Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เทรนด์ใหม่ธุรกิจโลก โรดแมป PTTGC

01 มิ.ย. 2561 | 14:58 น.
- 1 มิ.ย. 61 - เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy นับเป็นเทรนด์ธุรกิจที่กำลังถูกจับตาด้วยหลักการจัดการของเสียโดยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิต และบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำ เนื่องจากโลกของเรานับวันจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น อุณหภูมิโลกก็สูงขึ้น ขณะที่ขยะกำจัดเท่าใดก็ไม่มีวันหมดเหล่านี้ล้วนทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และปัญหามลภาวะของสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น

เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นคำตอบของภาคธุรกิจเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเนื่องจากจะเปลี่ยนวงจรของธุรกิจให้หมุนเวียนด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด เข้าใจง่ายๆ ก็คือการนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ ให้เป็นวัสดุใหม่ซึ่งทรัพยากรก็เอามาจากตัวสินค้าที่ใช้แล้วนั่นเอง ดังนั้นเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงตั้งอยู่บนหลักการ 2 ข้อ ได้แก่ การรักษาและเพิ่มการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด IMG_3363

ประเทศที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน  เป็นต้น หันมาดูประเทศไทยกันบ้างพบว่า ในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องแผนการบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามการตื่นตัวของภาคธุรกิจของไทยในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นยังมีไม่มากนักแต่ที่โดดเด่นและน่าจับตามองที่สุดในขณะนี้ ก็คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC

คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า PTTGC มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต จัดทำโครงการลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการอนุรักษ์พลังงานของโรงงาน ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานลดลงได้ถึง 570 ล้านบาท ในปี 2560 นอกจากนี้ยังมีโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ซึ่งปี 2560 สามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 7.69 ล้านลูกบาศก์เมตร IMG_3387

บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านโครงการ Upcycling Plastic Waste โดยทำงานร่วมกับหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ให้มุ่งมั่นพัฒนาการนำขยะพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว มาแปรรูป ผ่านการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ หรือของตกแต่งบ้าน ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและยาวนาน

โดยมีเป้าหมายเพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และโครงการโดดเด่นเป็นรูปธรรมแล้วคือโครงการที่ดำเนินงาน ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ประเทศสเปน เพื่อมุ่งส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะในทะเลและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทยให้สวยงามอย่างยั่งยืน (Upcycling the Oceans, Thailand) ได้ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกนำมาจำหน่าย และใช้ในหลากหลายกิจกรรม เช่น เสื้อวิ่งมาราธอน และคาดว่าปลายปีนี้จะมีสินค้าสู่ตลาดที่จะนำมาให้ประชาชนได้ร่วมอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมจากการ Upcycling Plastic Waste IMG_3482

นอกจากนี้แล้ว บริษัทฯ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรง Recycle Plastic เชิงพาณิชย์เพื่อเป็นตัวอย่างนำร่อง ในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพลาสติก  Recycle รวมทั้งการแสวงหา สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของพลาสติกได้ในระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ในปี 2561 นี้ PTTGC ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำกลยุทธ์สู่เป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy Strategy โดยจะศึกษาว่าทั่วโลกได้มีการดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไร โครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่จะต่อยอดทำอะไรได้อีกหรือไม่ รวมถึงการกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับกลุ่มบริษัท PTTGC การจัดทำกลยุทธ์ดังกล่าวจะให้ความสำคัญในเรื่อง ของ 5Rs  ต่อยอดจาก 3Rs เดิม ที่ประสบความเร็จอย่างดี ประกอบด้วย Reduce (ลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) Recycle (การแปรรูปมาใช้ใหม่) Refuse (ปฏิเสธการใช้สารเคมีที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) และ Renewable (ใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน) โดยแผนการปฏิบัติ 5Rs จะมีความเข้มข้นของการบริหารจัดการของเสียทั้งวงจรการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นสู่ผู้ใช้ทั้งกลุ่มลูกค้าจนถึงผู้บริโภค สามารถยืดอายุการใช้งานของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ IMG_3488

แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกฝ่ายพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนไป รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ยอมรับในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป