เชือด 5 บริษัทขยะพิษ! กรมโรงงานจ่อถอนใบอนุญาต - ทุนนอกยึดไทยฐานนำเข้า

03 มิ.ย. 2561 | 04:31 น.
030661-1119

กรมโรงงานฯ พบ 5 โรงงานนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่อผิดเงื่อนไขประกอบกิจการ 4 ประเด็น จ่อระงับนำเข้า-เพิกถอนใบอนุญาต ดัดหลังเอกชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ... กรอ. ตั้งเป้าดึงขยะอุตสาหกรรมเข้าระบบ 31 ล้านตัน

หลังจาก พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยกำลังทหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำหมายค้นเข้าตรวจโรงงานรับกำจัดขยะโดยผิดกฎหมาย กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ และพบว่า ผลการตรวจสอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste มีการทำผิดเงื่อนไขเกิดขึ้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบขยายผลในรายละเอียดและดำเนินการตามกฎหมาย


02-3369-1

พบต่างชาติถือหุ้นบริษัท
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบัน มีปริมาณนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ราว 90,000 ตัน แบ่งเป็นนำเข้ามาเมื่อปี 2560 จำนวน 53,000 ตัน และนำเข้ามาในช่วง 3-4 เดือนแรก ปี 2561 จำนวน 37,000 ตัน เป็นการนำเข้าตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ/หรืออนุสัญญาบาเซล โดยผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตจำนวน 7 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งที่อยู่ในประเภทกิจการคัดแยกขยะและรีไซเคิลขยะ ประกอบด้วย

1.บริษัท เจ.พี.เอส เมทัล กรุ๊ปส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นผู้นำชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มาผ่านกระบวนการย่อย หรือ นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ กำลังผลิต 60,000 ตันต่อปี ทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท คนไทยถือหุ้น 100% มีนายจำรัส พลายกระสินธ์ เป็นกรรมการ

2.บริษัท หย่งถังไทย จำกัด ตั้งโรงงานอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ประกอบกิจการย่อยอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และหล่อหลอมโลหะทั่วไป เช่น ทองแดง ทองเหลือง กำลังผลิต 30,000 ตันต่อปี ทุนจดทะเบียน 19.47 ล้านบาท คนไทยถือหุ้น 99.34% ส่วนที่เหลือถือหุ้นโดยนักลงทุนจีน มีนายจำรัส พลายกระสินธ์ เป็นกรรมการ เช่นเดียวกับ บริษัท เจ.พี.เอส เมทัล กรุ๊ปส์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ

3.บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด ตั้งกิจการอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการรีไซเคิลจอมอนิเตอร์แบบ LCD และบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีกำลังผลิต 50,000 ตันต่อปี ทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท โดยคนไทยถือหุ้น 55% จีน 40% และเกาหลีใต้ 5% มีนายวอน ซองมิน และนายเจียง เล่ย เป็นกรรมการ

4.บริษัท เอส.เอส. อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งโรงงานที่ จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการรีไซเคิลจอมอนิเตอร์แบบ LCD และบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กำลังผลิต 14,000 ตันต่อปี ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีนักลงทุนสิงคโปร์ถือหุ้นใหญ่ 98.9% กรรมการบริษัทประกอบด้วย นายเต็ก ซูน อึ้ง , นางวิจิตรา เยตส์

5.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งโรงงานที่กรุงเทพฯ ประกอบกิจการซ่อมแซมดัดแปลงปรับปรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าใช้แล้วและรีไซเคิลจอมอนิเตอร์แบบ LCD บดย่อย มีกำลังผลิตรวมจำนวน 101,400 ตันต่อปี ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ถือหุ้นโดยนักลงทุนไทย 70% สิงคโปร์ 19% ไต้หวัน 11% มีนางอิสรีย์ สวี และนายชิ้นอัน สวี เป็นกรรมการ

6.บริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งโรงงานที่ จ.อยุธยา ประกอบกิจการคัดแยกสิ่งปฏิกูล หรือ วัสดุไม่ใช้แล้ว ไม่เป็นของเสียอันตราย มีกำลังผลิต 768 ตันต่อปี ทุนจดทะเบียน 22 ล้านบาท ถือหุ้นโดยนักลงทุนมาเลเซีย 100% มีนายโหงว เจา ฮิน , นายออง จู แซง และนายออง จู วุน เป็นกรรมการ

