กรุงศรีนําร่องเทรด "ริงกิต-รูเปีย"

16 มิ.ย. 2561 | 08:59 น.
แบงก์กรุงศรีอยุธยา เผยธปท.อนุมัติไลเซนส์ทำธุรกรรม ACCD ซื้อขายสกุลเงินท้องถิ่นไม่ผ่านดอลลาร์ ช่วยลดความเสี่ยงค่าเงิน ต้นทุนไม่แพง ประเดิม 2 สกุลริงกิต-รูเปีย พร้อมศึกษาเยน-ญี่ปุ่น เผยครึ่งปีหลังเห็นค่าเงินบาทแข็งค่า สิ้นปีมอง 31.25 บาทต่อดอลลาร์

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบัลมาร์เก็ต ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก ธนาคารจึงแนะนำลูกค้าหรือผู้ประกอบการที่มีการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านซื้อขายสกุลเงินท้องถิ่นโดยตรง ไม่ต้องผ่านสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนค่าเงินและช่วยลดต้นทุน หลังจากที่ธนาคารได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สามารถทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน 2 สกุล(ACCD) คือ สกุลเงินริงกิต-มาเลเซีย และสกุลเงินรูเปีย-อินโดนีเซียได้

[caption id="attachment_287512" align="aligncenter" width="335"] Tak Bunnag_02 ตรรก บุนนาค[/caption]

ทั้งนี้ ธนาคารเริ่มให้บริการ ACCD ตั้งแต่ปีก่อน โดยช่วงแรกให้บริการระหว่างเงินบาทกับเงินสกุลริงกิต-มาเลเซีย ผ่านธนาคาร MUFG Bank Berhad และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มทำสกุลเงินบาทกับเงินรูเปีย-อินโดนีเซีย ผ่าน Bank Rakyat Indonesia (BRI) ซึ่งช่วงแรก แม้ปริมาณธุรกรรมจะไม่มากนัก แต่ระยะต่อไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศที่มีปริมาณค่อนข้างมาก  แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการหันมาซื้อขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่นโดยตรง ผ่าน ACCD มากขึ้น

นอกจากนั้น ธนาคารอยู่ระหว่างศึกษาการให้บริการซื้อขายสกุลเงินบาทและเงินเยน-ญี่ปุ่นในระยะต่อไป เนื่องจากธนาคารมีฐานลูกค้าญี่ปุ่นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้าได้มากขึ้น ส่วนรูปแบบการให้บริการจะเป็นรูปแบบ ACCD หรือไม่นั้น อาจจะต้องรอธปท.อนุญาตต่อไป

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังปีนี้ นายตรรกกล่าวว่า ยังคงเห็นความผันผวนมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี เงินบาทกลับมาอ่อนค่า หลังจากที่แข็งค่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน โดยการเปลี่ยนแปลงค่าเงินนับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ขึ้นไปอยู่เหนือ 3% ทำให้นักลงทุนดึงเงินกลับ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง 3% อย่างไรก็ตาม หากมองตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.33% โดยธนาคารคาดการณ์เงินบาทในไตรมาส 4 อยู่ที่ 31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีกรอบอยู่ที่ 30.25-32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง ไปอยู่ที่ระดับ 1.75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5%

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3,372 วันที่ 7- 9 มิถุนายน 2561

e-book-1-503x62-7