ท่าเรือแหลมฉบังฟังความเห็นเอกชนรอบ 2 รุกเดินหน้าหาผู้ลงทุนเฟส3

04 มิ.ย. 2561 | 07:52 น.
ท่าเรือแหลมฉบังจัดรับฟังความเห็นเอกชนรอบ 2 เดินหน้าหาผู้ลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เพิ่มศักยภาพขนส่งทางน้ำรองรับ EEC

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ว่าในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับรายละเอียดการพัฒนาโครงการ ความเสี่ยงของโครงการ และรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน รวมทั้งการจัดสรรหน้าที่และความรับผิดชอบ สิทธิประโยชน์ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมสัมมนา

ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็น 1 ในโครงการที่รัฐบาลเร่งให้ขับเคลื่อนให้สำเร็จเป็นรูปธรรมในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) เพราะเป็นที่ทราบดีว่าการขนส่งสินค้าทางน้ำมีต้นทุนต่ำที่สุด รองลงมาคือ ระบบรางและถนน โดยการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการไปสู่ความสำเร็จและลุล่วงตามวัตถุประสงค์ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

kob1

ทั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้กำหนดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน จำนวน 3 ครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการร่วมลงทุนที่เหมาะสมที่สุด โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ได้นำเสนอข้อมูล นโยบาย และแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 และความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งพบว่านักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชน 95% เชื่อว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 มีความต้องการใช้ระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบกึ่งอัตโนมัติเข้ามาดำเนินการในช่วงแรก

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชนที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุน 92% และเห็นด้วยกับแผนแม่บทในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ถึง 93% ทั้งนี้ 50% ของนักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชนให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนในท่าเรือสินค้า รองลงมาคือ ท่าเรืออเนกประสงค์ 38% และท่าเรือขนส่งสินค้ายานยนต์ 12% ในครั้งนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 2 เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเป้าหมายเกี่ยวกับ รายละเอียดในการพัฒนาโครงการ รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณการระหว่าง 95,000 – 105,000 ล้านบาท (เป็นมูลค่าประมาณการเท่านั้น) และนำเสนอการจัดสรรหน้าที่และความรับผิดชอบ สิทธิประโยชน์ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

สำหรับ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยโครงการมีความได้เปรียบทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง และรูปแบบของการดำเนินงาน ที่เป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้า ศูนย์แวะพักตู้สินค้า และภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ระหว่างประเทศในระดับอนุภูมิภาคที่สามารถเอื้ออำนวยให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งจีนตอนใต้ จีนตะวันตก ญี่ปุ่นและอินเดียด้วย นอกจากนี้ โครงการยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการคมนาคมขนส่ง กระจายสินค้า ตลอดจนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชีย

ซึ่งจะเป็นการเสริมศักยภาพการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18.1 ล้านทีอียูต่อปี เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งรถยนต์จาก 2 ล้านค้นต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจาก 7% เป็น 30% ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศจาก 14% ของจีดีพี เหลือ 12% ของจีดีพี ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 250,000 ล้านบาท

e-book-1-503x62