จับชีพจรสถานการณ์ชายแดนใต้ วันที่รัฐขีดเส้นปี 59 เหตุร้ายต้องยุติ

03 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
การขีดเส้นให้ปี 2559 เป็นปียุติสถานการณ์รุนแรงไฟใต้ ที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ประกาศขึ้น เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา หลังลงพื้นที่และเห็นสัญญาณบวกบางประการว่า ในทางปฏิบัติสามารถทำได้จริง โดยดูจากการทำงานที่สอดประสานระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
หากย้อนไป 12 ปีก่อนกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นใบไม้ร่วงไปกว่า 6 พันราย สูญเสียงบประมาณแผ่นดินกว่าแสนล้านบาท เพื่อเยียวยาและแก้ปัญหา"คนคิดต่าง"ในพื้นที่ แต่ก็ไม่สัมฤทธิ์ผล

  ผ่าตัดใหญ่แก้ปัญหาจตช.

ทันทีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าบริหารบ้านเมือง ได้พุ่งเป้าแก้ปัญหาชายแดนใต้เป็นอันดับต้น ๆ ตามกรอบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 ที่สำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) จัดทำขึ้น ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553
พร้อมไปกับการปรับโครงสร้างกลไกการบริหารจัดการใหม่ เป็นระดับนโยบาย ระดับการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และระดับปฏิบัติการ ซึ่งกำหนดให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในพื้นที่ เพื่อให้งานด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาดำเนินไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในพื้นที่เป้าหมาย โดยเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 98/2557 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 96/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)เสนอ

และในเวลาต่อมาได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 125/2557 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่96/2557 และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีพล.อ.ประวิตรเป็นประธาน เพื่อให้การเร่งรัดการแก้ไขปัญหา ภายใต้กรอบนโยบายและกลไกดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมช.ได้ร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือ กอ.รมน.ศูนย์อำนวยการบริหารจัดหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)สำนักงบประมาณ และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2558-2560 เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานในการแก้ปัญหา เพื่อความชัดเจนและเป็นรูปธรรมไปในทิศทางเดียวกัน

  ชู 5 อำเภอนำร่องประชารัฐร่วมใจ

เครื่องมือสลายขั้ว"คนติดต่าง"เพื่อดับไฟใต้ให้มอดลงนั่น คือ การนำโครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข มาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งได้นำนโยบายประชารัฐของรัฐบาลมาประยุกต์ใช้ เบื้องต้นได้นำร่อง 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.นาทวี จังหวัดสงขลา อ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี อ.ยะหา จังหวัดยะลา อ.บาเจาะ และอ.เจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ก่อนจะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมอีก 31 อำเภอ โดยมุ่งเน้นเข้าถึงมวลชน ทั้งไทยพุทธและมุสลิม โดยใช้วิธีร้อยรัดความคิดและจิตใจของประชาชนให้อยู่กับรัฐ และต่อต้านคนคิดต่าง

ขณะเดียวกันก็ใช้ทุกวิถีทางพา"คนคิดต่าง"กลับบ้าน กลับตัวกลับใจเป็นมวลชนของรัฐ ซึ่งล่าสุด พบว่ามามอบตัวแล้ว 3.6 พันคน และในจำนวนนี้จะช่วยต่อยอดให้ดึง"คนคิดต่าง"ด้วยกัน ให้กลับมาเป็นคนของรัฐต่อไป

อย่างไรก็ดี 4 จังหวัด 5 อำเภอนำร่อง ที่มีจำนวน 5.5 แสนครัวเรือน ประชากร 2 ล้านคน ซึ่ง 60 % เป็นมวลชนของรัฐ ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด มีจิตอาสา และไม่สร้างปัญหา เป็นครอบครัวคุณธรรม และจะขยายฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้จาก 1 ปีที่ผ่านมา หรือปี 2558 ความถี่ของการณ์รุนแรงลดลง หรือแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

ต่อเรื่องนี้นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ย้ำว่า ปี 2559 รัฐอยากให้สถานการณ์รุนแรงชายแดนใต้ยุติลง และมั่นใจว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยดูจากสถิติ 1 ปีที่ผ่านมา หรือปี 2558 การทำงานของศอ.บต.ที่เน้นด้านการรักษาความปลอดภัย เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ สร้างงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ

จากตัวเลขชี้วัดพบว่า รายได้ครัวเรือนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 2 หมื่นบาทต่อครัวเรือนต่อปี การท่องเที่ยวและการลงทุนในพื้นที่เริ่มมีสีสันมากขึ้น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของรัฐและมวลชนในพื้นที่ ที่สะท้อนออกมาในเวลานี้

สอดรับกับพลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาค4 และผอ.รมน.ภาค 4 ที่ย้ำว่า ไม่มียุทธการเพิ่มเติมอะไร ที่จะทำให้ปี 2559 ยุติสถานการณ์รุนแรงชายแดนใต้ นอกจากเดินหน้าใช้โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข คือเน้นรัฐเข้าถึงพื้นที่ทำความเข้าใจกับมวลชน ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเอง ไม่ว่าทหารตำรวจออกตรวจลักษณะใยแมงมุม ทำให้คนก่อปัญหาลงมือยากขึ้น และเกิดความเบื่อหน่ายอยากกลับไปอยู่กับครอบครัว ส่งผลให้หากเทียบสถิติปี 2547 ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์รุนแรง มาถึงปี 2558 ปรากฎว่าลดลงมากถึง 50 %

  เสียงสะท้อนคนพื้นที่

ผู้สื่อข่าวฐานเศรษฐกิจ ลงพื้นที่อ.ยะหา จังหวัดยะลา และอ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี 2 อำเภอนำร่อง ร่วมกับคณะกอ.รมน ส่วนหน้า ระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม 2559 ไม่พบเหตุการณ์รุนแรง และประชาชนในพื้นที่ลดความหวาดผวา กล้าออกนอกบ้านมากขึ้น นายอับดุลรอฮิม คอแด๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกาตอง อ.ยะหา จังหวัดยะลา ยืนยันว่า เหตุการณ์ความรุนแรงลดลงมาก เนื่องจากทุกฝ่ายร่วมมือกัน และลดความหวาดระแวงลงได้ สอดรับกับนายมะดารี อาแด ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 บ้านกาตอง ที่ระบุว่า ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา ช่วยให้ผู้ก่อเหตุหรือคิดต่างลงมือได้ยาก ประชาชนในพื้นที่ก็ลดความหวาดกลัวลง

ด้านนางวิไล วาดประสิทธิ์ ชาวบ้านอ.ยะหา ยืนยันว่า ในพื้นที่ไม่น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว และสามารถไปไหนมาไหนสะดวกสบาย ขณะเดียวกันยังสามารถทำมาหากินตามปกติ

ขณะที่นางกลิ่น ดวงแก้ว อายุ 87 ปี ชาวบ้านอ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ระบุว่าไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เหตุการณ์ไม่ค่อยเกิดขึ้น กล้าออกไปไหนมาไหนมากขึ้น ต่างจากก่อนหน้านี้ที่จะปิดประตูอยู่แต่ในบ้าน แม้แต่อยู่ในบ้านก็ยังกลัว แต่เวลานี้ไม่กลัวเหมือนเมื่อก่อน เช่นเดียวนายดอเลาะ สะตือบา ปราชญ์ชาวบ้าน อำเภอยะหา สะท้อนว่า ยึดตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แนวทางเกษตรพอเพียงแบบผสมผสาน และสามารถมีชีวิตได้อย่างมีความสุขในพื้นที่ ที่สำคัญจังหวัดชายแดนใต้ไม่น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว

ในซีกของบุคคลผู้มีหมายเรียกเข้ารายงานตัว นายมะรอเซะ เจ๊ะเต๊ะ บ้านเลขที่ 58 หมู่ 1 บ้านเปี๊ยะ อ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี สะท้อนว่า ดีใจที่ได้กลับบ้านและอยู่กับครอบครัว และเสียใจกับสิ่งที่กระทำลงไป ยืนยันว่าจะไม่ทำแบบนี้อีก และเขาต้องการบ้าน และมีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนกับครอบครัวทั่วไป ซึ่งขณะนี้ภาครัฐระดับอำเภอก็เตรียมจัดหาบ้านได้ตามที่ได้ร้องขอ

แม้สถานการณ์รุนแรงจังหวัดชายแดนใต้ จะถูกขีดเส้นตั้งเป้าหมายให้ดับมอดลงภายในปีนี้ จากการทำงานแบบสอดประสานในเชิงรุกในพื้นที่ แต่ในมุมกลับก็ไม่ควรประมาท เพราะกลุ่มคนคิดต่างที่เหลืออีกจำนวนมากยังหลบซ่อนอยู่ ที่สำคัญห้วงเปลี่ยนรัฐบาลใหม่หากไม่ใช่ยุครัฐบาลทหาร เหตุการณ์รุนแรงรายวันจะซ้ำรอยเหมือน 12 ปีก่อนอีกหรือไม่ แน่นอนว่าทุกฝ่ายยังไม่ควรนอนใจ!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559