ระบบราชการไทย อุปสรรคประชารัฐขับเคลื่อนท่องเที่ยว

07 มิ.ย. 2561 | 06:44 น.
การทำงานของคณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ (คณะทำงานสานพลังประชารัฐ D3) ซึ่งมีแกนนำภาครัฐบาล เอกชนและสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวร่วมเป็นคณะทำงาน ยังเหลืออีกหลายโครงการที่อยากจะผลักดันให้เกิดขึ้น ก่อนคณะทำงานจะหมดวาระในปีหน้าพร้อมกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน อ่านได้จากสัมภาษณ์นายชนินทธ์ โทณวณิก หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานสานพลังประชารัฐ D3

589199666

 

3หลักยึดเดินหน้าโครงการ

จากความสำคัญด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น คณะทำงานสานพลังประชารัฐ D3  จึงเน้นการทำงานที่ต้องการให้การท่องเที่ยว ช่วยยกระดับรายได้, กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวไทย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นเราจึงพยายามทำโครงการสำคัญต่างๆ ให้เกิดขึ้นภายใต้ 3 หลักยึด ได้แก่ 1. การลดความเหลื่อมลํ้า ได้แก่ โครงการ อะเมซิ่ง ไทย เทสต์, โครงการเนรมิตอยุธยา, ทัวร์ริมโขง 2. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การส่งเสริมธุรกิจไมซ์, การผลักดันให้ไทยเป็นช็อปปิ้ง พาราไดซ์, ดิจิตอล ทัวริซึม แพลตฟอร์ม, การยกเลิกใบตม.6, อะเมซิ่ง ไทย โฮสต์ และ  3. การพัฒนาคน เช่น การศึกษาด้านการท่องเที่ยวและบริการ

ทั้งนี้การทำงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่ารัฐบาลอยากให้เราทำหลายอย่าง และมองว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ดีขึ้น แต่พอเราไปเจอระบบราชการ ก็เกิดปัญหา โดยระบบราชการไม่ยอมเปลี่ยนอะไรง่ายๆ ทำให้หลายโครงการที่จะผลักดันต้องติดปัญหา และต้องใช้เวลานานในการทำโครง การไปอย่างน่าเสียดาย แต่เราก็พยายามที่จะทำอะไรให้ได้มากที่ สุดภายใต้ระยะเวลาที่เราเหลืออยู่

โดยที่เราทำไปแล้ว อย่างโครงการอะเมซิ่ง ไทย เทสต์ ส่งเสริมอาหารไทยผ่านนักท่องเที่ยว กว่า 30 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทย ที่ในแต่ละปีประเทศมีรายได้จากการใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวกว่า 4-5 แสนล้านบาท และเชื่อว่าในอีก 2 ปีนี้น่าจะเพิ่มเป็น 7 แสนล้านบาทได้ ซึ่งการทำงานที่ผ่านมา ก็ได้รับการตอบรับที่ดี

ขณะเดียวกับการส่งเสริม ธุรกิจไมซ์ ก็เป็นสิ่งที่เรามอง ขณะนี้มีการแบ่งการจัดประชุมในไทยออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ระดับนานาชาติ 2. ระดับประเทศ และ 3. ระดับท้องถิ่น ที่เน้นทำแผนงานออกมาในแต่ละด้านเพิ่มขึ้น อย่างน้อยเพื่อให้มีการใช้จ่ายเงินในประเทศมากขึ้น ซึ่งปีหนึ่งมีการจัดประชุมในไทยร่วม 6 หมื่นครั้ง เราก็อยากให้มีการจัดงานมากขึ้นและให้งานมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น

รวมถึงการผลักดันให้ยกเลิกการกรอกใบตม.6 โดยที่ผ่านมาเราใช้เวลากว่า 1 ปีครึ่ง ไปหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในหลักการกระทรวงมหาดไทยเห็นด้วย ใช้เวลาอยู่นาน พอตำรวจตรวจคนเข้าเมืองยอม มาอีกทีกระทรวงการท่องเที่ยวฯบอกไม่เอาอีกแล้ว ท้ายสุดก็ได้มาเพียงส่วนหนึ่ง คือ ยอมให้คนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศไม่ต้องกรอกใบตม.6  ในอนาคตก็หวังว่าชาวต่างประเทศ ก็ไม่ต้องใช้ใบตม.6 เพราะวันนี้มีบันทึกอยู่แล้วว่านักท่องเที่ยวเข้าไทยจะไปไหนพักที่ไหน ซึ่งถ้าทำ ได้ก็จะลดการใช้กระดาษ ประหยัดเวลาในการตรวจคนเข้าเมือง mp22-3372a-forweb
ราชการทำโครงการช้า

