บอลโลก2018คึกคาดคอบอลรอชม10.96 ล้านคนดันซื้อสินค้า6.6พันล้าน

08 มิ.ย. 2561 | 05:58 น.
กีฬาฟุตบอลโลก 2018 : คาดแฟนบอลติดตาม 10.96 ล้านคน...อานิสงส์สู่สินค้าอุปโภคและบริโภคประมาณ 6,685 ล้านบาท

มหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกเป็นหนึ่งในกีฬาที่คนไทยส่วนหนึ่งให้ความสนใจในการรับชม โดย "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ประเมินว่า การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ น่าจะมีผู้รับชมในไทยประมาณ 10.96 ล้านคน ซึ่งคึกคักจากครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยหนุน อาทิ การถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีดิจิทัลทั้ง 64 นัด ช่วงระยะเวลาของการแข่งขันที่เอื้อต่อการรับชมของคนไทย และทีมที่เข้าแข่งขันในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศรัสเซีย มีฐานแฟนบอลเป็นคนไทยจำนวนมาก

kbk-lo

การแข่งขันฟุตบอลโลก เป็นช่วงหนึ่งที่จะเกิดกิจกรรมการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติ เนื่องจากแฟนฟุตบอลบางกลุ่มจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในระหว่างการชมการแข่งขันฟุตบอล อาทิ การเดินทางไปรับชมการแข่งขันตามร้านอาหารหรือลานกิจกรรมที่มีการจัดงาน การซื้ออาหารและเครื่องดื่มมาบริโภคระหว่างการรับชม หรือการใช้จ่ายในเสื้อทีมฟุตบอลที่ชื่นชอบ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมและเชียร์ฟุตบอล เป็นต้น และเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะใช้โอกาสนี้ในการจัดกิจกรรมการตลาดกันอย่างเข้มข้น

ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จัดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินไปยังธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น เป็นมูลค่าประมาณ 6,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภคที่เกี่ยวเนื่อง

มหกรรมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลก ที่จัดขึ้นที่ประเทศรัสเซียระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2561 โดยการแข่งขันในครั้งนี้ทางประเทศไทยได้มีการถ่ายทอดสดผ่านช่องฟรีทีวีดิจิทัล เพื่อให้คนไทยได้รับชมทั้ง 64 นัด ซึ่งการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลกเป็นหนึ่งเกมการแข่งขันที่คนไทยส่วนหนึ่งให้ความสำคัญในการติดตามรับชม ซึ่งในช่วงเวลาก่อนและระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นจังหวะที่ภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงและทางอ้อมกับกีฬาฟุตบอลจะใช้โอกาสนี้ในการทำตลาด เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์สินค้าและกระตุ้นยอดขายเช่นกัน
kasi สำหรับสินค้าและธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากกีฬาฟุตบอลโลก อาทิ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจฟาสต์ฟู้ดเดลิเวอรี่ อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้าและรองเท้า เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจที่ไม่ได้รับแรงหนุนจากมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกโดยตรง ก็จะใช้จังหวะนี้ในการโปรโมทสินค้า จัดกิจกรรมการส่งเสริมการขาย เช่น การจัดให้มีการทายผลฟุตบอลโลก เพื่อชิงรางวัล และแจกของสมนาคุณ เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำผลสำรวจพฤติกรรมการรับชมและการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงที่รับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนเม็ดเงินจากการรับชมกีฬาฟุตบอลโลกกระจายตัวสู่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สำหรับผลจากการสำรวจสามารถสรุปได้ดังนี้

*การรับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2561 คาดจะสามารถดึงดูดผู้ชมได้ 10.96 ล้านคน

kasi1

สำหรับบรรยากาศรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลกในปี 2561 นี้ คาดว่าจะมีความคึกคักกว่าในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมาจากปัจจัยหนุนที่แตกต่างจากการถ่ายทอดฟุตบอลโลกในครั้งที่ผ่านมา อาทิ การถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีดิจิทัลที่ทำให้ผู้ชมสามารถรับชมได้เป็นจำนวนมาก ช่วงระยะเวลาของการแข่งขันที่เอื้อต่อการรับชมของคนไทย ซึ่งโดยปกติการแข่งขันในคู่แรกจะเริ่มถ่ายทอดสดประมาณ 19.00 น. และคู่สุดท้ายของวันจะเริ่มถ่ายทอดสดประมาณ 01.00 น. และทีมที่เข้าแข่งขันในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศรัสเซีย มีฐานแฟนบอลเป็นคนไทยจำนวนมาก เช่น อังกฤษ เยอรมัน บราซิล และอาร์เจนตินา เป็นต้น นอกจากนี้ บรรยากาศภายในประเทศปีนี้ ที่แตกต่างจากเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากผลสำรวจการรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลกในปี 2561 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกน่าจะมีผู้รับชมในไทยประมาณ 10.96 ล้านคน โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่ชมการแข่งขันทุกคู่คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 38.9 ขณะที่ชมบางคู่คิดเป็นประมาณร้อยละ 61.1 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

จากรายงานผลการรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ผ่านเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ (นับผู้ที่ชมการถ่ายทอดการแข่งขันติดต่อกัน 20 นาที ขึ้นไป) ของฟีฟ่า (FIFA) พบว่า ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2557 (2014) ที่ประเทศบราซิล คู่สำคัญที่คนไทยรับชมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมากที่สุดมีผู้ชมประมาณ 3.8 ล้านคน อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ชมที่ลดลง เนื่องจากข้อจำกัดของการเข้าถึงการรับชมประกอบกับเวลาการถ่ายทอดสดที่ไม่เอื้อต่อการชม แต่เมื่อพิจารณาสถิติผู้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกคู่สำคัญในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2553 (2010) ที่ประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า คู่สำคัญที่คนไทยรับชมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมากที่สุดมีผู้ชมประมาณ 7.9 ล้านคน เนื่องจากมีการถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี กอปรกับช่วงเวลาการถ่ายทอดเอื้อต่อการรับชมการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการแข่งขันที่จัดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย

kasi3

*การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2561: คาดช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้าประมาณ 6,685 ล้านบาท

ในช่วงระยะเวลาของการแข่งขันฟุตบอลโลกนั้น จะเป็นช่วงหนึ่งที่จะเกิดกิจกรรมการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติที่ไม่ได้มีการจัดการแข่งขันได้ในระยะเวลาสั้น เนื่องจากแฟนฟุตบอลบางกลุ่มจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในระหว่างชมการแข่งขันฟุตบอล จากผลสำรวจในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่จะรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนที่จะใช้จ่าย (อาทิ การซื้ออาหารและเครื่องดื่ม การไปรับชมการแข่งขันในสถานที่ที่มีการเปิดให้รับชมการแข่งขัน การซื้อเสื้อทีมฟุตบอล และไปรษณียบัตรชิงโชค เป็นต้น) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 96.0 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีแผนที่จะใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.0 ของผู้ที่จะรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้

*มหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกปี 2561 คาดกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจะมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 5,265 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจที่น่าจะได้รับผลบวกจากการแข่งขันฟุตบอลโลก ก็คงจะเป็นกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เห็นได้จาก ผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มได้เริ่มทยอยทำแคมเปญการตลาดส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรร้านค้าต่างๆ ผ่านการโฆษณา ที่มีเรื่องราว (Theme) เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอล เพื่อกระตุ้นยอดขายในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากบรรยากาศการรับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ ที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้รับชมมากกว่าครั้งที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเป็นมูลค่าประมาณ 5,265 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

kasi4

กลุ่มอาหาร
สำหรับกลุ่มอาหาร (เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารจำหน่ายในร้านอาหาร ขนมขบเคี้ยวและร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น) เป็นกลุ่มที่มีปริมาณการใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในกลุ่มของผู้ที่มีแผนจะรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้งการรับชมในที่พักอาศัย โดยกลุ่มที่รับอานิสงส์ อาทิ ร้านอาหารที่มีบริการการจัดส่งอาหาร ทั้งที่เป็นเชนร้านอาหาร และร้านค้าทั่วไป นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาหารอื่นๆ และการประกอบอาหารทานเอง อาทิ อาหารกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารที่สะดวกในการปรุง อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จ และอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ซึ่งซื้อตามร้านอาหารใกล้บ้าน ตลาด หรือร้านสะดวกซื้อ และกลุ่มขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการเริ่มมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

ขณะเดียวกัน เนื่องจากช่วงเวลาการถ่ายทอดการแข่งขันส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. ทำให้ผู้ที่สนใจติดตามชมการแข่งขันบางส่วน นิยมไปเชียร์นอกที่พักอาศัย ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกกระจายไปสู่ร้านอาหาร สถานบันเทิง และลานกิจกรรมที่มีการจัดงานเฉพาะของฟุตบอลโลกเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้ จะมีเม็ดเงินกระจายมายังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารประมาณ 3,015 ล้านบาท

