มารยาตลาดหุ้น : ลงขันฟุตบอลโลก 2018 กับรอยร้าวในภาคี

01 มิ.ย. 2561 | 11:07 น.
 

525595
ต้องลุ้นตัวโก่งเป็นเวลาแรมปีกว่าพี่น้องประชาชนคนไทย จะได้เฮดัง ๆ ว่า “เราจะได้ดูบอลโลก 2018” อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งการแข่งขันจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2561 นี้ ที่ประเทศรัสเซีย

ฟุตบอลโลกถือเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คนไทยติดตามและตั้งหน้าตั้งตารอคอย เหนือกีฬาใด ๆ มากว่า 40 ปีแล้ว

 ดังนั้น “การคืนฟุตบอลโลก” ให้กับคนไทย ถือเป็น “นโยบายคืนความสุข” ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง


[caption id="attachment_286449" align="aligncenter" width="500"] พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ[/caption]

ขอขอบพระคุณ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ผนึกกำลังร่วมกันกับภาคเอกชน 9 ราย นำโดย บีทีเอส กรุ๊ป, ไทยเบฟเวอเรจ, เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ “ซีพี”, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี, ธนาคารกสิกรไทย, คิงเพาเวอร์, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, บางจาก คอร์ปอเรชั่น และ คาราบาวตะวันแดง โดยเป็นรูปแบบ “การลงขัน” รายละ 100-200 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท

ณ จุดนี้ถือว่า “บิ๊กป้อม” และรัฐบาลทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบแล้ว ที่เหลือคือขั้นตอนการลงมือปฏิบัติ

จริง ๆ แล้ว การรวมพลังครั้งนี้ มีการจัดเตรียมงานและมีการนัดประชุมหารือระดับปฏิบัติการครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา

โดยเดิม “คิงเพาเวอร์” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนเจรจากับ FIFA ในตอนต้น หากแต่ด้วยนโยบายและข้อกำหนดของฟีฟ่าว่าจะเจรจาและลงนามในสัญญาเฉพาะกับบริษัทผู้ประกอบธุรกิจ Broadcasting เท่านั้น และด้วยเวลาที่กระชั้นชิด “บอลจึงเข้าทาง” บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ “ทรู” ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ “ซีพี” โดยมีผู้บริหารเบอร์หนึ่งคือ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ลูกชายของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” แห่งอาณาจักรซีพีนั่นเอง กระโดดเข้ามารับหน้าที่ดูแลเงิน 1,400 ล้านบาทแทน

งานนี้จะเรียกว่า “ตกกระไดพลอยโจน” หรือ “เข้าทางปืน” ก็หารู้ได้ เพราะเมื่อ “อ้อยเข้าปากช้าง” แล้วไม่มีทางคาย

[caption id="attachment_286453" align="aligncenter" width="369"] ศุภชัย เจียรวนนท์ ศุภชัย เจียรวนนท์[/caption]

จริงๆ แล้วการบริหารจัดการเงิน 1,400 ล้านบาท (เงินกองกลางของ 9 องค์กร) กับ Super Content ฟุตบอลโลก 2018 กับการยึดถือหลัก “นโยบายคืนความสุข” หาใช่เรื่องยากหากใจเป็นธรรม เพราะถือเป็นค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นค่าโฆษณา ค่าบริหารจัดการต่างๆ อีกกว่า 200-300 ล้านบาท

คำถามคือไอ้เงินที่เหลือมาจากค่าลิขสิทธิ์นี้ “ทรู” จัดการมันอย่างไร เพราะนี้คือ “เงินกองกลาง” ไม่ต้องนับถึง “ลิขสิทธิ์” และ “สิทธิประโยชน์” อื่น ๆ ที่ฟันเองโดยตรง

เท่าที่รู้มาคือ พันธมิตรหลายเจ้าที่ร่วมลงขัน ปัจจุบันเกิดอาการไม่พอใจ “ทรู” หลังจากได้เข้าร่วมประชุมหลายครั้ง นับตั้งแต่การตั้งงบ 45 ล้านบาทให้แก่บริษัทในเครือตนเองในฐานะ “ผู้บริหารจัดการ” และการซื้อสื่อประชาสัมพันธ์อีกกว่า 65 ล้านบาท ที่ผู้ลงขันร่วมหลาย ๆ เจ้าตั้งคำถาม

เช่น ทำไมถึงจะซื้อสื่อสิ่งพิมพ์เพียง 2 ฉบับ กับสื่อออนไลน์ไม่กี่เจ้า และไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย (กีฬา)?...งาน Production หลายสิบล้านจ้างใคร? การจัดงานกิจกรรมฟุตบอลโลกทำไมจึงไม่จัดในที่สาธารณะ ทำไมจึงจัดในสถานที่เฉพาะ (หรือว่าเอื้อประโยชน์ใคร?) ทำไมจึงถ่ายทอดสดใน TV เพียง 3 ช่อง และบางช่องไม่ใช่แม้กระทั้งช่อง HD

[caption id="attachment_286460" align="aligncenter" width="335"] พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา[/caption]

อีกทั้งการกระทำผิดหลักการที่ให้ไว้กับสังคมของทีวีบางช่องที่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดว่าจะ “ไม่หากิน” หรือ “ขายโฆษณา” เพื่อรบกวนคนไทยในการดูฟุตบอลครั้งนี้...

โดยคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้จากตัวแทนของ “ทรู” พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา คือ “ผู้ใหญ่เขาคุยกันแล้ว”...เสมือนมัดมือชกทีมทำงานขององค์กรที่ร่วมลงขัน

ความเคลือบแคลงใจครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ลงขันที่ปรารถนาดีต่อประชาชนคนไทยยังไม่กล้าจ่ายสตางค์ไปให้ “ทรู”

นี่อาจเป็นบทเรียนที่เจ้าสัว (2 ราย) แม้ยากแต่ควรจะเรียนรู้ ในการบริหารเงินหุ้นส่วนที่ลงขันร่วมกัน ด้วยเจตนารมณ์ที่แตกต่างเมื่อ 7 คนมองประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอีก 2 คน มองประโยชน์เชิงพาณิชย์ของตนเป็นที่ตั้ง และทีนี้จะไปกันได้อย่างไร...

คอลัมน์ : มารยาตลาดหุ้น |โดย...คุณนายเผือก | หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ |ฉบับ 3371 ระหว่างวันที่ 3-6 มิ.ย.2561

e-book-1-503x62-7