เทรดวอตช์ : มรสุมโลจิสติกส์ การส่งออกไทย

07 มิ.ย. 2561 | 06:23 น.
 

56696 การส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 มีมูลค่า 81,775 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตมากถึง 11.5% จากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าต่อเนื่องจากนํ้ามันที่เติบโตตามทิศทางราคานํ้ามันในตลาดโลก รวมถึงการคลี่คลายของปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้เชื่อมั่นว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 8% อย่างไรก็ตาม ความท้าทายด้านโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นหลายประการ เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องจับตามองและร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตดังกล่าว

ประการแรกคือ ปัญหาความแออัดการจราจรของบริเวณประตูทางเข้าท่าเทียบเรือในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งส่งผลให้รถหัวลากต้องจอดรอคิวนานถึง 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมกับการปรับขึ้นราคานํ้ามันดีเซลในช่วงที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ประกาศขึ้นค่าขนส่งสินค้าประมาณ 5% หรือ 1,000 บาทต่อเที่ยว คิดเป็นต้นทุนแก่ผู้ส่งออกประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดต้องเร่งเจรจากับผู้ประกอบการท่าเทียบเรือในท่าเรือแหลมฉบังให้เพิ่มความสามารถในการยกขนตู้บรรจุสินค้าระหว่างรถขนส่งลานกองตู้สินค้า เพื่อบรรเทาปัญหาความแออัดในปัจจุบัน ก่อนที่จะสามารถใช้การขนส่งตู้สินค้าเข้าออกท่าเรือผ่านระบบรางและการขนส่งชายฝั่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในอนาคต
5265965 ประเด็นต่อมา คือ ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าสำหรับการส่งออกมีไม่เพียงพอ และตู้จำนวนมากไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือมีคุณภาพด้อยกว่าความต้องการของผู้ส่งออก ทำให้ลานตู้ต้องมีการซ่อมแซมก่อนส่งให้กับผู้ส่งออกบรรจุสินค้า โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนและสงกรานต์ที่ผู้ส่งออกเร่งส่งของก่อนวันหยุดเทศกาล ทำให้ไม่มีตู้สินค้าสำหรับการบรรจุและส่งให้กับลูกค้าตามสัญญาซื้อขาย หรือผู้ส่งออกต้องยอมรับตู้สินค้าที่มีคุณภาพของลดจากมาตรฐานที่ตั้งไว้ เพื่อให้มีตู้บรรจุสินค้าและส่งออกได้ทัน แน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่ลูกค้าจะปฏิเสธการรับสินค้าหรือต่อรองในเรื่องของราคาสินค้าที่จะจ่ายจริง หากพบว่าได้รับความเสียหายจากความบกพร่องของตู้สินค้า ซึ่งหมายถึงประเทศไทยจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมซ่อมแซมตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้มีตู้ที่มีความพร้อมในการขนส่งอย่างเพียงพอ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาว

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังได้รับผลกระทบจากประกาศกรมศุลกากรที่ 134/2561 เรื่องการปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ หมวด 6 การยื่นรายการนำของออก ในส่วนของการส่งข้อมูลบัญชีสินค้าทางเรือ (Master Sea Cargo Manifest Message) ซึ่งระบุให้ตัวแทนเรือต้องส่งบัญชีสินค้าทางเรือ (Manifest) ผ่านระบบ National Single Window ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนวันเรือออก
d68cb54068c01de5686066f0f71ae420 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกหลายประการ เพราะตัวแทนเรือได้มีการปรับระบบให้ผู้ส่งออกต้องส่ง Shipping Instruction ล่วงหน้าเป็น 2-4 ก่อนวันเรือออก และต้องยืนยันร่างสัญญาการขนส่งสินค้า (Bill of Lading: B/L) 1 วันหลังเรือออก รวมถึงหากมีข้อผิดพลาดหรือต้องการแก้ไขข้อมูล จะมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเจ้าของสินค้าระหว่าง 500-1,300 บาท ต่อการแก้ไข 1 ครั้ง ทำให้เกิดภาระแก่ผู้ส่งออกทั้งในด้านต้นทุนการแก้ไขเอกสารและต้นทุนการจัดการสินค้าคงคลังให้พร้อมก่อนการส่งออกเป็นเวลานานมากขึ้น และทำให้ผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศคู่แข่งที่ไม่มีมาตรการดังกล่าว

โดยเฉพาะการเจรจาและตกลงทำสัญญาซื้อขายกับคู่ค้าในต่างประเทศ สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าที่จะมีการขายช่วงในต่างประเทศผ่านตัวกลางการค้า ส่งผลให้ผู้ส่งออกจำนวนมากตั้งคำถามว่าประโยชน์ในการออกประกาศดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 นั้นคุ้มค่ากับต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงหรือไม่

|คอลัมน์ : เทรดวอตช์
|โดย : คงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
|เชกชั่น : การค้าการลงทุน หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3371 ระหว่างวันที่ 3-6 มิ.ย.2561
e-book-1-503x62-7