ธุรกิจรพ.เอกชนโอกาสขยายฐานลูกค้าMedical Tourismสู่นักท่องเที่ยวจีน

04 มิ.ย. 2561 | 11:22 น.
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนปี’61โอกาสขยายฐานลูกค้า Medical Tourism สู่ตลาดนักท่องเที่ยวจีน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2561 ตลาดคนไข้ในประเทศยังคงถูกกดดันจากปัญหากำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวทั่วถึง ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นตลาดคนไทยเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี จากจำนวนผู้สูงอายุไทยยังคงเพิ่มขึ้น จึงกลายเป็นโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มดังกล่าว แต่เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงนัก ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะตลาดผู้สูงอายุจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย

lo-ktb

ขณะที่ ตลาดคนไข้ต่างชาติยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่จับตลาดคนไข้ต่างชาติ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปี 2561 จะมีคนไข้ชาวต่างชาติมาใช้บริการรักษาพยาบาลประมาณ 3.42 ล้านครั้ง โดยกลุ่มคนไข้ชาวเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น เมียนมาและจีน จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นทดแทนกลุ่มคนไข้ตะวันออกกลางที่มีบทบาทลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย ประกอบกับแนวโน้มของคนจีนที่เดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยมีโอกาสขยายตลาด Medical Tourism ไปยังกลุ่มลูกค้าจีนมากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการในเรื่องของความงาม (Beauty) ที่คนจีนให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยเองก็ค่อนข้างมีศักยภาพในการแข่งขัน เช่น ศัลยกรรมความงามบนใบหน้า ภาวะมีบุตรยาก รวมถึงบริการที่ไม่ซับซ้อน เช่น ทันตกรรม เวชศาสตร์ชะลอวัย หรือแม้แต่ตรวจสุขภาพ แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยก็อาจจะต้องเผชิญการแข่งขันกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่ม Medical Tourism ชาวจีนเช่นกัน

kasi

คาดว่า ปี 2561 รายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากลูกค้าคนไทย น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 7-9 (YoY) ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากฐานรายได้ที่ยังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลที่จับกลุ่มลูกค้าระดับบน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่คนไข้ยังต้องการความสะดวกรวดเร็วในการรักษาพยาบาล ทำให้คนไข้ทั้งที่ชำระเงินเองและมีประกันสุขภาพเลือกใช้บริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก หรือมีค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน วงเงินที่ทางบริษัทประกันกำหนด

ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนที่จับลูกค้าคนไทย ที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางบนยังมีอัตราการเติบโตดี ด้วยสภาพตลาดคนไข้ในประเทศที่มีแนวโน้มแข่งขันสูง ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะที่พึ่งพาสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าคนไทย และเน้นจับตลาดชนชั้นกลางคงต้องหันมาใช้กลยุทธ์เพิ่มเติมเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การมองหาตลาดใหม่โดยเฉพาะการเจาะตลาดผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือ ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่มีกำลังซื้อไม่สูง หรือมีข้อจำกัดทางด้านรายได้

ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะตลาดผู้สูงอายุ จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนน่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางขึ้นไป หรือมีรายได้ตั้งแต่ 100,000 บาทต่อปีขึ้นไป (ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายจากการช่วยเหลือของบุตรหลาน) ซึ่งคาดว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ยังต้องการความสะดวกสบาย ความรวดเร็วในการเข้าใช้บริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน แต่อาจจะเลือกกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สูงเกินไป

kasi1

ขณะที่ โรงพยาบาลที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับบน รายได้รวมของโรงพยาบาลกลุ่มนี้ยังถูกขับเคลื่อนจาก คนไข้ต่างชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 6-8 (YoY) ในปี 2561 แต่เป็นที่สังเกตว่า รายได้จากกลุ่มคนไข้ตะวันออกกลาง เริ่มมีบทบาทลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2559 อันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายรักษาพยาบาลภายในประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อรองรับหรือจูงใจให้คนในประเทศหันมาใช้บริการมากขึ้น

อย่างไรก็ดี คาดว่ายังมีรายได้จากลูกค้าในกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเอเชียที่ยังมีแนวโน้มเติบโต ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เมียนมา กัมพูชาและจีน รวมถึงสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ซึ่งเข้ามาชดเชยรายได้จากลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลางที่หายไป และยังคงทำให้รายได้รวมของโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นจับตลาดคนไข้ต่างชาติยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ โดยปี 2561 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จะมีคนไข้ชาวต่างชาติมาใช้บริการรักษาพยาบาลประมาณ 3.42 ล้านครั้ง แบ่งเป็น Medical Tourism ประมาณ 2.5 ล้านครั้ง และกลุ่ม EXPAT ประมาณ 9.2 แสนครั้ง

