‘บีโอไอ’โรดโชว์ดึงทุนอียู ตั้งศูนย์เอ็มอาร์โอหมื่นล้านผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน

11 มิ.ย. 2561 | 07:12 น.
บีโอไอ เร่งทำโรดโชว์ดึงนักลงทุนจากสหภาพยุโรป ลงพื้นที่อีอีซี หลังพ.ร.บ.อีอีซี มีผลบังคับใช้ ชี้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น คาดภายในสิ้นปีนี้ดึงกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานได้อีก 3 ราย มูลค่าเงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาทตั้งศูนย์เอ็มอาร์โอ

นางสาวรัชนี วัฒนวิศิษฏพร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน นครแฟรงก์เฟิร์ต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ประจำนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้แล้ว ทางสำนักงานใหญ่บีโอไอ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานบีโอไอที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เร่งเชิญชวนนักลงทุนหรือโรดโชว์ให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี

โดยที่ผ่านมาบีโอไอ ประจำนครแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งดูแลใน 9 ประเทศ ในแถบสหภาพยุโรปได้จัดโรดโชว์ชี้แจงในรายละเอียดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจัดขึ้นมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนต่างให้ความสนใจและมองไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน จากการมียุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เน้นการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในรูปแบบคลัสเตอร์มากขึ้น ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินไปทิศทางไหน โดยชื่นชมนโยบายการพัฒนาอีอีซีที่เกิดขึ้น จากการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่มีมากขึ้น ไม่ว่าการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 13-15 ปี เป็นต้น

[caption id="attachment_287129" align="aligncenter" width="408"] รัชนี วัฒนวิศิษฏพร รัชนี วัฒนวิศิษฏพร[/caption]

สำหรับความสนใจของนักลงทุนในยุโรปที่จะมาลงทุนนั้นจะครอบคลุมอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ที่มาแรงจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน ที่มีแนวโน้มจะมาลงทุนจริงประมาณ 4 ราย  เป็นการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ)ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จากเยอรมนี 2 ราย และจากเนเธอร์แลนด์ 1 ราย รวมถึงจากสาธารณรัฐเช็ก 1 ราย ซึ่งได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอผลิตชิ้นส่วนอากาศยานแล้ว มูลค่าการลงทุนราว 35 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมพิเศษนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จังหวัดชลบุรี เป็นการเริ่มลงทุนในขนาดเล็กก่อน และมีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

รวมถึงค่ายรถยนต์ของเยอรมนี มีความสนใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่อีอีซี อย่างบริษัท บีเอ็มดับเบิลยูฯ และอยู่ระหว่างเชิญชวนบริษัท โฟล์คสวาเกนฯ มาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตด้วย ในขณะที่นักลงทุนอังกฤษจะมีความสนใจลงทุนด้านพลังงานทดแทน เป็นหลัก

สำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์เอ็มอาร์โอนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปและยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอได้ภายในปีนี้ หากรวมทั้ง 4 รายนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

นางสาวรัชนี กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการทำโรดโชว์ในแถบประเทศสหภาพยุโรป จะยังดำเนินการต่อเนื่องทั้งปี โดยในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการจัดขึ้นอีก 3 ครั้ง ใน 9 ประเทศ ซึ่งจะเป็นการเจาะกลุ่มนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงานทดแทน รวมถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

โดยที่ผ่านมานักลงทุนของเยอรมนีที่ให้ความสนใจลงทุนในไทย จะเป็นการขยายการลงทุนของรายเดิมในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยต์ เช่น บริษัท  คอนติเนนทอล ของเยอรมนี ได้ขยายการลงทุนผลิตยางรถยนต์ ในโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดระยอง มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาทไปแล้ว

ทั้งนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนจากอียู เช่น เนเธอร์แลนด์ ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 28 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.58 หมื่นล้านบาท หรืออันดับ 5 จากนักลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ไตรมาสแรกของปีนี้ นักลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเป็นอันดับ 4 จำนวน 11 โครงการ เงินลงทุนรวม 2,408 ล้านบาท และจากสวีเดน เป็นอันดับ 9 จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 494 ล้านบาท

              หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38ฉบับ 3,372 ระหว่างวันที่ 7 - 9 มิ.ย. 2561 e-book-1-503x62-7