ทางออกนอกตำรา : ถึงคราวเทศกาลรีดภาษี ไล่ ‘ถอนขนห่าน’ จะบานสะพรั่ง

05 มิ.ย. 2561 | 12:57 น.
1254545 สะดุ้งเฮือกกันไปตามๆ กัน เมื่อ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร คนใหม่ไฟแรง ออกมาประกาศว่าจะนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในกระบวนการทำงาน กระบวนการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่บรรดาผู้ประกอบการเมืองไทย และบรรดามนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ทั้งหลายจะต้องเงี่ยหูฟัง และเกาะติด เพราะเรื่องภาษีเป็นเรื่องที่หนีไม่ได้เสียด้วย

ผมพาทุกท่านมาพิจารณาคำประกาศทางนโยบายของอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ ที่เป็นอนาคตของประเทศไทย คุณเอกนิติบอกว่า นโยบายการทำงานของสรรพากรหลังจากนี้ไป ตั้งใจจะยกระดับและปรับเปลี่ยนให้เป็นสรรพากรดิจิตอล การนำดาต้าสารสนเทศมาใช้จะช่วยเพิ่มฐานการจัดเก็บภาษี โดยการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นๆ เพื่อช่วยตรวจสอบการเสียภาษีได้ง่ายมากขึ้น จากปัจจุบันสรรพากรมีการเชื่อมโยงข้อมูลรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ เช่น การจ่ายค่านํ้า ค่าไฟต่างๆ

[caption id="attachment_287384" align="aligncenter" width="503"] เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ[/caption]

นับจากนี้ไปจะมีการจับมือกับพันธมิตรอื่นๆ เช่น สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ เพื่อเชื่อมโยงนำดาต้าจากพันธมิตรเหล่านี้เพื่อใช้ฐานข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การพิสูจน์รายได้ที่แท้จริง ซึ่งคาดว่าจะเห็นการนำระบบดาต้ามาใช้กับการจัดการภาษีที่สมบูรณ์ภายใน 1 ปี หลังจากนี้ไป

“ไม่เพียงแค่การนำ data analytics มาใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษีเท่านั้น แต่สรรพากรตั้งเป้าจะนำ AI มาใช้วิเคราะห์ และติดตาม ตรวจสอบภาษีในอนาคตด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้สรรพากรสามารถมีข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น และรู้ได้ทันทีว่าคนไหนเสียภาษีถูกต้อง และคนไหนตั้งใจหลบเลี่ยงภาษี เพื่อนำกลุ่มนี้มาจัดการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำระบบ AI เข้ามาช่วยบริหารภาษีได้ภายในปี 2563”

อธิบดีกรมสรรพากรบอกว่า การมีดาต้า และ AI จะเข้ามาช่วยยกระดับการจัดเก็บภาษีให้กับประเทศได้ คนไม่ดีต้องจัดการให้เด็ดขาด ต้องลงโทษตามกฎหมายไม่มียกเว้น

ถ้าทำได้ตามที่ประกาศไว้ ต้องบอกว่าใครเลี่ยงภาษีเป็นเจอดีแน่ เพราะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นหนึ่งใน Mega trends ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เนื่องจาก AI เป็นความรู้ความฉลาดที่สร้างขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต รวบรวมและจัดใส่ข้อมูลซอฟต์แวร์หลากหลายระบบ เช่น โปรแกรม Machine Learning โปรแกรมประมวลผลภาษามนุษย์ (Natural Language Processing) เป็นต้น
580b585b2edbce24c47b287c โปรแกรมต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยพัฒนาให้ AI สามารถคิดและทำงานในด้านต่างๆ ได้คล้ายหรือมีประสิทธิภาพสูงกว่ามนุษย์ ทั้งในการตัดสินใจ การแก้ปัญหาและการเรียนรู้และการประมวลผล ที่สามารถสกัดจุดอ่อนจากการใช้ดุลพิินิจของมนุษย์ จนนำไปสู่การสร้างอาชีพเทคนิคการเลี่ยงภาษีของนักกฎหมายในปัจจุบัน

