ขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง! ยอดพุ่งกว่า 4 แสนตัน - ห่วงคัดแยกผิดวิธี

04 มิ.ย. 2561 | 12:26 น.
040661-1919

กรมควบคุมมลพิษ เผย ของเสียอันตรายจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยอดพุ่งมากกว่า 4 แสนตันต่อปี จำแนกสารพิษมีผลต่อสุขภาพ ทั้งสารตะกั่ว สารหนู นิกเกิล โบรมีน ด้าน 'วงษ์พาณิชย์' เผย ปัญหาเกิดจากคัดแยกไม่ถูกวิธี




TO__2162

นายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการ สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ของเสียอันตรายจากซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ว่า ขณะนี้ตัวเลขน่าจะสูงกว่า 4 แสนตันต่อปีแล้ว (ปี 2559 มีขยะอันตรายจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 393,070 ตันต่อปี) ยังไม่รวมขยะอันตรายชนิดอื่น ๆ ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 2.13 แสนตันต่อปี เป็นยอดที่สะสมมาทุกปี โดยคิดตามปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีการสร้างขยะต่อคนต่อปีจำนวน 7.1 กิโลกรัม

"ยกตัวอย่าง ระหว่างปี 2558 กับปี 2559 จะเห็นว่า ปริมาณซากผลิตภัณฑ์เกือบทุกรายการจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีทั้งของเก่าและของใหม่เกิดขึ้น เช่น โทรทัศน์ จาก 106.3 แสนตันต่อปี เพิ่มเป็น 108.7 แสนตันต่อปี"


02-3369-1

นอกจากนี้ ปริมาณซากอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว หากมีการคัดแยกไม่ถูกวิธีจะเป็นอันตรายได้ เนื่องจากซากอิเล็กทรอนิกส์แต่ละชนิดจะมีทั้งสารตะกั่ว สารหนู นิกเกิล โบรมีน โดยในแบตเตอรี่รถยนต์ ผงหมึก แผงวงจร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ จะมีสารเคมีอันตราย คือ ตะกั่ว จะมีผลต่อสุขภาพ คือ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ตัวซีด ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการทางสมอง ทำให้ความจำเสื่อม ฯลฯ

ส่วนแผงวงจรไฟฟ้าที่ประกอบอยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทุกชนิด จะมีสารหนู ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทและผิวหนัง และระบบการย่อยอาหาร หากได้รับในปริมาณมากจะทำให้เสียชีวิตได้

สำหรับกล่องสายไฟ แผงวงจร และตัวเชื่อมต่อ สารเคมีที่เป็นอันตราย คือ โบรมีน ตัวนี้ถ้ามีทองแดงร่วมด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไดออกซินและฟิวเรนในระหว่างการเผา ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงประเภทหนึ่ง ส่งผลเสียต่อระบบการย่อย มีผลต่อระบบประสาทและภูมิต้านทาน


S__53149734

ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงกรณีข่าวลักลอบนำขยะกากอุตสาหกรรมจากทั่วโลกทิ้งในไทย ว่า ประเด็นนี้จะต้องตรวจสอบให้ดีว่า บริษัทที่นำเข้ามาเพื่อคัดแยก นำโลหะมีค่าไปขาย หรือใช้เป็นวัสดุรีไซเคิล หรือส่งขายให้โรงงานรีไซเคิล ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ผิด เพราะขอในประเภท 105 ทำตามขั้นตอนก็ไม่ผิด แต่จะผิดก็ต่อเมื่อ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต เช่น ไม่มีระบบกำจัดมลพิษทางอากาศหรือของเสียที่เกิดจากการคัดแยกต้องจัดเก็บอย่างปลอดภัย หรือบริษัทนั้นนำเข้าซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกินสิทธิ์ที่ได้รับ ก็จะผิดเงื่อนไขการประกอบกิจการ หรือถ้าโรงงานนั้นได้รับอนุญาตให้มาคัดแยกหรือขอตั้งกิจการในประเภท 105 (คัดแยกขยะ) อย่างเดียว แต่แอบไปประกอบกิจการประเภท 106 (รีไซเคิล) ด้วยโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ถือว่ามีความผิด


3IMG_0235

ด้าน นายสมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนย้ายซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะเคลื่อนย้ายได้จะต้องอยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าของเสียเคมีวัตถุภายใต้อนุสัญญาบาเซล ที่มีกระบวนการตั้งแต่การพิจารณาคำขอ คำยินยอมจากรัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐจากประเทศต้นทาง จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบความพร้อมในด้านที่จัดเก็บแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กระบวนการผลิต ฯลฯ ของโรงงานผู้นำเข้า ตามด้วยการยืนยันตอบรับหรือปฏิเสธไปยังประเทศต้นทาง และหากได้รับการยินยอมแล้ว จะพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียน โดยขั้นตอนสุดท้ายผู้นำเข้าจะต้องแจ้งยอดการนำเข้าให้กับทางหน่วยงานที่ดูแลกำกับได้รับทราบทุกครั้ง

ส่วนประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นกรณีที่มีบริษัทนำเอาแผงวงจรไฟฟ้าไปย่างไฟ ทำให้ควันไฟที่พุ่งขึ้นมาเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์น่าจะมาจากที่การปฏิบัติไม่ถูกวิธี จนน่าให้เกิดอันตรายได้


……………….
เซกชัน : การค้า-การลงทุน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,371 วันที่ 3-6 มิ.ย. 2561 หน้า 09

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรอ. ชู 4 มาตรการ! คุม "148 โรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์" ทั่วไทย - "มือถือ-คอมพิวเตอร์" ปริมาณสูงสุด
กรอ. ชี้ ไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตัน/ปี เผย เทรนโลกมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มรายได้แก่ภาคอุตสาหกรรม


e-book-1-503x62