เทงบ! รับร้านอาหารบูม แบรนด์ดังแห่ขยายสาขา-พัฒนาสินค้าใหม่

14 มิ.ย. 2561 | 06:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บิ๊กเนมเด้งรับ 5 ปัจจัยบวกดันธุรกิจอาหาร-ร้านอาหารครึ่งปีหลังคึกคัก เตรียมแผนลงทุนขยายสาขาเพิ่ม พัฒนาสินค้าใหม่ “เอ็มเค” เทงบกว่า 600 ล้านปูพรมร้านในเครือเพิ่มกว่า 50% “PFP” มั่นใจการเมืองนิ่ง ท้องถิ่นเงินสะพัดพรึบ

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สคช. เผยถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 1 ปี 2561 มีการขยายตัว 4.8% สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาสหรือ 5 ปี เป็นผลมาจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล การลงทุนรวม การส่งออกสินค้าและบริการ ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่จะส่งต่อไปยังครึ่งปีหลัง ทำให้การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัว เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหารซึ่งมีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมอาหารถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมี 5 สัญญาณบวกที่เชื่อว่าจะผลักดันให้ธุรกิจมีการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการประกาศวันเลือกตั้ง, เทรนด์การดูแลสุขภาพ, กำลังซื้อที่ฟื้นตัว, การทำตลาด-โปรโมชันที่ดุเดือด  และการเข้ามาของแบรนด์ใหม่ทั้งจากผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ

mp36-3372-1-w นายสมชาย หาญจิตต์เกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจอาหารในครึ่งปีหลังนับจากนี้ประเมินว่าจะมีการเติบโตมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากสัญญาณกำลังซื้อของประชาชนเริ่มกลับมาอีกครั้ง มีการจับจ่ายและรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น หลังผ่านไตรมาส 1 มีสัญญาณที่เป็นบวกพบว่ามีการเติบโต 30% และการเติบโตของสาขาเดิมในช่วง 5 เดือนเพิ่มขึ้น 2% เป็นการเติบโตที่ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

“ในทุกๆปีที่ผ่านมาสามารถสังเกตแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังได้จากการเติบโตของสาขาเดิม ซึ่งหากไตรมาส 1 สามารถเติบโตได้เป็นบวกแล้วในช่วงที่เหลือของปีแน่นอนว่าภาพรวมจะสดใสอย่างแน่นอน”

[caption id="attachment_289768" align="aligncenter" width="285"] สมชาย หาญจิตต์เกษม สมชาย หาญจิตต์เกษม[/caption]

ขณะที่การประกาศวันเลือกตั้งที่จะมีขึ้นน่าจะส่งผลให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยกลับมาคึกคักอีกครั้ง แม้จะมีเรื่องค่านํ้ามันและก๊าซที่เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนของบริษัทยังไม่มีการเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อ-ขายวัตถุดิบเป็นปีอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะมีบางรายที่ได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นและรอดูทิศทางตลาดในระยะยาว ขณะที่เรื่องปัญหาเงินเฟ้ออาจจะมีกระทบบ้างเล็กน้อยแต่ไม่ได้ส่งผลไปยังผู้บริโภคแน่นอน โดยเอ็มเคเตรียมใช้งบลงทุนกว่า 600 ล้านบาทสำหรับขยายสาขาเพิ่มทั้งหมด 49 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายสาขาใหม่ 30 แห่ง ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วย

ขณะที่นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี.ฯ ผู้นำผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งภายใต้แบรนด์พีเอฟพี หรือ PFP กล่าวว่า สัญญาณทางด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อหลายอย่างเริ่มฟื้นตัว รวมไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมองว่าจะดีขึ้นอย่างแน่นอน 100% หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดีนัก โดยมีปัจจัยบวกมาจากการประกาศเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินสะพัดในท้องถิ่น ขั้นตอนการเริ่มต้นปูฐานเสียงของนักการเมืองที่จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในท้องถิ่นคึกคักมากขึ้น ขณะที่เรื่องราคาข้าวที่สูงขึ้นก็จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อภาคเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น

[caption id="attachment_289769" align="aligncenter" width="503"] ทวี ปิยะพัฒนา ทวี ปิยะพัฒนา[/caption]

สำหรับแผนงานของบริษัทนับจากนี้ (2561-2562) จะใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท แบ่งเป็น เงิน 200 ล้านบาท ใช้ขยายเครื่องจักร และอีก 200 ล้านบาท สำหรับร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นสร้างโรงงานปลาป่นคุณภาพสูงในประเทศมาเลเซียซึ่งใกล้แหล่งวัตถุดิบ พร้อมกันนี้ยังมองหาโอกาสเติบโตทางธุรกิจใหม่ๆทั้งกลุ่มอาหารสุขภาพที่กำลังเป็นเทรนด์ในขณะนี้ และอีกหนึ่งธุรกิจที่บริษัทกำลังพิจารณาและมีความต้องการอยากขยายไลน์สินค้าไปอย่างมากคือธุรกิจอาหารอิสลาม (ฮาลาล) เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ในกระบวนการเครื่องจักร หรือเงินลงทุนนั้นบริษัทมีความพร้อมเป็นอย่างมากอยู่แล้วขาดก็เพียงแค่บุคลากรที่พร้อมดำเนินงานที่ต้องใช้เวลาและขั้นตอนในการจัด หาบุคลากรที่เหมาะสมเสียก่อน

ด้านนายจอน อิริค สทีนสลิด ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ว่าจะมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารเมืองไทยและตลาดปลาแซลมอนนำเข้าครึ่งปีหลังยังมีโอกาสเติบโตอยู่มาก โดยมี 3 ปัจจัยบวก ได้แก่ 1.คนไทยมีความรักสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพหรือเทรนด์การนำเข้าอาหารสดจากต่างประเทศยังได้รับความนิยม 2.เทรนด์การรับประทานปลาแซลมอนในไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมองว่าเป็นอาหารที่ไม่ทำลายสุขภาพ 3.การเติบโตของร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย การจัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย และการเข้ามาของแบรนด์ใหม่ๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทตั้งเป้าการเติบโตการนำเข้าปลาแซล มอนในไทยปีนี้ที่ 20% จากปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยนำเข้าสินค้าอาหาร ทะเล หรือ ซีฟูด จากประเทศนอร์เวย์ รวมประมาณ 2.6 หมื่นตัน แบ่งเป็นกลุ่มปลาแซลมอน 1.3 หมื่นตัน ซึ่งเติบโตในแง่ปริมาณ 7% และเติบโตในแง่มูลค่าประมาณ 17% อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีนี้ ปริมาณนำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์ในไทยจะโต 5-10%

...........................................................

หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3372 ระหว่างวันที่ 7-9 มิ.ย.61

e-book-1-503x62