ฟาร์มโตะ ต่อยอดแอพ รุกขยายฐานลูกค้า ปั้นรายได้เกษตรกร

06 มิ.ย. 2561 | 05:27 น.
ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม โดยผู้คนส่วนมากที่ประกอบอาชีพหลักคือการเพาะปลูกและทำการเกษตร แต่เกษตรกรหลายรายกลับยังประสบปัญหาความยากจนและหนี้สิน หนังสือพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้จึงได้ สัมภาษณ์พิเศษ นายอาทิตย์ จันทร์นนทชัย ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Farmto (ฟาร์มโตะ) ช่องทาง

การขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ที่เชื่อมเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากันด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต

ฟาร์มโตะคืออะไร

ฟาร์มโตะเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างโอกาสให้กับเกษตรกรในชุมชนเกษตรอินทรีย์ที่ช่วยให้เกษตรกรมีตลาดรองรับในการขายผลผลิตทางการเกษตรที่แน่นอน ผ่านแบรนด์ของเกษตรกรเอง และช่วยให้เกษตรกรมีเงินลงทุนในการเริ่มต้นการเพาะปลูก ผ่านวิธีการ “ร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตการเกษตร” เพื่อให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคได้ช่วยเหลือและดูแลผลผลิตไปด้วยกัน ทำให้เกษตรกรได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้ที่จะสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองในอนาคต ส่วนผู้บริโภคก็จะได้ความมั่นใจในคุณภาพของผลผลิตที่ได้รับ เพราะได้ร่วมดูแลและเห็นการเจริญเติบโตไปจนถึงได้รับผลผลิต

_อาทิตย์
แก้ปัญหาหนี้เกษตรกร

“แรกเริ่มผมเป็นเกษตรกรที่ทำสวนเกษตรอินทรีย์ในช่วงวันหยุด ซึ่งมองเห็นปัญหาของเกษตรกรที่ได้มีการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่ในนาข้าวและพื้นที่เพาะปลูก แต่กลับ ไม่ได้ผลผลิตเพียงพอที่จะไปจำหน่ายเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กับทางธนาคาร และถูกยึดพื้นที่เพาะปลูก” ฟาร์มโตะจึงเป็นแพลต ฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยแรกเริ่มนั้นมีการให้บริการในรูปแบบเว็บไซต์และแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่เปิดตัวมากว่า 1 ปี หลังจากที่ได้เงินทุนสนับสนุนจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในโครงการ Banpu Champions for Change ปีที่ 7 ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนในการประกอบกิจการเพื่อสังคม และได้นำส่วนนั้นมาพัฒนาเว็บไซต์ให้สามารถซื้อขายผลิตผลทางการเกษตรได้

รูปแบบการให้บริการ

อย่างไรก็ตามสำหรับการให้บริการของฟาร์มโตะนั้น จะเปิดให้ผู้บริโภคได้ร่วมจองผลผลิตตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มแรกของการปลูก เกษตรกรจะมีการปักป้ายชื่อของผู้บริโภคแล้วถ่ายภาพส่งไปให้กับผู้ที่จองผลผลิตดังกล่าวได้ติดตามระยะการเติบโตของผลผลิต เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ร่วมกันในการเพาะปลูก นอกจากนี้หากผู้บริโภคต้องการ เดินทางมาเยี่ยมชมผลผลิตก็สามารถเช็กพิกัดพื้นที่การเพาะปลูกได้จากในระบบ และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะจัดส่งผลผลิต ให้ผู้บริโภคตามที่อยู่ที่ได้ลงทะเบียนและบางชนิดสินค้าเกษตรจะมีการนัดรับผลผลิตบริเวณพื้นที่การเพาะปลูก ซึ่งลูกค้าต้องมีการชำระเงินค่าผลผลิตที่จองให้กับเกษตรกรล่วงหน้า โดยฟาร์มโตะจะมอบให้เกษตรกรก่อน 50% เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนด้านการเพาะปลูก
TP20-3371-A โมเดลรายได้

ฟาร์มโตะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค ดังนั้นในส่วนของรายได้ ทางฟาร์มโตะจะคิดส่วนแบ่งจากราคาจำหน่ายผลผลิตที่ 20% โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรเป็นผู้ตั้งราคาจำหน่ายผลผลิตด้วยตัวเองเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้สิน และราคาผลผลิตตกตํ่า ราคาจำหน่ายก็จะเป็นราคาที่เกษตรกรกำหนดขึ้นซึ่งเป็นราคาหน้าฟาร์ม โดยมองว่าไม่อยากให้ราคาสูงกว่าที่จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า  หรือเมื่อรวมค่าจัดส่งแล้วอาจจะเป็นราคาที่เท่ากัน

แหล่งเงินทุน

เมื่อปีที่ผ่านมาฟาร์มโตะ ชนะเลิศในโครงการของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หรือ National Innovation Agency (NIA) และศูนย์สร้างสรรค์งานออก แบบ หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) โดยได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 1 ล้านบาท ในการพัฒนาต่อยอดเว็บไซต์ฟาร์มโตะ ในรูปแบบแอพพลิเคชัน เพื่อเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค โดยจะมีการออกแบบแอพพลิเคชันร่วมกับ ทีซีดีซีและทาง สนช. ก็ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำปรึกษาในการทำแอพพลิเคชัน คาดว่าจะได้เริ่มใช้จริงในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปีนี้

ตั้งเป้าเติบโตของธุรกิจ

เดิมทีฟาร์มโตะให้บริการจัดส่งถึงบ้าน มีลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 500 ราย เกษตรกรผู้เพาะปลูกอยู่ที่ประมาณ 10 ราย ซึ่งในปีนี้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้มากขึ้น ฟาร์มโตะจึงมีแผนที่จะขยายไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ เช่น ร้านอาหาร หรือโรงแรม โดยอาจจะมีการสั่งปลูกหรือจองผลผลิตไว้ล่วงหน้า ในรูปแบบพรีออร์เดอร์ ซึ่งหากแอพพลิเคชันสมบูรณ์ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่ม ขึ้นเป็น 1,000 ราย จำนวนเกษตรกรเพิ่มขึ้นกว่า 100 รายและผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม อีกประมาณ 10 ร้าน ภายในสิ้นปีนี้

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับ 3,371 ระหว่างวันที่ 3-6 มิ.ย.61 e-book-1-503x62-7