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

Medical Tourism ชาวจีน ... โอกาสในการขยายฐานลูกค้าของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย ประกอบกับแนวโน้มของคนจีนที่เดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เน้นจับกลุ่มคนไข้ต่างชาติมีโอกาสขยายตลาด Medical Tourism ไปยังกลุ่มลูกค้าจีนมากขึ้น จากสัญญาณการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของคนจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 10.4-10.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.1-8.2 (YoY) สะท้อนให้เห็นว่าตลาดจีนน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพของไทย มีความคุ้นเคยหรือชื่นชอบกับบรรยากาศและสถานที่ท่องเที่ยวของไทย รวมถึงอาหารและแหล่งช็อปปิ้งต่างๆ อีกทั้งการบริการทางการแพทย์ของไทยก็ค่อนข้างมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพและการรักษาที่ได้มาตรฐานสากล คุ้มค่าคุ้มราคา ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยที่จะขยายตลาด Medical Tourism ไปยังลูกค้ากลุ่มนี้ได้ โดยปัจจัยหนุนสำคัญที่น่าสนใจ คือ
kasi2 สัดส่วนของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจีน (Medical Tourism) เทียบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ที่เดินทางมาไทยยังไม่สูงนัก ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยยังมีโอกาสในการทำตลาดเพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเพิ่ม ในขณะที่ ถ้าพิจารณาสัดส่วนของกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลางกลับพบว่า มีโอกาสในการขยายตลาดลดลง เนื่องจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการปรับเปลี่ยนนโยบายรักษาพยาบาลภายในประเทศ

การให้บริการทางการแพทย์ในประเทศจีน มีไม่เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปขยายการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลในจีนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ คนไข้ต้องใช้เวลาในการรอรับบริการนานและแออัด อีกทั้งมีเวลาในการพูดคุยกับแพทย์น้อย เนื่องจากมีคิวที่รออีกจำนวนมาก ส่งผลให้คนจีนที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงจนถึงคนที่มีฐานะร่ำรวยนิยมเดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศ เพื่อต้องการความสะดวกรวดเร็วและการบริการที่ดีกว่า

คนจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น สะท้อนได้จากปี 2559 กลุ่ม Medical Tourism คนจีน ที่เดินทางไปท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยังประเทศต่างๆ มีจำนวนกว่า 500,000 ราย หรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าของปีก่อนหน้า และจากกระแส Medical Tourism ของคนจีนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเช่นกัน

kasi3

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดลูกค้า Medical Tourism ชาวจีนจะมีแนวโน้มขยายตัวอีกมาก และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย แต่ไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งที่สำคัญอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย อีกทั้งการจะขยายตลาด Medical Tourism ได้นั้น อาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานในการรักษาพยาบาลให้กับคนจีนเชื่อถือหรือมั่นใจ จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่า ในปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยว Medical Tourism ชาวจีนเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีประมาณ 630,000-650,000 ราย ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 40,000 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.0 เท่านั้น ที่เดินทางมาประเทศไทย โดยกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจและเป็นโอกาสคือ

1. กลุ่มลูกค้าที่มีภาวะมีบุตรยาก จากการที่รัฐบาลจีนประกาศให้ประชากรมีบุตรคนที่ 2 ได้ และมีคู่สมรสชาวจีนกว่า 90 ล้านคู่ที่ต้องการมีบุตรคนที่ 2 โดยเฉพาะคนที่มีภาวะมีบุตรยาก ซึ่งเดิมทีไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศปลายทาง ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชาวจีนเลือกเดินทางเข้ามารับการรักษาหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว จึงนับเป็นโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยที่จะเจาะตลาดลูกค้าเซ็กเมนต์ใหม่กลุ่มนี้

kasi4

2. กลุ่มลูกค้าที่เน้นการดูแลด้านความงาม จากกระแสความงาม (Beauty) ของคนจีนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากการผ่าตัดศัลยกรรมบนใบหน้าแล้ว ยังมีบริการด้านความงามอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นบริการทางการแพทย์ที่ไม่ซับซ้อน เช่น ทันตกรรม (Dental) การดูแลผิวพรรณ เวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-aging) หรือแม้แต่การดูแลสุขภาพเชิงบำบัดต่างๆ (Wellness) เช่น ตรวจสุขภาพ การฟื้นฟูหรือพักฟื้นสุขภาพร่างกายในกลุ่มผู้สูงอายุ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน และน่าจะเป็นโอกาสในการเจาะตลาดของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า หากผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปรับกลยุทธ์และเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าจีนได้โดยเร็ว หรือพัฒนาจุดแข็งที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ก็น่าจะทำให้สัดส่วนของกลุ่ม Medical Tourism ชาวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอาจจะมีโอกาสขยายตลาดไปสู่บริการทางการแพทย์อื่นๆ เช่น โรคที่ซับซ้อนหรือรุนแรงขึ้น ที่ไทยมีชื่อเสียง เช่น ผ่าตัดหัวใจ ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เป็นต้น

e-book-1-503x62