‘ออมสิน’เร่งหารายได้ค่าต๋ง เชื่อมระบบซื้อขายกองทุนกับตลาดหุ้น

09 มิ.ย. 2561 | 18:46 น.
จากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ของธนาคารออมสิน เพื่อให้การบริหารงานและการดำเนินงานมีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการแบ่งส่วนงานและกำหนดหน้าที่ให้ชัดเจน เพื่อมุ่งเน้นการให้บริการแบบลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หรือทำให้เกิด Customer Centric ทำให้วันนี้ธนาคารออมสินจะไม่ใช่เพียงธนาคารของเด็กอีกต่อไป แต่ยังมีลูกค้าที่หลากหลายครบทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มที่มีความมั่งคั่ง หรือที่เรียกว่า กลุ่ม Wealth

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ลูกค้ากลุ่ม wealth จะเป็นกลุ่มที่ธนาคารเรียนเชิญให้มาถือบัตรของธนาคารเท่านั้น ไม่ได้ให้มาสมัครเอง ซึ่งปัจจุบันมีเงินฝากรวมกันเกือบ 5 แสนล้านบาท โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีเงินฝาก 10 ล้านบาทขึ้นไป จะเป็นกลุ่มที่ธนาคารให้บัตรที่เรียกว่า เพรสทีจ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1 หมื่นคน และส่วนอีกกลุ่ม คือมีเงินฝากตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับบัตร เวิลด์อีลิท ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1 พันคน

[caption id="attachment_286306" align="aligncenter" width="335"] ชาติชาย พยุหนาวีชัย ชาติชาย พยุหนาวีชัย[/caption]

“ขณะนี้คนรวยก็มาฝากเงินกับออมสิน ไม่ใช่แค่เด็กๆอีกต่อไป ซึ่งหลังจากเราแบ่งการบริหารจัดการเป็น Customer Centric และให้สัดส่วนที่สมดุลกันประมาณกว่า 30%  โดยแบ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะดูแลเฉพาะ มีต้นทุนการจัดการสูง จึงขาดทุนในกลุ่มนี้ อีกกลุ่มเป็นกลุ่มบุคคลที่มีรายได้ปานกลางถึงระดับสูง ซึ่งก็เหมือนธุรกิจทั่วไปที่มีการใช้บริการบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน ซึ่งจะเป็น กลุ่มที่ทำกำไรให้กับธนาคารและสุดท้ายเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)และธุรกิจทั่วไป ซึ่งมีไม่มากนัก ประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาทแต่ก็เป็นกลุ่มที่ทำกำไรให้เราได้”

สำหรับการบริหารผลตอบแทนให้กับลูกค้ากลุ่ม wealth จะเป็นการลงทุนผ่านสลากออมสิน ซื้อหน่วยลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุน LTF RMF ทำให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี เนื่องจากมีทีมบริหารที่มีใบอนุญาตจากเดิม 100 คน ตอนนี้เพิ่มเป็นกว่า 3 พันคนแล้วที่จะมาช่วยบริหารจัดการผลตอบแทนและความเสี่ยงให้กับลูกค้า เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นเงินเย็น แม้ว่าสลากจะครบอายุก็ยังฝากเงินไปเรื่อยๆ ไม่ได้ถอนไปไหน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างวางระบบเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมต่อกับระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้สามารถซื้อขายกองทุนต่างๆได้เหมือนกับการซื้อขายหุ้น ที่มีความสะดวกรวดเร็ว เป็น real time มากขึ้น แทนที่จะรอ 3-4 วัน เป็น T+3 หรือ T+4 ไป จะทำให้ระยะเวลาสั้นลง และยังสามารถเลือกซื้อขายกองทุนได้หลากหลาย เพราะขณะนี้ออมสินเป็นตัวแทนจำหน่ายกองทุนให้กับธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง มีจำนวนกองทุนที่หลากหลายที่สามารถแนะนำให้กับลูกค้าได้ แต่ถ้าพัฒนาระบบเสร็จ ก็จะเป็นประโยชน์กับลูกค้าได้ ซึ่งจะทำให้ค่าธรรมเนียมส่วนนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วย  ขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้น หลัก 100 ล้านบาท แต่ปีนี้ตั้งเป้ารายได้จากค่าธรรมเนียมรวม 7 พันล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่ 5.6-5.7 พันล้านบาท

“เรามีทีมที่จะให้คำแนะนำกับลูกค้าในการจะตัดสินใจซื้อกองทุนต่างๆ ว่า ลูกค้าแต่ละคนรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เพราะถ้าความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็จะสูงด้วย แต่ถ้าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งความเสี่ยงตํ่า ผลตอบแทนก็จะได้น้อยด้วย”

สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,371 วันที่ 3-6 มิ.ย. 2561 e-book-1-503x62-7