่ของเม็ดเงินสินเชื่อส่วนใหญ่มักจะมากับนักลงทุนต่างประเทศ หรือ สถาบันการเงินต่างประเทศมากกว่าสถาบันการเงินในไทย

"ความต้องการสินเชื่อขนาดใหญ่ อาจจะเป็นลักษณะวงเงินกู้ระยะสั้น ประเภท Bridge Loan จากนั้นอาจจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น อย่างการออกตราสารหนี้ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์แทน ขณะเดียวกัน ยังมีความต้องการวงเงินกู้ในโครงการลงทุนขนาดกลาง ทั้งกลุ่มธุรกิจก่อสร้างหรือรับเหมาขนาดกลาง"


Bridge-Loan-Financing-1024x512

อย่างไรก็ตาม ในตลาดซินดิเคตโลน รายได้ดอกเบี้ยจะต่ำ โดยอิงจากดอกเบี้ยนโยบายบวกนิด ๆ แบงก์จะมองผลตอบแทนด้านอื่น ๆ แทน เช่น ค่าค้ำประกัน ค่า FX หรือค่า Swap และต้นทุนสำรองหนี้โครงการใหญ่สูง ทำให้สถาบันการเงินต้องการปล่อยกู้ร่วม เพื่อกระจายความเสี่ยง บวกกับ IFRS9 ใช้บังคับ ถ้าตกชั้นเป็นหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษจะยิ่งมีภาระกันสำรองตลอดอายุสัญญา

ด้าน นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า สินเชื่อซินดิเคตมีแนวโน้มเปลี่ยนรูปแบบไปจากอดีต ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศไทยที่มีกว่า 10 ราย จึงสามารถติดต่อธนาคารพันธมิตรเข้ามาเป็นแหล่งเงินทุน ดังนั้น ระยะหลังผู้ประกอบการจะเป็นฝ่ายเจรจาและทาบทามโดยตรงกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งจนพอใจ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่มีอำนาจต่อรองและเป็นผู้กำหนดราคาหรืออัตราดอกเบี้ย


Bank-PNG-File-1

"ซินดิเคตโลนปีนี้ ขึ้นอยู่ที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และโครงการภาครัฐที่จะเปิดประมูลในครึ่งปีหลัง แต่ที่ผ่านมา โครงการลงทุนของภาครัฐอาจจะออกมาล่าช้ากว่าตลาดคาดหวังไว้ ประกอบกับลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เขามีความแข็งแรง จึงสามารถทำดีลกับแบงก์ทีละราย ซึ่งรูปแบบไปจากอดีตที่แบงก์จะมีทีมงานเข้าไปติดต่อและเสนอบริการกับลูกค้า ดังนั้น การอำนวยสินเชื่อซินดิเคตในส่วนของแบงก์ต้องปรับตัว หรือ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ตรงความต้องการของลูกค้า"

นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Corporate Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปีนี้ยังเป็นโอกาสปล่อยสินเชื่อซินดิเคต ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเปิดขายเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ในเดือนนี้ วงเงินสินเชื่อไม่น้อยกว่า 1.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธนาคารเป็น 1 ใน 3 ที่ร่วมปล่อยสินเชื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง ซึ่งอยู่ระหว่างเบิกจ่ายวงเงินกำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 และยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการแบตเตอรี่ มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ภายใต้แผนลงทุนของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ซึ่งเป็นลูกค้าของไทยพาณิชย์อยู่แล้ว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,373 วันที่ 10-13 มิ.ย. 2561 หน้า 24+23

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
● ฐานโซไซตี : นายกฯโรดโชว์ยุโรป ชักชวนฝรั่งลงทุนอีอีซี
'บิ๊กตู่' ชวนกรีซ ร่วมมือพัฒนาท่าเรือ ดึงลงทุน 'อีอีซี'


e-book-1-503x62