จีนยึดไทยทิ้งขยะ! สำแดงเท็จนำเข้า

07 มิ.ย. 2561 | 10:46 น.
070661-1737 02-3369-1

กรมโรงงานฯ ระงับใบอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 5 ราย มีผล 5 มิ.ย. ... สาวต่อพบทุนจีนแห่ตั้งโรงงานรีไซเคิลในไทยถึง 80% ส่วนหนึ่งสำแดงเท็จได้สิทธิ์นำเข้าขยะพลาสติก แต่แอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา คัดแยกโลหะมีค่าส่งกลับจีน ... กรมศุลฯ จับมือกรมโรงงานฯ เข้มงวดตลอดเส้นทางเดินซากขยะ

หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาแถลงข่าวความคืบหน้าในการตรวจสอบการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ/หรือ อนุสัญญาบาเซล ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าจำนวน 7 ราย ที่ประกอบกิจการประเภท 105 (คัดแยกขยะ) และประเภท 106 (รีไซเคิลขยะ) และในจำนวนนี้มี 5 ราย ที่กระทำผิด

 

[caption id="attachment_287928" align="aligncenter" width="503"] สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมชาย หาญหิรัญ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการตรวจสอบล่าสุด พบว่า ใน 7 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น จะมีจำนวน 5 ราย ที่กระทำผิดแน่นอนแล้ว โดยให้มีผลในการระงับใบอนุญาตนำเข้าตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2561 ทั้ง 5 บริษัท อยู่ในข่ายกระทำผิด เนื่องจากแอบส่งวัตถุดิบหรือซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าให้กับบริษัทอื่นไปจัดการต่อ นอกจากนี้ ยังตรวจพบอีกว่า มีกลุ่มผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่ง ที่อยู่ในข่ายความผิด เช่น ไม่ได้รับอนุญาตนำกาก หรือ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไปในโรงงานทำให้มีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 23 และอยู่ในข่ายที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการประเภท 105 และ 106 แล้ว แต่ยังไม่ได้จดแจ้งประกอบกิจการ จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.กรมโรงงาน ปี 2535 และบางรายมีกากอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของเสียอันตรายอยู่ในโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้มีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ขณะนี้ สั่งดำเนินคดีแล้ว และสั่งปรับปรุงแก้ไขส่วนโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ก็ต้องไปดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

สำหรับผู้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าตามอนุสัญญาบาเซล ทั้ง 7 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท เจ.พี.เอส. เมทัล กรุ๊ปส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา , 2.บริษัท หย่งถังไทย จำกัด ตั้งโรงงานอยู่ที่ฉะเชิงเทรา , 3.บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด ตั้งกิจการอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ , 4.บริษัท เอส.เอส.อิมปอร์ตเอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งโรงงานที่ จ.สมุทรปราการ 5.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) ตั้งโรงงานที่กรุงเทพฯ , 6.บริษัท หมิง เอ็น จิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งโรงงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ 7.บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอร์ริ่ง จำกัด ตั้งโรงงานที่ จ.ชลบุรี


S__53149734

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวของโรงงานประเภทคัดแยกขยะและรีไซเคิลขยะ พบว่า ขณะนี้ มีทุนจีนจำนวนมากเข้ามาตั้งโรงงานในไทยและส่วนใหญ่มาขอใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 106 หรือรีไซเคิลขยะในจำนวนนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ 80% เป็นกลุ่มทุนจีนที่มีการนำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา เช่น โทรศัพท์มือถือแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง

"ที่น่าจับตา มีหลายรายที่มีการนำเข้าวัตถุดิบโดยการสำแดงเท็จในใบอนุญาตสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรแสดงสิทธิ์ เป็นการนำเข้าเศษพลาสติกชนิดต่าง ๆ จากท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพฯ และอื่น ๆ แต่ปฏิบัติจริงด้วยการนำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่กรมศุลกากรทำได้เพียงการสุ่มตรวจบางตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ได้ตรวจทั้งหมด โดยบริษัทเหล่านี้เข้ามาคัดแยกโลหะมีค่า เช่น ทองคำ ทองแดง ออกมาเพื่อส่งกลับไปจีน หรือ ขายต่อ ซึ่งซากอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 1 ตัน สามารถสกัดทองคำออกมาได้ถึง 6 บาท โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภท IC , PCU และคอมพิวเตอร์ ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่า"


iPleaders-17

สำหรับชิ้นส่วนที่ไม่มีค่าจะถูกนำไปกำจัดแบบไม่ถูกวิธี เนื่องจากการเผาหรือทำลายทิ้งแบบถูกต้องมีต้นทุนในการกำจัดสูง เฉลี่ยตันละราว 10,000 บาท เมื่อต้นทุนในส่วนนี้สูงมาก ทำให้ซากขยะถูกลักลอบทำลายแบบผิดวิธี เช่น นำไปฝังในบ่อขยะที่ไม่อันตราย หรือในบ่อยขยะชุมชน ทำให้ในประเทศไทยมีปริมาณขยะนอกระบบจำนวนมากที่กระจัดกระจายไปทั่วหลายพื้นที่ และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า รวมทั้งสิ้นมีจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากลักลอบนำเข้ามา แต่ถ้าเป็นปริมาณขยะแต่ละชนิดที่อยู่ในระบบจะแบ่งการดูแลออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ขยะติดเชื้อดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข , ขยะชุมชนดูแลโดยกรมควบคุมมลพิษ , ขยะอุตสาหกรรมดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม


GP-3372_180607_0017

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า การนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2560 รวมทั้งสิ้น 53,000 ตัน และในปี 2561 ช่วงวันที่ 1 ม.ค. -  31 พ.ค. มีการนำเข้ารวม 33,000 ตัน โดยนำเข้ามามากที่สุดจากจีนและฮ่องกง ซึ่งถือว่า เพิ่มขึ้นเยอะมาก ซึ่งจากการหารือร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ได้วางแนวทางการกำกับดูแลร่วมกัน ว่า จากนี้ไปเมื่อมีการนำเข้าขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากจะแจ้งไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่า มีปริมาณการนำเข้าเท่าไหร่ มีใครนำเข้าบ้าง เพื่อให้อุตสาหกรรมจังหวัดลงไปตรวจสอบว่า ปริมาณขยะตรงกับจำนวนที่กรมศุลกากรแจ้งหรือไม่ หากไม่ตรงก็จะเพิกถอนใบอนุญาตการนำเข้า

นอกจากนั้น ยังมีข้อตกลงร่วมกันว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมกับกรมศุลกากรในการตรวจสอบการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีการนำเข้า 90% ซึ่งต่อไปกรมศุลกากรจะมีการตรวจเอกซเรย์ทุกตู้ที่มีการนำเข้า ซึ่งมีประมาณ 70 ตู้ต่อวัน เพื่อป้องกันการเล็ดลอด ถ้ามีการสำแดงเท็จ ก็จะมีการส่งกลับประเทศต้นทาง เนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อมีการจับกุมตู้คอนเทนเนอร์จะตกเป็นของกลาง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดนแดด โดนฝน จะทำให้มีสารถพิษเล็ดลอดออกมาเป็นอันตราย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,372 วันที่ 7-9 มิ.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เตือนคนไทย! ขยะอิเล็กทรอนิกส์ มัจจุราชเงียบตายผ่อนส่ง
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง! ยอดพุ่งกว่า 4 แสนตัน - ห่วงคัดแยกผิดวิธี


e-book-1-503x62-7