7.บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ตั้งโรงงานที่ จ.ชลบุรี ประกอบกิจการรีไซเคิล กำลังผลิต 7,000 ตันต่อปี ถือหุ้นโดยนักลงทุนญี่ปุ่น 100% ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีนายมาซาอากิ อิโคมา , นายฮิโรยูกิ นาคาโมโต , นายมาซาโตชิ คิชิโน เป็นกรรมการ


GP-3371_180603_0018

พบ 5 บริษัท กระทำผิด ก.ม.
ทั้งนี้ ผู้นำเข้าดังกล่าวมีจำนวน 2 บริษัท ที่ได้รับการยืนยันว่า ดำเนินการถูกต้อง คือ บริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่งฯ และบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ แต่อีก 5 บริษัท จากการตรวจสอบเบื้องต้น มีพฤติกรรมการกระทำผิดและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขประกอบกิจการของกรมโรงงาน ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.บริษัทมีการนำเข้ามาโดยสำแดงเท็จ แจ้งวัตถุดิบนำเข้ามาไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต เช่น ให้นำเข้าชิ้นส่วนพลาสติก แต่นำเข้าซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

2.ผู้นำเข้าบางรายจะต้องนำเข้ามาเพื่อมาคัดแยกซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่กลับมีบางส่วนส่งต่อให้กับบริษัทอื่นดำเนินการเอง หรือ การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปปรากฏภายใต้ชื่อบริษัทอื่นที่ไม่ใช่ชื่อบริษัทที่นำเข้ามา ซึ่งในส่วนนี้พบว่า มีบริษัทที่กระทำผิด มีข้อมูลการเชื่อมโยงกับบริษัทอื่น ขัดกับเงื่อนไขที่ให้นำเข้ามาเพื่อใช้เอง , 3.บางบริษัทมีการประกอบกิจการโรงงานที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจดแจ้งให้ประกอบกิจการโรงงานได้ , 4.ประกอบกิจการผิดเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาตเกี่ยวกับโรงงาน สั่งระงับนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์

 

[caption id="attachment_286722" align="aligncenter" width="402"] มงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มงคล พฤกษ์วัฒนา
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)[/caption]

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบัน มีโรงงานที่ขออนุญาตตั้งกิจการในประเภท 105 คัดแยกขยะ และประเภท 106 รีไซเคิลขยะ รวมทั้งหมดจำนวน 148 โรงงาน ในจำนวนนี้แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 103 โรงงาน โดยตัวเลขการนำเข้าในช่วง 2 ปี ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ราว 9 หมื่นตันนั้น มีสัดส่วนกว่า 98% ที่เป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ โดยปีที่ผ่านมา พบว่า ขยะดังกล่าวที่นำเข้ามารีไซเคิลมีการนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน เป็นต้น

สำหรับโรงงานที่มีปัญหากระทำผิดกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบในรายละเอียดทั้งหมด และให้เร่งปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงจะสั่งระงับห้ามนำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะรายที่มีความผิดในเร็ว ๆ นี้ อีกทั้งเร่งดำเนินการเอาผิดทางกฎหมาย

"ล่าสุด ทางกรมโรงงานฯ อยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมระงับนำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3-12 เดือน หรือ เพิกถอนใบอนุญาตนำเข้า เพื่อเป็นการดัดหลังผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้"

อย่างไรก็ตาม ปี 2561 กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีแผนที่จะนำขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดมาเข้าระบบ จำนวน 31 ล้านตัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ขยะอุตสาหกรรมอันตรายรวมซากขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ทั้งสิ้น 2 ล้านตัน และเป็นขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย จำนวน 29 ล้านตัน


S__53149734

โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสน
ปัจจุบัน กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้กับส่วนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ซึ่งต้องนำไปกำจัดแบบถูกวิธี ถ้าไม่สามารถกำจัดได้ตามเงื่อนไขก็จะถูกลงโทษตามกฎหมาย พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2535 ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ เมื่อนำไปกำจัดแบบผิดวิธีก็จะถูกกฎหมายดำเนินการอีก โดยกฎหมาย พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ปี 2535 ของกรมโรงงานฯ ที่มีโทษปรับ 2 แสนบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,371 วันที่ 3-6 มิ.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรอ. ชู 4 มาตรการ! คุม "148 โรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์" ทั่วไทย - "มือถือ-คอมพิวเตอร์" ปริมาณสูงสุด
กรอ. ชี้ ไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตัน/ปี เผย เทรนโลกมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มรายได้แก่ภาคอุตสาหกรรม


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว