กรมชลฯคิกออฟไทยนิยม ทุ่มงบกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

02 มิ.ย. 2561 | 19:04 น.
กรมชลประทานคิกออฟโครงการไทยนิยมยั่งยืน งบกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท พร้อมกันทั่วประเทศหลังร่วมกับมหาดไทยสำรวจความต้องการของประชาชนครบ 76 จังหวัด เผยแบ่งเป็น 4 เมนูหลัก จ้างงานชลประทาน สนับสนุนใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ พัฒนาแหล่งนํ้า และฟื้นฟูแหล่งนํ้าชลประทาน

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชล ประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off โครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่บริเวณอ่างเก็บนํ้ากุดลิงง้อ ต.นาดี อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทาน 5 อุดรธานีว่า กรมชลประทานเริ่มเดินหน้าตามแผนปฏิบัติงานแนวทางการขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศ ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนของกรมชลประทานแล้ว ภายหลังจากที่ได้มีการลงพื้นที่ทำการสำรวจความต้องการของประชาชน ร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทย ตาม Road Map ครบถ้วนทั้ง 4 เวที ทั่วประเทศ จำนวน 13,382 ครั้ง ประกอบด้วย 15,020 หมู่บ้าน 3,590 ตำบล 747 อำเภอ ครอบคลุม 76 จังหวัด สำหรับการดำเนินงานโครงการไทยนิยมยั่งยืน ของกรมชลประทาน แยกออกเป็น 4 เมนู คือ

1.โครงการจ้างงานชลประ ทาน สร้างรายได้เกษตรกร ภายใต้กรอบขับเคลื่อน คนไทยไม่ทิ้งกัน มีเป้าหมาย 76 จังหวัดงบประมาณ 187.554 ล้านบาท 2. โครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้กรอบการขับเคลื่อนชุมชนอยู่ดีมีสุข มีพื้นที่การดำเนินการครอบคลุม 53  จังหวัด งบประมาณ 3,548.020 ล้านบาท ปริมาณ lo-a การใช้ยางพารา 3,509.50 ตัน ระยะทางรวม 999.65 กิโลเมตร

3.การพัฒนาแหล่งนํ้าสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้กรอบขับเคลื่อน รู้กลไกบริหารราชการ โดยมีเป้าหมาย 30 จังหวัด จำนวน 300 แห่ง งบประมาณ 699.505 ล้านบาท มีพื้นที่รับประโยชน์ 92,285 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 14,611 ครัวเรือน และ 4.การพัฒนาฟื้นฟูแหล่งนํ้าชลประทาน เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และภัยแล้ง ภายใต้กรอบขับเคลื่อน รู้กลไกบริหารราชการ มีเป้าหมาย 68 จังหวัด งบประมาณ 9,266.904 ล้านบาท ความจุ
ในการเก็บนํ้ารวม 14.09 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทาน 17,900 ไร่

นายประพิศ กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินงานตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน จะเน้นยํ้าในเรื่องของความถูกต้อง โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะมีการแต่งตั้งบุคคลภายนอก อาทิ กลุ่มผู้ใช้นํ้า ผู้นำหมู่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน เข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ตลอดโครงการรวมทั้งจะมีการติดตามผลการดำเนินงาน และรายงานความก้าวหน้าของโครงการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการจัดกิจกรรม Kick off โครงการไทยนิยมยั่งยืนที่จังหวัดอุดรธานีนั้น เป็นกิจกรรมการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้เกษตรกร (เมนูที่ 1) ได้ดำเนินการจ้างแรงงานราษฎรที่เป็นเกษตรกร ที่ได้ลงทะเบียนตามโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อทำการปรับปรุงพื้นที่อ่างเก็บนํ้า กำจัดวัชพืชจอกหูหนูยักษ์และวัชพืชนํ้า ทำให้สภาพอ่างเก็บนํ้ากุดลิงง้อ ต.นาดี อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นอ่างเก็บนํ้าของกรมชลประทาน ให้มีสภาพดีขึ้น

สำหรับอ่างเก็บนํ้ากุดลิงง้อแห่งนี้ เป็นอ่างเก็บนํ้าขนาดกลาง ก่อสร้างเมื่อปี 2499 มีพื้นที่ชลประทาน 6,256 ไร่ สามารถบรรจุนํ้า 6.40 ล้านลูกบาศก์เมตร


หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,371 วันที่ 3-6 มิถุนายน 2561