"อมตะ" ระดมซื้อที่ดินหวังเป็นแลนด์ลอร์ด ป้อนนักลงทุนในอีอีซี

16 มิ.ย. 2561 | 10:58 น.
อมตะวางเป้า 5 ปี ระดมซื้อที่ดินเกือบ 2 หมื่นไร่ รองรับการลงทุนในอีอีซี ไล่ตั้งแต่ปีนี้อัด 1 พันล้านบาท จัดซื้อพื้นที่ติดนิคมฯเดิมทั้งชลบุรีและระยอง คู่ขนานปรับการดำเนินธุรกิจใหม่ มาเป็นปล่อยเช่าพื้นที่มากขึ้นแทนการขาย หวังเก็บที่ดินเป็นแลนด์ลอร์ดในอนาคต

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 4.39 หมื่นไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี 2.7 หมื่นไร่ และนิคมฯอมตะนคร ระยอง 1.68 หมื่นไร่

[caption id="attachment_290470" align="aligncenter" width="308"] วิบูลย์ กรมดิษฐ์ วิบูลย์ กรมดิษฐ์[/caption]

ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับการลงทุนในอีก 10  ปีข้างหน้า บริษัทจึงจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่รองรับการลงทุนที่มากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้นให้ได้ถึงราว 6 หมื่นไร่ในระยะ 5 ปีนี้ ควบคู่กับการปรับแผนการดำเนินธุรกิจใหม่จากเดิมที่ขายที่ดินนิคมเป็นหลัก มาเป็นให้เช่าที่ดินมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน เนื่องจากกฎหมายอีอีซีเปิดช่องไว้ให้นักลงทุนเช่าได้ยาวถึง 50 ปี และต่อได้อีก 45 ปี ซึ่งจะช่วยนักลงทุนประหยัดการลงทุน เพราะจะคิดราคาแค่ 1 ใน 3 ของราคาขายที่ดิน ซึ่งอาจจะเริ่มที่นิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรีก่อน ซึ่งเป็นการสอดรับกับนโยบายของบริษัท ที่ต้องการเป็นแลนด์ลอร์ด หรือเป็นเจ้าของที่ดิน เพราะหากขายออกไปทั้งหมดอนาคตที่ดินก็จะหมด ส่วนจะดำเนินการได้ขนาดไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพตลาดว่าจะเอื้อให้ขนาดไหน

ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่นิคมที่เหลือขายประมาณ 1.05 หมื่นไร่ อยู่ในนิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรีประมาณ 7,500 ไร่ และนิคมฯอมตะซิตี้ ระยองราว 3 พันไร่ ในจำนวนนี้ได้ประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม ตามพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปแล้ว 8.2 พันไร่ เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถรองรับการลงทุนได้ประมาณ 5 ปี
TP11-3373-A

โดยในปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุนอีกราว 5 พันล้านบาท แบ่งเป็นการทยอยจัดซื้อที่ดิน 1 พันล้านบาท ในพื้นที่ชลบุรีและระยอง ติดกับนิคมที่มีอยู่ โดยทยอยซื้อไปเรื่อยๆ เป็นการลงทุนด้านการก่อสร้าง 1 พันล้านบาท และลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ระยองอีก 1 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือ 2 พันล้านบาท จะเป็นการลงทุนพัฒนาพื้นที่ในนิคมที่ประเทศเวียดนาม

นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ดินเบื้องต้นไว้ 800 ไร่ แบ่งเป็นอมตะซิตี้ ระยอง จำนวน 450 ไร่ นิคมฯไทย-จีน  200 ไร่และอีก 150 ไร่อยู่ที่ นิคมฯอมตะ ชิตี้ ชลบุรี

อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ ในช่วงครึ่งหลังอาจจะต้องปรับเป้าหมายการขายหรือให้เช่าที่ดินใหม่ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพการแข่งขันด้วย เพราะพื้นที่นิคมหรือเขตส่งเสริมพิเศษที่ประกาศออกมานั้นมีมากถึง 21 แห่ง ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในที่ต่างๆได้มากขึ้น

“ยอมรับว่ากระแสอีอีซีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ราคาที่ดินในพื้นที่นิคมปรับตัวสูงขึ้นมาก ตามความต้องการของนักลงทุน อย่างนิคมฯอมตะซิตี้ ระยอง และนิคมฯไทย- จีน ราคาขายจะอยู่ประมาณ 3.8 ล้านบาทต่อไร่ ขณะที่นิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี จะประมาณ 8-9 ล้านบาทต่อไร่หรือขึ้นไปถึง 10 ล้านบาทต่อไร่ แต่หากสถานการณ์การลงทุนทะลักเข้ามาจริง ราคาที่ดินอาจจะปรับตัวสูงกว่านี้ได้ ประกอบกับราคาที่ดินในพื้นที่อีอีซีจะมีการปรับตัวขึ้นทุกๆ 3 ปี ตามภาวะเงินเฟ้อด้วย”

...................................................................................

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,373 ระหว่างวันที่ 10-13 มิ.ย.61 e-book-1-503x62-7