‘เจ้าจำปี’ จับมือ ‘โรลส์รอยซ์’ ตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ จ่อลงทุนอู่ตะเภาต่อ

07 มิ.ย. 2561 | 10:46 น.
'เจ้าจำปี' ทุ่ม 1 พันล้านบาท ผนึก 'โรลส์ รอยซ์' จัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์เทรนท์ ณ สนามบินดอนเมือง รับลูกค้าโทเทิล แคร์ทั่วโลก โฟกัสรุ่นเทรนท์ 700-1000 จี้เร่งเปิดบริการ Q4 ปีนี้ ชี้เฟสแรกรับได้ 30 เครื่องยนต์ต่อปี ดันรายได้การซ่อมบำรุงอากาศทะลุ 7-8 พันล้านบาท ในปี 2563 จ่อขยายโครงการไปยังสนามบินอู่ตะเภารับอีอีซี

- 7 มิ.ย. 61 - นายสุรชัย เพียรเจริญศักดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยได้ร่วมลงนามกับโรลส์ รอยซ์ สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์ รอยซ์ ของการบินไทย ภายในศูนย์ซ่อมของการบินไทย สนามบินดอนเมือง เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้บริการซ่อมเครื่องยนต์ตามโปรแกรมโทเทิล แคร์ ของโรลส์รอยซ์สำหรับเครื่องยนต์เทรนท์ 700 ที่ติดตั้งในเครื่องบินรุ่นแอร์บัส 330 และเครื่องยนต์เทรนท์ 1000 ที่ติดตั้งในโบอิ้ง 787 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ด้วยการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เทรนท์รุ่นดังกล่าวสำหรับฝูงบินของการบินไทยก่อน ตามมาด้วยการให้บริการลูกค้าของโรลส์ รอยซ์ ในต้นปี 2562 1200px-Thai_Airways_Logo.svg

ทั้งนี้การบินไทยจะใช้งบลงทุนราว 1 พันบาท โดยในระยะแรกจะลงทุนอุปกรณ์ ราว 500 ล้านบาทรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เทรนท์ 1000 และอีกราว 500 ล้านบาทสำหรับการลงทุนซ่อมบำรุงเครื่องยนต์รุ่นเทรนท์ 700 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์รุ่นยอดนิยมของโรลส์ รอยซ์ โดย ศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ดังกล่าว ในระยะแรกจะรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อยู่ที่ 30 เครื่องยนต์/ปี ขณะที่ศักยภาพสูงสุดรองรับการซ่อมบำรุงได้ถึง 70-80 เครื่องยนต์ต่อปี คาดว่าจะทำรายได้ในปี 2562 ราว 1 พันล้านบาท และในปี 2563 ราว 3-4 พันล้านบาท

ดังนั้นหากรวมรายได้จากธุรกิจซ่อมบำรุงเครื่องยนต์โดยรวมของการบินไทย ที่มีรายได้ราว 3 พันล้านบาทต่อปี  ก็คาดว่าการบินไทยจะมีรายได้จาก 4-5 พันล้านบาท (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย) ในปี 2562 เพิ่มเป็น 7-8 พันล้านบาทยังไม่หักค่าใช้จ่ายปี 2563 Bangkok_-_International_(Don_Muang)_(DMK_-_VTBD)_AN2196231

ทั้งนี้ตลาดการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อากาศยานทั่วโลกเติบโตราว 5-6% ซึ่งเติบโตตามการสั่งซื้อเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย

นายคริส ซอร์ตั้น ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัทโรลส์ รอยซ์ กล่าวว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้การบินไทย สามารถให้บริการแก่สายการบินอื่นๆ ได้อีก เป็นการสร้างรายได้ให้กับการบินไทย และจากการคาดการณ์ว่าเครื่องยนต์ของโรลส์รอยซ์ ในฝูงบินจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งย่อมมีความต้องการโรงงานศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ตามมานั้น เป็นสิ่งที่ดีที่กำลังจะเกิดขึ้น

การเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน ทางสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือไออาตา คาดการณ์ว่าการเดินทางทางอากาศ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% ในปีนี้ ซึ่งมีการขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยใน 20 ปีที่ผ่านมา ถึง 1.5% การเจริญเติบโตส่วนใหญ่มาจากการเดินทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีระดับจำนวนของผู้โดยสารที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมความร่วมมือระหว้างบริษัทต่างๆ รวมทั้งการบินไทย และโรลส์รอยซ์ ที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานในรูปแบบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง RollsRoyce6

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากการลงนามความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัทในโครงการTrent XWB Engine Development Testing เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยบริษัทโรลส์รอยซ์ ได้นำเครื่องยนต์ Trent XWB มาทดสอบที่โรงซ่อมเครื่องยนต์อากาศยาน การบินไทย ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง หรือเรียกว่าการทำ Experimental Test ของเครื่องยนต์ Trent XWB ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด ที่ใช้งานกับเครื่องบินแอร์บัส เอ350 โดยฝ่ายช่างการบินไทยได้ทำการทดสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาสมรรถนะของเครื่องยนต์ นอกจากนี้บริษัทโรลส์ รอยซ์ ยังมีแผนที่จะขยายโครงการนี้ไปยังท่าอากาศอู่ตะเภาอีกด้วย 409534

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สนองต่อนโยบายของรัฐและเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือ New Growth Engine ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศในด้านการซ่อมเครื่องยนต์อากาศยานที่มีความซับซ้อนและต้องใช้ความรู้ รวมทั้งเทคโนโลยีขั้นสูงสร้างขีดความสามารถของประเทศทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการบินให้เป็นหนึ่งในภูมิภาค