ไทย-โปรตุเกส สายสัมพันธ์อันเป็นนิรันดร์

23 มิ.ย. 2561 | 11:36 น.
เฉลิมฉลอง 500 ปี แห่งการครบรอบสนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีฉบับแรกในกรุงสยาม

“โปรตุเกสเป็นประเทศเล็กๆ แต่หนึ่งในสี่ของประชากรในประเทศออกเดินทางไปรอบโลก วิทยาการด้านการเดินเรือนี้เองที่ทำให้โปรตุเกสประกาศศักดาข้ามผ่านท้องทะเลและมหาสมุทรผ่านกองเรือเล็กๆ เพียงไม่กี่ลำที่คิดค้นและพัฒนาด้วยตนเอง ออกจากประเทศซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันตกสุดของยุโรปเดินทางสู่ราชอาณาจักรในดินแดนฝั่งตะวันออกที่ไม่เคยมีใครมาเยือน ความยิ่งใหญ่ของการเป็นประเทศแรกที่เชื่อมต่อโลกอย่างแท้จริงนี้ทำให้ “ภาษาโปรตุเกส” ถูกใช้เป็นภาษากลางทางการทูตยาวนานหลายศตวรรษ” TOP_1465 ความภาคภูมิใจที่ส่งผ่านรอยยิ้มและดวงตาที่เป็นประกายของ มร.ฟรานซิสโก วาซ แพตโต เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย ในวันที่ประตูเหล็กสีดำค่อยๆ เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนกลุ่มพิเศษได้เข้าไปสัมผัสสถานทูตแห่งแรกในสยามประเทศ ทำเนียบทูตที่ตั้งอยู่ในจุดที่งดงามอันดับต้นๆ ของริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนเตรียมพร้อมจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง 500 ปี แห่งการครบรอบสนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีฉบับแรกระหว่างโปรตุเกสและสยามอย่างยิ่งใหญ่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

“โปรตุเกสเป็นชาติที่นำ “มะพร้าว” และ “รสเผ็ด” เข้ามาในสยาม” ประโยคที่สร้างความประหลาดใจไม่น้อย เมื่อท่านทูตนำชมทำเนียบไปจนถึงห้องทานอาหาร ความคล้ายคลึงกันด้านวัตถุดิบ วิธีทำ สะท้อนภาพของโปรตุเกสกับการเป็นชาติที่บุกเบิกอาณาจักรบนท้องทะเลไปทั่วโลก ทำให้มีโอกาสนำพืชพันธ์ุธัญญาหารใหม่ๆ จากต่างถิ่นเข้ามาให้คนในสยามได้รู้จัก พริกจากเม็กซิโก นอกจากสร้างสีแดงสวยบนจานอาหารแล้ว ยังเป็นการเติมรสชาติที่ขาดหาย เป็นความเผ็ดร้อนที่เข้าไปอยู่ในแต่ละสำรับอย่างลงตัว พ่วงด้วยคุณสมบัติการเป็นสมุนไพรชั้นดีสำหรับถนอมอาหารในประเทศเขตร้อนอีกด้วย

ความทรงจำดั้งเดิมในแบบเรียนและเกร็ดประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกในละครโทรทัศน์ทำให้ภาพของโปรตุเกสซึ่งปรากฏชัดในฐานะผู้นำด้านการเดินเรือระดับโลก ประเทศซึ่งอุดมไปด้วยศิลปวิทยาการ ผู้นำองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ด้านแผนที่ กระแสน้ำ ทิศทางลม ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นประเทศผู้นำอาวุธที่เรียกว่า “ปืน” กระบอกแรกๆ สู่การรบในสมัยอยุธยา รวมถึงการประยุกต์วิธีการทำอาหารและขนมในครัวของสตรีสาวลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น จนโดดเด่นและลือชื่อขึ้นสู่การเป็นเครื่องเสวยและกลายเป็นขนมที่เดินทางผ่านกาลเวลาหลายร้อยปี จนได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในขนมประจำชาติไทย ความรู้ความเข้าใจต่างๆ ได้รับการขยายภาพ ขยายความให้ชัดเจนอีกครั้ง ท่านทูตฯได้อธิบายเรื่องราวประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันแนบแน่นของโปรตุเกส ที่เดินทางมาเยือนสยามในฐานะ “มิตร” แตกต่างจากประเทศอื่นที่มุ่งหวังด้าน “ดินแดน” ควบคู่กัน  ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและไทยแนบแน่นและซึมลึกกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในรูปแบบปกติ แต่เข้าไปถึงการดำเนินชีวิต ความทรงจำ และที่สำคัญที่สุดคือการหลอมรวมกับสำรับอาหารไทยจนแยกไม่ออก