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการผลักดัน อย่างที่ผ่านมาเราพยายามทำให้ไทยเป็นช็อปปิ้งพาราไดซ์ แต่พอไปแตะเรื่องของการลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ก็เด้งหมด เลยต้องถอยออกมา และเสนอในสิ่งที่สเกลเล็กลงมานิดหนึ่งก่อน อย่างการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะทำให้เงินบาทที่คืนให้ไป เกิดการนำมาใช้จ่ายต่อเนื่องภายในประเทศ เหมือนในประเทศญี่ปุ่น ที่จะมีการคืนภาษีเป็นเงินเยน ให้นักท่องเที่ยวมาใช้ต่อ ซึ่งจะมี 2 สิ่งที่ญี่ปุ่นไม่คืนภาษีให้คือ สินค้าเครื่องสำอางและอาหาร

เราคาดหวังว่าการคืนภาษีในเมืองของไทยน่าจะมีการประกาศเร็วๆ นี้ เนื่องจากรัฐบาลเห็นชอบในหลักการ ที่จะเป็นโครงการทดลอง 6 เดือน และขณะนี้เราจะขยายจุดดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์ จากเดิมที่วางไว้ 5 แห่งเพิ่มเป็น 8-10 แห่งตามความต้องการครั้งล่าสุดของกรมสรรพากร

รุกดิจิตอล ทัวริซึม

รวมไปถึงการผลักดันให้เกิดดิจิตอล ทัวริซึม แพลตฟอร์ม ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ที่จะเป็นการรวบรวมระบบการจองด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ทราเวลเอเยนต์ ร้านค้า ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้อยู่รอดได้

การผลักดันโครงการเนรมิตอยุธยา ซึ่งเราคำนวณว่าการลงทุนในพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ ที่น่าจะอยู่ที่ราว 8-9 พันล้านบาท แต่รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มเป็น 4 แสนล้านบาท แต่โครงการนี้ถ้าผ่านขั้นตอนราชการก็คงไม่ได้ เพราะใช้เวลากว่า 3 ปี แต่เราก็หวังว่าถ้าตุ๊กตาเนรมิตอยุธยาทำได้ เราก็จะได้วิธีการใหม่ในการบริหารแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของไทยอื่นๆ อย่าง ศรีสัชนาลัย สุโขทัย นครศรีธรรมราช ให้เกิดความยั่งยืนได้ต่อไป

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

หนุนทัวร์ริมโขงช่วยอีสาน

ทั้งยังมองถึงการส่งเสริมโครงการทัวร์ริมโขง ที่จะผลักดันการท่องเที่ยวของอีสาน ซึ่งรัฐบาลอนุมัติในหลักการเชื่อมโยงเส้นทางเที่ยว 8-9 จังหวัดในอีสาน เชื่อมโยงกับลาวและกัมพูชา  ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวการทำเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของอีสาน ที่มีปัญหาแหล่งท่องเที่ยวที่ไกลกัน ทำให้อีสานมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นเพียง 3% ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมดหรืออยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

อีกโครงการคือ โครงการ อะเมซิ่ง ไทย โฮสต์ ที่รัฐบาลก็เห็นด้วยที่อยากให้เราจ้างแรงงานผู้สูงอายุ ในภาคการท่องเที่ยว แต่ก็ไปติดขัดกับระบบข้าราชการ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯไม่มีงบ ต้องโยนไปให้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็มีปัญหาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัดก็เห็นด้วย บางจังหวัดไม่เห็นด้วย ก็เลยช้า ซึ่งจริงๆหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ควรจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามากกว่า

สุดท้ายเป็นเรื่องของการขยายสนามบินหลักต่างๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็น สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และการสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งคณะทำงานอยากเร่งรัดให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะหากต้องรอตามแผนที่ทอท.ดำเนินการต้องรอถึง 10 ปี ซึ่งนานเกินไปต่อดีมานด์การขยายตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งทางนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็เข้าใจและพยายามจะไปเร่งรัดให้ เพราะสิ่งเดียวที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะไม่โตเท่าที่ควร คือ ข้อจำกัดในการรองรับของสนามบิน

ทั้งหมดล้วนเป็นการขับเคลื่อนการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ที่เกิดขึ้น  ของคณะทำงานสานพลังประชารัฐ D3 ที่เกิดขึ้น

                 หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3372 ระหว่างวันที่ 7 - 9 มิ.ย. 2561 e-book-1-503x62