ชูแก้รธน.หาเสียง ไม่ง่ายเหมือน "ปอกกล้วยเข้าปาก"

04 มิ.ย. 2561 | 10:14 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

45265656 ทันทีที่ “พรรคอนาคตใหม่” ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชูแนวคิด “ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2560 ทิ้งทั้งฉบับ” หาเสียงในการเลือกตั้ง มีทั้งเสียงสนับสนุนและกระแสต่อต้านจากบางฝ่าย กลายเป็นประเด็นร้อนที่ พรรคขนาดกลาง พรรคขนาดใหญ่ อย่าง ชาติไทยพัฒนา และ เพื่อไทย ขอโหนกระแสเดินตามเพราะหวั่นตกขบวน
328758 นพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคอนาคตใหม่ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า เป็นสิทธิของพรรคการเมืองที่จะนำเสนอได้ ซึ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิทธิที่จะเสนอและรณรงค์ในการหาเสียงเลือกตั้งได้ อีกทั้งในอดีตช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญก็เป็นประเด็นสำคัญในหลายๆ ประเด็น

[caption id="attachment_286905" align="aligncenter" width="503"] นพดล ปัทมะ นพดล ปัทมะ[/caption]

สำหรับพรรคเพื่อไทยได้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างสมาชิกโดยไม่มีการประชุมพรรค ก็มีความสนใจในประเด็นนี้มาตั้งนานแล้ว ส่วนจะเสนอแก้ไขในเรื่องใดก็ขอเวลาได้ปรึกษาหารือกันให้ตกผลึกก่อนแล้วจะนำเสนออย่างเป็นระบบ

“ในฐานะของสมาชิกพรรคก็คิดว่าเป็นหนึ่งในประเด็นที่พรรคเพื่อไทยจะใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไปอยู่แล้ว” นพดล ระบุ

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ในฐานะที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ไว้ว่า สามารถทำได้ไม่ยากเย็นอะไร...

แต่ก็คง “ไม่ง่าย” ดั่งใจนึก เมื่อในรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา (ม.) 255 ระบุเอาไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ และใน ม.256 ให้ภายใต้บังคับ ม.255 การแก้ไขเพิ่มเติมรธน.ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

[caption id="attachment_286906" align="aligncenter" width="438"] รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก[/caption]

ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ส.ส. หรือจาก ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ญัตติการขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นต้องเสนอเป็นร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ โดยวาระขั้นรับหลักการให้ออกเสียงลงคะแนนใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนแบบเปิดเผยซึ่งต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ในวาระ2 ให้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตราโดยให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ กรณีที่เป็นร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย เมื่อพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดแล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระ 3 ต่อไปได้

การออกเสียงลงคะแนนวาระ 3 นั้นให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็น รธน. มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยจำนวนนี้ต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 20 % ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

เมื่อมีการลงมติเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว ให้รอไว้ 15 วันแล้วจึงนำร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ภป-ระบบเลือกตั้ง ทั้งนี้ ในกรณีร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติม รธน.หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆตามรธน. หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่ หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาล หรือองค์กรอิสระ ไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่ หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติมจึงให้ดำเนินการต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ก่อนนายกฯนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว.หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกันแล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณีว่า ร่างรธน.ดังกล่าวขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจดังกล่าว ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และระหว่างการพิจารณาวินิจฉัย นายกฯจะนำร่างฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ใครจะใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง สามารถชูหรือพูดเพื่อหวังโกยคะแนนเสียงได้ แต่ในทางปฏิบัติมีขั้นตอนยุ่งยากที่ถูกล็อกไว้ให้แก้ไขได้ไม่ง่าย ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเหมือน “ปอกกล้วยเข้าปาก”

.................................
รายงาน :ชูแก้รธน.หาเสียง ไม่ง่ายเหมือน "ปอกกล้วยเข้าปาก" |โดย...ทีมข่าวการเมืองฐานเศรษฐกิจ | ฐานเศรษฐกิจออนไลน์|
e-book-1-503x62