“ภาพลักษณ์ของโปรตุเกสในสายตาคนทั่วไปคือ “อนุรักษ์นิยม” จริงๆ แล้วโปรตุเกสไม่ต่างจากประเทศไทยที่กำลังพัฒนาสู่ความนำสมัย การพัฒนาด้านเทคโนโลยีหลากหลายด้านทั้งการเดินหน้าในฐานะผู้นำเทคโนโลยีด้านการต่อเรือ การสร้างผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาสู่ความโมเดิร์นในหลากหลายด้าน ทั้งด้านศิลปะ และดนตรี การจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองในครั้งนี้นอกจากเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของ “มิตรจากต่างแดนคนแรก” ให้แนบแน่นขึ้นแล้ว ยังเป็นการนำเสนอกรอบความคิดใหม่ให้กับคนไทยได้รู้จัก ได้เข้าถึงความเป็นโปรตุเกสมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างซีรีส์กิจกรรมที่เปรียบเสมือนการเปิดประตูทำความรู้จักโปรตุเกสอีกครั้งอย่างเป็นทางการ”

การเล็งเห็นความแข็งแกร่งของ “สยามพิวรรธน์” กลุ่มธุรกิจเอกชนไทยที่มุ่งมั่นทุ่มเทสนับสนุนงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง การผนึกพลังร่วมกันระหว่าง สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส, Camoes-ศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกสและ AICEP ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการต่างประเทศ, ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, ไอคอน สยาม, และสถาบัน Camoes เพื่อความร่วมมือและภาษา การจัดงานกิจกรรมครั้งยิ่งใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งนี้จึงเริ่มต้นขึ้น

“เพราะ “ดนตรี” คือจุดเชื่อมประสาน คือภาษาสากลที่นำจิตวิญญาณและตัวตนของ “ชาติ” ให้เข้าถึงคนได้ชัดเจนที่สุดและไวที่สุด” การเดินทางมาเพื่อจัดแสดงดนตรีเป็นครั้งแรกในประเทศไทยของศิลปินชื่อดังชาวโปรตุเกส “Rodrigo Leao” (โรดิโก ลีโอ) ศิลปินซึ่งท่านทูตติดตามผลงานเพลงทั้งในรูปแบบวงดนตรี การแสดงเดี่ยว และการร่วมประพันธ์ดนตรีกับศิลปินและนักดนตรีชั้นนำระดับโลก รวมถึงการรังสรรค์ดนตรีให้กับฮอลลีวูดมาตั้งแต่ครั้งเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย คือการนำเสนอผลงานดนตรีที่มีเอกลักษณ์และงดงามสู่สายตาคนไทยในการแสดงชุด “Os Portugueses” (The Portuguese) ที่ มร.โรดิโก ลีโอ ได้รวบรวมบทเพลงทั้งหมดที่เขียนขึ้นในภาษาโปรตุเกส

รวมถึงบทเพลงที่เขียนขึ้นสำหรับภาพยนตร์สารคดีทางทีวีโปรตุเกส เรื่อง A Social Portrait สารคดี 7 ตอนที่ดำเนินเรื่องเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคมโปรตุเกสในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เรียบเรียงเป็นซีรีส์ ถ่ายทอดมิติแห่งเสียงที่ผ่านการนำรูปแบบดนตรีสไตล์ดั้งเดิมของโปรตุเกสมาผสมผสานกับเครื่องดนตรีสุดคลาสสิกอย่าง ไวโอลิน ไวโอล่า และเชลโล่ เกิดเป็นท่วงทำนองใหม่ที่จะทำให้ผู้ชมเข้าถึงความเป็นโปรตุเกสได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ต่อเนื่องด้วยกิจกรรมทางวิชาการและไลฟ์สไตล์ตลอดทั้งปี รวมถึงหนึ่งในกิจกรรมที่ทุกคนรอคอยอย่างการเยี่ยมชมทำเนียบทูตโปรตุเกส สัมผัสกับงานสถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียลที่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความอบอุ่นจากงานศิลปะและเครื่องเรือนที่ท่านทูตฯ คัดสรรและจัดวางด้วยตนเอง

เสายสัมพันธ์อันยืนยาวมิได้เกิดขึ้นจากเอกสาร ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการศึกษาผ่านตำราและการเดินทาง แต่คือ “มิตรภาพ” ที่คนทั้งสองประเทศร่วมสร้างไปพร้อมๆ กัน

พุทธศักราช 2561 “500 ปีแห่งการครบรอบสนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีฉบับแรกในกรุงสยาม”

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,373 (843) วันที่ 10 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561
e-book-1-503x62