พลิกสังเวียนการแข่งขัน 2 บิ๊กชาติเอเชียเซ็น MOU ร่วมหนุนเอกชนบุกต่างแดน

08 มิ.ย. 2561 | 09:13 น.
 

623562 นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏ การณ์ทางประวัติ ศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร เรากำลังพูดถึงความร่วมมือระหว่าง “จีน” และ “ญี่ปุ่น” 2 ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชีย ที่เพิ่งลงนามในเอกสารสำคัญกันไปเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่หลายฝ่ายเชื่อว่ากำลังจะเปลี่ยนโฉมการแข่งขันประมูลงานโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ไปอย่างสิ้นเชิง

จากภาพเดิมของการแข่งขันที่จีนและญี่ปุ่นบดเบียดกันอย่างสูสีเพื่อช่วงชิงชัยชนะในทุกๆโครงการประมูลสำคัญของภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงที่ทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และเป็นโครงการระดับยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างในหลายประเทศของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรืออินเดีย

แต่นับจากนี้ไป เราจะได้เห็น “ปรากฏการณ์ใหม่” ที่เอกชนจีนและญี่ปุ่นจับมือกันมาร่วมประมูลงานในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐของทั้ง  2 ฝ่าย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงนามใน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอกชนของญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่สาม (MOU on Japan-China Private Economic Cooperation in the Third Countries) ที่เพิ่งลงนามกันไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน(เมติ) ของญี่ปุ่น กับคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติ (NDRC)และกระทรวงพาณิชย์ของจีน
1528445268212 การลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนนำคณะเดินทางเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-11 พฤษภาคม 2561 เป็นการเดินทางเยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกและครั้งประวัติศาสตร์ของนายหลี่นับตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2556 และเป็นการเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกของผู้นำจีนในรอบ 8 ปี เพราะก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันดีว่า เส้นทางความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นนั้น เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างจะขรุขระเต็มไปด้วยขวากหนามทั้งที่เกิดจากร่องรอยแผลในประวัติศาสตร์และปัญหาที่ยังเป็นความยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กรณีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลญี่ปุ่นที่ลามปามไปถึงการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นและธุรกิจการค้าของญี่ปุ่นในประเทศจีน เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นซื้อเกาะ“เซ็นกากุ” ที่จีนเองประกาศเป็นของจีนเช่นกันและมีชื่อเรียกภาษาจีนว่าเกาะ “เตียวหยู” มาเป็นของรัฐเมื่อหลายปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบริบทในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพันธมิตรในโลกตะวันตกของญี่ปุ่นอย่างสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ทำให้สัมพันธภาพที่มีกับมิตรประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญในเอเชียอย่างญี่ปุ่นกระพร่องกะแพร่งไปมาก สะท้อนจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯเมื่อเร็วๆ นี้ ที่สหรัฐฯยกเว้นให้หลายประเทศ แต่ญี่ปุ่นกลับไม่ได้รับการยกเว้นนั้น

อีกทั้งล่าสุดกรณี การที่ผู้นำสหรัฐฯออกคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ศึกษาว่าการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศนั้นมีผลคุกคามความมั่นคงภายในประเทศของสหรัฐฯหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่ความวิตกกังวลว่าสหรัฐฯอาจจะตั้งกำแพงภาษีรถยนต์นำเข้าอีกในอนาคตอันใกล้ และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นอีกเช่นกันที่จะได้รับผลกระทบหนัก บรรยากาศที่ไม่สดใสและคาดเดาได้ยาก (อันเป็นผลจากสไตล์การทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์) นับเป็นอีกปัจจัยผลักดันให้ญี่ปุ่นหันหาความร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนมากยิ่งขึ้น โดยนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุชัดเจนในงานเลี้ยงรับรองนายหลี่ เค่อเฉียงเมื่อเร็วๆนี้ว่า “ทั้ง 2 ประเทศจะได้รับผลประโยชน์จากการร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขันกัน เองเพื่อช่วงชิงโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ”
56596 ซึ่งเมื่อญี่ปุ่นเปิดประตูต้อนรับขนาดนี้แล้ว ผู้นำจีนก็ไม่รีรอที่จะสนอง โดยการเชิญชวนให้บริษัทเอกชนญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมยุคใหม่หรือ Belt and Road Initiatives (BRI)ในทันที ซึ่งฝ่ายจีนมองว่า ญี่ปุ่นสามารถเข้ามาเติมเต็มด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้จีนยังต้องการเพิ่มความร่วมมือทางด้านการเงินกับญี่ปุ่น และสนับสนุนให้ภาคเอกชนของทั้ง 2 ฝ่ายมีพลังในการบุกประมูลงานในต่างแดนมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็หมายถึงโอกาสที่จะชนะการแข่งขันมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

พลังความร่วมมือที่ถูกจุดประกายขึ้นแล้วระหว่างจีนและญี่ปุ่นกำลังจะส่งผลต่อโครงการลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ จากการศึกษาของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ชี้ว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความต้องการเม็ดเงินลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานประมาณปีละ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 54.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนมหาศาลที่ต้องการเม็ดเงินสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน การลงนามในเอ็มโอยูข้างต้นนับเป็นใบเบิกทางสู่การผนึกขุมพลังของจีนและญี่ปุ่นทั้งด้านการเงิน เทคโนโลยี และบุคลากรที่จะสนับสนุนความสำเร็จของโครงการ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลากหลายโครงการด้วยเช่นกัน
Shinzo Abe,Li Keqiang โดยในงานสัมมนาว่าด้วยความร่วมมือจีน-ญี่ปุ่นในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (China-Japan Cooperation on the Eastern Economic Corridor of Thailand) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับสถานทูตจีนและสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าจีนและญี่ปุ่นมองเห็นร่วมกันถึงศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นจุดศูนย์กลางของความเติบโตและโครงการพัฒนาด้านต่างๆในภูมิภาค ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงให้จีนและญี่ปุ่นได้เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการที่จะสามารถเชื่อมโยงประโยชน์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย (CLMV) กลุ่มประชาคมอาเซียน และทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียอีกด้วย จึงได้จัดเวทีสัมมนาสะท้อนมุมมองของผู้แทนภาครัฐและเอกชนทั้งจากฝั่งจีนและญี่ปุ่นที่มีต่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)ของไทย

“เจตนารมณ์ของบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในประเทศที่ 3 จะช่วยส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าในการพัฒนาเอเชียอย่างมหาศาล ประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือดังกล่าว และเชื่อมั่นว่าที่โครงการอีอีซีของไทยจะเป็นส่วนสำคัญในการนำความร่วมมือดังกล่าวสู่การลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม” เลขาธิการอีอีซี กล่าวทิ้งท้าย

|รายงาน : พลิกสังเวียนการแข่งขัน 2 บิ๊กชาติเอเชียเซ็น MOU ร่วมหนุนเอกชนบุกต่างแดน
|เชกชั่น : เศรษฐกิจต่างประเทศ
|หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3371 ระหว่างวันที่ 3-6 มิ.ย.2561
e-book-1-503x62-7