สรท.ยันเป้าส่งออกทั้งปีขยายตัว 8%ครึ่งปีหลังมีทั้งปัจจัยบวก-ลบ

05 มิ.ย. 2561 | 11:48 น.
สรท. ยันเป้าส่งออกทั้งปียังขยายตัว 8% ครึ่งปีหลังมีทั้งปัจจัยบวกและลบ แนะรัฐส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce ให้ครอบคลุมสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ยังคงเป้าส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ 8% โดยยังคงสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเชื่อว่าในครึ่งปีหลังจะยังมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนให้การส่งออกไทยทั้งปียังขยายตัวตามเป้า ไม่ว่าจะเป็นตลาดคู่ค้าทั้งตลาดหลัก ตลาดรอง และตลาดศักยภาพ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก แนวโน้มราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรกรรมมีแนวโน้มปรับขึ้นตาม

รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มคลี่คลายลงและนโยบายผลักดันการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce ของภาครัฐ เป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยรัฐบาลไทยมีความร่วมมือกับ Alibaba เพื่อเปิดตลาดผู้บริโภคจีน ผ่านโครงการ Thai Flag Ship Store เน้นสินค้าเกษตรนำร่อง ข้าว และทุเรียน โดยล่าสุดมีนโยบายส่งเสริมการค้า e-Commerce ในการเจรจาระดับพหุภาคีด้วย

kanya

สำหรับ การส่งออกเดือนเมษายน 2561 มีมูลค่า 18,946 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 14 ที่ 12.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนเมษายน 2561 มีมูลค่า 20,229 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 20.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี ส่งผลให้ เดือนเมษายน 2561 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 1,283 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 48,659 ล้านบาท

ทั้งนี้การส่งออกของไทยในเดือนเมษายนปี 2561 ถือว่าสูงเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน แซงหน้าเวียดนาม เกิดจากปัจจัยที่พื้นฐานเศรษฐกิจของทั้งประเทศคู่ค้าหลักและรองยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกของไทยสามารถกระจายการขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ ทั้งตลาดหลัก, ตลาดรอง และตลาดศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, อินเดีย, CLMV โดยเฉพาะตลาดจีน ที่กลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ 19.9% หลังจากหดตัวเนื่องจากสถานการณ์ราคายางตกต่ำเป็นเวลานาน

กลุ่มสินค้าเกษตรฯ กลับมาขยายตัวที่ 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดย ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นกลุ่มสินค้าที่ยังคงมีการขยายตัวทั้งในด้านราคาและปริมาณ ยกเว้น ยางพารา ที่มีการหดตัวจากการลดลงของราคายาง และน้ำตาลที่มีปริมาณอุปทานล้นตลาด และราคาตกต่ำ ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ยังคงขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ที่ 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติก

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

สำหรับปัจจัยลบต่อการส่งออกไทยในครึ่งปีหลัง เช่น ความผันผวนของค่าเงินบาท สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีแนวโน้มคลี่คลายลง หากแต่ทั้งสองต่างตกลงที่จะนำเข้าสินค้าจากฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเพื่อเป็นการลดการขาดดุลทางการค้า เป็นผลกระทบทางอ้อมที่จีนหรือสหรัฐฯ จะนำเข้าสินค้าจากไทยน้อยลงในฐานะห่วงโซ่อุปทาน ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันและราคาก๊าซหุงต้มปรับตัวขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น และมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ เป็นต้น

“ภาครัฐควรส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce ให้ครอบคลุมสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตามฤดูกาลมากขึ้น หลังจากสามารถเพิ่มยอดขายและราคาให้ข้าวและทุเรียนได้ ทั้งนี้ ควรติดตาม เฝ้าระวังและควบคุม มาตรฐานและเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจส่งผลมาจากการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อปรับดุลการค้า โดยใช้โอกาสหาช่องทางดันผลักดันการส่งออกสินค้าไทยเข้าไปทดแทนในตลาดคู่ค้าหลักทั้งสองประเทศ และหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนรวมถึงติดตามมาตรการกีดกันทางการค้า ในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น”

e-book-1-503x62-7