กลุ่มเครื่องดื่ม
ตลาดเครื่องดื่ม (กลุ่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และกลุ่มที่มีแอลกอฮอล์) เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีแผนที่จะใช้จ่ายทั้งการรับชมในบ้านและนอกบ้านมากที่สุด ทั้งนี้ อานิสงส์จากการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดเครื่องดื่มกลับมามีความคึกคักพอควร จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตร โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ในช่วงไตรมาสแรกปี 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หดตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกคาดว่ามูลค่าการตลาดเครื่องดื่มน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2,250 ล้านบาท จากช่วงเวลาปกติ

kasi5

*เสื้อฟุตบอลทีมโปรด อุปกรณ์กีฬาที่เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอลและสินค้าที่ระลึก...คาดยอดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 910 ล้านบาท

นอกเหนือจากการชมและเชียร์ทีมโปรดผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ผู้บริโภคบางกลุ่มจะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเชียร์ โดยจะมีการซื้อเสื้อฟุตบอลทีมที่ชื่นชอบ รวมถึงยังช่วยกระตุ้นให้เกิดความอยากเล่นกีฬาฟุตบอล ซึ่งมีผลทำให้เกิดการใช้จ่ายในด้านรองเท้าฟุตบอลและอุปกรณ์กีฬาที่เกี่ยวกับฟุตบอล นอกจากนี้ ในกลุ่มนักสะสมจะมีการซื้อสินค้าหรือของที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอลโลก เห็นได้ว่าผู้ประกอบการร้านค้าเสื้อผ้ากีฬาและอุปกรณ์กีฬาเริ่มทำแคมเปญกระตุ้นยอดขายกันอย่างเข้มข้น สำหรับบรรยากกาศการชมฟุตบอลโลกในปีนี้ ที่คาดว่าจะมีความคึกคัก การซื้อสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้ากีฬา อุปกรณ์กีฬาและสินค้าของที่ระลึกในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2561 น่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 910 ล้านบาท

*การส่งชิงโชคทายผลฟุตบอลโลกช่องทางดั้งเดิมยังได้รับความนิยม แต่รูปแบบการทายผลในยุคดิจิทัลมาแรงขึ้น...คาดการใช้จ่ายเพื่อลุ้นโชคทายผลฟุตบอลโลกในปีนี้น่าจะมีมูลค่าประมาณ 510 ล้านบาท

การส่งชิงโชครางวัลทายผลฟุตบอลโลก เป็นหนึ่งในสีสันในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กลุ่มผู้ชมการแข่งขันฟุตบอลโลกให้ความสนใจในการร่วมกิจกรรม และยังเป็นกลยุทธ์การตลาดกระตุ้นยอดขาย และสร้างภาพลักษณ์ในแบรนด์สินค้า ของผู้ประกอบการธุรกิจในช่วงเวลานี้เช่นกัน จากผลสำรวจความสนใจในการร่วมกิจกรรมชิงโชคทายผลฟุตบอลโลก พบว่า ผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมทายผลฟุตบอลโลกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 91.5 ขณะที่ผู้ที่ไม่สนใจร่วมกิจกรรมทายผลฟุตบอลโลกมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.5 ของผู้ที่มีแผนที่จะชมฟุตบอลโลก

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารูปแบบการส่งชิงโชคทายผลฟุตบอลโลกดั้งเดิม (อาทิ การส่งไปรษณียบัตร และคูปองจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ) ยังเป็นช่องทางที่ผู้ตอบแบบสอบถามยังให้ความสนใจ และในปีนี้ผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มออกแคมเปญชิงโชครางวัลทายผลฟุตบอลโลก โดยเฉพาะกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมส่งชิงโชคหลักต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจจัดกิจกรรมกันอย่างคึกคัก สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายในการร่วมลุ้นโชคทายผลฟุตบอลโลกในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 510 ล้านบาท

โดยสรุป ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จัดขึ้นที่ประเทศรัสเซียระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินไปยังธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น เป็นมูลค่าประมาณ 6,685 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.0 จากช่วงปกติของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค อย่างไรก็ดี ทิศทางของการใช้จ่ายยังขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของเกมการแข่งขันในรอบถัดๆ ไป ซึ่งในกรณีทีมที่มีฐานแฟนบอลในไทยสูงได้เข้ารอบถัดๆ ไปอาจจะส่งผลให้กิจกรรมการใช้จ่ายมีความคึกคักเพิ่มมากขึ้น

สำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการแข่งขันฟุตบอลโลกในระยะสั้นๆ อาจจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายในช่วงที่เหลือของปี 2561 นี้ ทั้งจากการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้น อาทิ ในภาคธุรกิจร้านอาหารที่มีความหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เป็นต้น ขณะที่การฟื้นตัวของกำลังซื้อยังไม่เข้าสู่ระดับศักยภาพ อีกทั้งผู้บริโภคยังเผชิญกับปัจจัยด้านรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาสินค้าอาหาร และราคาพลังงาน ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจคงจะต้องทำตลาดจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นตลาดตลอดช่วงที่เหลือของปี

e-book-1-503x62-7