BTSกําเงินรอ‘ไฮสปีดเทรน’

11 มิ.ย. 2561 | 05:20 น.
“บีทีเอส กรุ๊ป ”  เตรียมแหล่งเงินรองรับการลงทุน ไฮสปีดเทรน ทั้ง BTS-W4 วงเงิน 1.85 หมื่นล้านบาท, หุ้นเพิ่มทุน 592 ล้านหุ้น และกระแสเงินสดในมือกว่า 3 หมื่นล้านบาท  มั่นใจแหล่งเงินกู้แบงก์พร้อม  เหตุ D/E ตํ่าเพียง 0.37 เท่า

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน  บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์  จำกัด (มหาชน) (BTS) กล่าวว่า แผนปีนี้บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบินนานาชาติ (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่ารวม 2.24 แสนล้านบาท ผ่านพันธมิตรของบริษัท คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR (BTS ถือหุ้น 75%, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)ถือ 15%  และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ถือ 10%) ซึ่งจะเปิดให้ซื้อซองในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ logo-สมัครงาน-bts-กรุ๊ปโฮลดิ้จํากัด-977

“ทุกรายทั้งต่างประเทศ และในไทยเข้ามาคุยกับเราหมด  ส่วนกรณีของปตท. ที่มีข่าว เราตอบแทนไม่ได้ แต่คาดจะสรุปรายชื่อพันธมิตร ก่อนยื่นเอกสารประมูลโครงการในวันที่ 12 มิถุนายนนี้”

สำหรับแหล่งเงินรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง จะมาจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์ิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (วอร์แรนต์) หรือ BTS-W4 จำนวนไม่เกิน 1.76 พันล้านหน่วย ให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิม  ตามสัดส่วนการถือหุ้น ในอัตราส่วน 9 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วย อายุ 1 ปี มีอัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วย ต่อ 1 หุ้น ที่ราคาใช้สิทธิหุ้นละ 10.50 บาท (คำนวณเงินวอร์แรนต์ หลังการใช้สิทธิที่ 10.50 บาท คิดเป็นวงเงิน 1.85 หมื่นล้านบาท)  BTS

ทั้งนี้เมื่อไตรมาส1/2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) บีทีเอส  ได้อนุมัติลดทุนจดทะเบียนโดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกจำหน่าย  จากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 7.27หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 6.33 หมื่นล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุน 2.35 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 4 บาท แบ่งเป็นจัดสรรไม่เกิน 1.76 พันล้านหุ้น รองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพวอร์แรนต์ หรือ BTS-W4 ที่จะออกจำนวน ไม่เกิน 1.76 พันล้านหน่วย

นอกจากนี้ยังมีส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 592 ล้านหุ้น (หลังหักรองรับการใช้สิทธิวอร์แรนต์) ที่จะเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งจะเป็นอีกแหล่งเงินทุนรองรับแผนการลงทุนในอนาคตได้อีกทาง และบริษัทยังมีกระแสเงินสดรองรับกว่า 3 หมื่นล้านบาท และศักยภาพที่จะกู้ได้อีกมาก จากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ระดับตํ่า 0.37 เท่า

“BTS-W 4 ที่ออกใหม่จะเป็นแหล่งเงินที่รองรับโปรเจ็กต์ใหม่ๆที่กำลังจะเข้ามา เช่น โครงการไฮสปีดเทรน, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม, โครงการรถไฟฟ้าขนาดเบาสายบางนา-สุวรรณภูมิของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการเตรียมการไว้ก่อน โดย BTS-W 4  จะมีอายุ 1 ปีตามไทม์ไลน์ของรัฐบาล” นายสุรยุทธ กล่าว

ขณะที่แหล่งเงินที่ใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู  วงเงิน 1 แสนล้านบาท  (โครงการใช้เวลาเฉลี่ย 3.5 ปี) ใช้เงินลงทุนปีละ 2.6-3.2 หมื่นล้านบาท แหล่งเงินจะมาจากเงินกู้ซินดิเคตโลน 6.64 หมื่นล้านบาท  เป็นการปล่อยกู้ร่วมระหว่าง 3 ธนาคารพาณิชย์ไทย คือ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ในสัดส่วนเท่ากัน  และส่วนของผู้ถือหุ้นหรือส่วนทุนอีกจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้หากรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายสามารถส่งมอบและให้บริการเต็มรูปแบบได้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 จะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐปีละ 4,700 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,372 วันที่ 7-9 มิ.ย. 2561

e-book-1-503x62-7