นโยบายต่อมาคือ สรรพากรยังสนับสนุนให้คนยื่นภาษี ทำบัญชีชุดเดียว เพราะที่ผ่านมามีกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าตั้งแต่ มกราคม 2562 ผู้ประกอบการต้องทำบัญชีชุดเดียวกันในการยื่นเสียภาษี และยื่นขอสินเชื่อแบงก์ ซึ่งสรรพากรจะร่วมมือและทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น สภาวิชาชีพทางบัญชี ผู้สอบบัญชีทั้งหลาย เพื่อทำให้การจัดเก็บภาษี มีประสิทธิภาพขึ้น ห้ามใครช่วยผู้ประกอบการเลี่ยงภาษี ด้วยการคัดผู้ตรวจสอบบัญชีที่ดีและไม่ดี ใครเป็นกลุ่มที่ช่วยเลี่ยงภาษี สรรพากรก็จะเอาผิดเช่นเดียวกัน

สุดท้าย จะมีการแก้กฎหมายขยายฐานภาษี เช่น การเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ เพื่อเก็บภาษีผู้ประกอบการต่างประเทศ ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยแต่ไม่เสียภาษี ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศที่เสียภาษีถูกต้องเสียที

ผมอ่านนัยจากนโยบายแล้วบอกได้คำเดียวว่า เสียวแทนผู้ประกอบการ และบุคคลธรรมดาที่มีรายได้และไม่ได้จ่ายภาษีอย่างถูกต้อง เอาจริงๆ เพราะถ้าทำได้ภาระจะเพิ่มขึ้นทันที เพราะถึงตอนนี้ผมทราบว่าอธิบดีหนุ่มไฟแรงสั่งการทางนโยบายลงไปยังสรรพากรกว่า 15,000 คน ให้เข้มในเรื่องจัดเก็บรายได้แล้ว
1757dbb71fd1829 บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ในฐานภาษีจริงแค่ 10 ล้านคน จากคนในระบบแรงงาน 30 ล้านคน มีผู้เสียภาษีนิติบุคคลอยู่ 6 แสนราย จากผู้ประกอบการเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย เตรียมรับมือไว้ได้ ใครที่เลี่ยงภาษีเจอดีแน่...

ถามว่าอะไรที่ทำให้อธิบดีหนุ่มของสรรพากรมาติดเครื่องลุยการรีดรายได้เข้ารัฐ ก็เพราะรายจ่ายรัฐบาลมากขึ้นทุกปี แต่ดูเหมือนการจัดเก็บภาษีจะหดหายลงไปทุกปีเช่นกัน โดยหากย้อนหลังไปจะพบว่า มีเพียงปีงบประมาณ 2554 เท่านั้นที่การเก็บภาษีของรัฐบาลได้เกินเป้าหมาย 2.3 แสนล้านบาท

            นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2561 การเก็บภาษีของรัฐบาลตํ่ากว่าเป้ามาตลอด


            ปีงบประมาณ 2555 เก็บภาษีตํ่ากว่าเป้าหมาย 2.05 แสนล้านบาท


            ปีงบประมาณ 2556 เก็บภาษีได้ตํ่ากว่าเป้าหมาย 9,057 ล้านบาท


            ปีงบประมาณ 2557 เก็บภาษีตํ่ากว่าเป้าหมายสูงถึง 2.64 แสนล้านบาท


            ปีงบประมาณ 2558 การเก็บภาษีก็ยังไม่ดีขึ้นตํ่ากว่าเป้า 2.25 แสนล้านบาท


            ปีงบประมาณ 2559 ยังเก็บภาษีตํ่ากว่าเป้าหมาย 1.24 แสนล้านบาท


            กระทั่งปี 2560 ที่ผ่านมา การเก็บภาษีตํ่ากว่าเป้าหมาย 7.73 หมื่นล้านบาท


            ปีงบประมาณ 2561 ผ่านมาได้แล้ว 7 เดือน การเก็บภาษีก็ยังตํ่ากว่าเป้าหมาย 6,554 ล้านบาท


 นี่จึงเป็นที่มาของการเพิ่มประสิทธิภาพการรีดภาษีไล่ถอนขนห่านอย่างเต็มที่ขึ้นมา...เตรียมตัวไว้ ผมเตือนคุณแล้ว

..................................
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา|โดย...บากบั่น บุญเลิศ | หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3372 ระหว่างวันที่ 7-9 มิ.ย.2561
e-book-1-503x62-7