ประธาน ส.อ.ท. ฝากการบ้านรัฐ! ดูแลรายได้ประชากรต่อหัว

04 มิ.ย. 2561 | 06:15 น.
040661-1253

รัฐบาลประกาศความสำเร็จการบริหารจัดการเศรษฐกิจไทย จากการแถลงของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุว่า ดัชนี้ชี้วัดเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นทุกด้าน โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (จีดีพี) ไทยไตรมาสแรกขยายตัว 4.8% สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส การใช้จ่ายครัวเรือนโต 3.6% , การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว 1.9% , มูลค่าการส่งออกและบริการเติบโต 9.9% , การลงทุนรวมขยายตัว 3.4% , โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1% โดยสาขาเกษตรและก่อสร้างกลับมาขยายตัว และเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเร่งสูงขึ้น แต่เสียงจากรากหญ้ายังสะท้อนภาวะแร้นแค้นขัดสน

ต่อเรื่องนี้ในมุมมองภาคเอกชน โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หลังเข้ามารับตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. สมัยที่ 2 ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงมุมมองอีกด้านที่อยากฝากรัฐบาลถึงข้อกังวลเศรษฐกิจฐานรากยังไม่ดี เพราะเวลานี้ตัวเลขจีดีพีที่มาจากการส่งออกจำนวนมากในปริมาณที่เยอะเกินครึ่ง คนที่ส่งออกก็จะได้รับอานิสงส์ เช่นเดียวกับตัวเลขการท่องเที่ยวที่เติบโต แต่อยากให้มองถึงตัวเลขด้านการเกษตรด้วย เพราะยังไม่ดี ทั้งราคาสินค้าเกษตรหลายตัวก็ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากที่เป็นกลุ่มฐานรากของประเทศ และกระจายอยู่ในต่างจังหวัด

 

[caption id="attachment_286846" align="aligncenter" width="294"] สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)[/caption]

อีกทั้งในครึ่งปีหลัง สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการก่อน คือ ปลุกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดผลรวดเร็วกว่านี้ ถ้าตรงนี้สามารถทำได้ชัดเจนก็จะช่วยเศรษฐกิจฐานรากไปด้วยโดยอัตโนมัติ เกิดกำลังซื้อคึกคัก เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่

"ถ้ามองในแง่การเติบโตของจีดีพี น่าจะทำได้ตามเป้า แต่ขณะเดียวกัน ภาครัฐจำเป็นต้องมองรายได้ของประชากรต่อหัวด้วย เพราะขณะนี้เริ่มดีขึ้นก็จริง แต่ก็ยังห่างไกลมาเลเซียที่เขามีรายได้ประชากรต่อหัวอยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่ ไทยอยู่ที่ 6,000-7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี"

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่อยากฝากไว้ คือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่ยังต้องปรับตัวควรได้รับการส่งเสริมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีหลายกระทรวง หลายสำนักงานให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีมาก จนกระจัดกระจาย ก็ควรจะมีการประเมินผล เพื่อดูว่าตรงไหนบ้างที่ช่วยไปแล้วประสบความสำเร็จ และตรงไหนยังไม่บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเวลานี้กลายเป็นว่า หลายกระทรวงลงมาขับเคลื่อน ทำให้งบการช่วยเหลือกระจายไปหลายจุด


app32601129_s

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวทิ้งท้ายว่า สมัยแรกในตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. โฟกัสที่การช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่การกลับมาสมัยที่ 2 นอกจากจะมาต่อยอดให้้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้มแข็งขึ้นแล้ว ยังมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนเรื่องอินดัสทรีทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0 ทั้งในเรื่องการพัฒนาคน การศึกษาในการพัฒนาคน การศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับวิชาชีพจริง การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี การตลาดและการสนับสนุนทางด้านการเงิน โดยร่วมมือกับภาครัฐแบบบูรณาการ

"มีการเรียนรู้ ทำเรื่องการฝึกอบรม ทำหลักสูตรสร้างบุคลากรขึ้นมาโดยร่วมมือกับกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันการศึกษา โดยให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดจับมือกับ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงจับมือกับสถาบันการศึกษาทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้น"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,371 วันที่ 3-6 มิ.ย. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เลือกประธาน ส.อ.ท.18 เม.ย.นี้ ปลอดการเมืองแทรกครั้งแรกในรอบ 20 ปี
‘สุพันธุ์’คว้าเก้าอี้ ประธานส.อ.ท.รอบ2


e-book-1-503x62