BAMปรับสมดุลสร้างเสถียรภาพด้วยหลักธรรมาภิบาล

06 มิ.ย. 2561 | 05:09 น.
หากเปรียบ “บริษัท” เป็น “มนุษย์” สิ่งที่บริษัทต้องมีคือ “หลักคิด” เพื่อสร้างตัวตนหรือปรัชญาในการดำเนินงาน โดยหลักคิดที่ว่าต้องอยู่บนกรอบพื้นฐานความมีธรรมาภิบาล สามารถดำเนินธุรกิจไปคู่กับสังคมได้อย่างสมดุล เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงโดยเฉพาะการเจรจาต่อรองเพื่อประโยชน์สูงสุด และที่สำคัญสามารถแก้ไขปัญหาสาธารณะได้ด้วยโครงการหรือการกำกับกิจการที่ดี หนึ่งแนวคิดที่เป็นดั่งรากแก้วที่สำคัญในการวางโครงสร้าง BAM ให้เป็น บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ดีที่สุด คุณบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหารและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) BAM

IMG_5702 BAM หรือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทหลักในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินมีเสถียรภาพและสามารถกระจายทรัพยากรทุนได้อย่างสมดุล พร้อมๆไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินของกระทรวงการคลังในปี 2541 ด้วยทุนจดทะเบียน 54,700 ล้านบาท และการได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ประกอบกิจการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ในปี 2542 ทาง BAM ได้บริหารจัดการและคืนทุนจดทะเบียนไปแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท รวมทั้งจัดการหนี้ด้อยคุณภาพไปแล้วจาก 50% ของหนี้เสียในระบบทั้งหมดเหลือเพียง 2% ในปัจจุบัน ด้วยระยะเวลา 20 ปี

แม้ตัวเลขดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงการจัดการที่ดี จนได้รับมติในการประกอบกิจการเพื่อปรับสมดุลทางการเงินของระบบเศรษฐกิจ แต่กำไรไม่ใช่ภารกิจหลักของเรา ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา BAM ได้บริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่ได้รับซื้อรับโอนจากสถาบันการเงิน เรายังบริหารทรัพย์สินที่คงค้างให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการให้คำปรึกษา ภายใต้แนวคิด “เจรจามาก่อน กฎหมายมาทีหลัง” เป็นแนวทางที่องค์กรเราดำเนินการมายังต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อเสมอว่า “องค์กรที่ดีที่เอาปัญหาสาธารณะมาใส่ในธุรกิจ องค์กรนั้นจะมีความยั่งยืนและเจริญมากกว่าองค์กรที่มุ่งหวังแต่กำไรเพียงอย่างเดียว”

“เราต้องสร้างความสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจและสังคมให้ดำเนินไปคู่กัน” คุณบรรยง กล่าวอีกว่า ผลของนโยบายจะไม่เกิดผลหากขาดการกระทำ และสิ่งที่ BAM เริ่มทำมาอย่างต่อเนื่องเรียกได้ว่าเป็นปรัชญาคือการนำเอาปัญหาของสังคมมาตกตะกอนทางความคิดเพื่อจัดทำเป็นโครงการต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ พออยู่ พอกิน กับที่ดิน BAM ภายใต้แนวคิด “ทำกิน 1 ไร่ ทำได้ 1 แสน” ที่ได้คัดทรัพย์ประเภทที่ดินเปล่า ที่มีอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มาจำหน่ายให้กับลูกค้าผู้สนใจในราคาที่ไม่สูงโดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์หรือผ่อนชำระกับ BAM ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ อย่างไรก็ดีนอกจากที่ดินเรายังได้เสริมความรู้ในเรื่องพันธุ์พืชเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำผลผลิตของตัวเองมาขายได้ตรงกับความต้องการของตลาด เรียกได้ว่านอกจากเพิ่มรายได้และความเป็นอยู่ที่ดี ยังสามารถเพิ่มมูลค่าที่ดินที่ว่างเปล่าให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ไม่เพียงแต่การจัดการที่ดินเรายังสร้างอสังหาริมทรัพย์อย่างเช่นโครงการล่าสุด “โครงการบ้านสวนสุขใจ” เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ท่ามกลางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบซึ่งได้ผสานเทคโนโลยีที่ลงตัว มุ่งเน้นการประหยัดพลังงานและรองรับกลุ่มผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณ โดยหลักคิดในการดำเนินงานยังคงคัดทรัพย์ที่ดินเปล่าและบ้านเดี่ยวที่เหมาะสำหรับทำเป็นบ้านสวนสุขใจ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยและเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนทุกคนได้มีบ้านที่สวยงามสักหนึ่งหลังในราคาที่เข้าถึงได้ ทั้งนี้นอกจากบริหารทรัพย์สินคงค้างให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบของที่อยู่อาศัย ในปีนี้ BAM ยังเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้โดยจากเป้าหมาย 3,000 รายต่อปี ในขณะนี้สามารถจัดการได้แล้วกว่า 1,000 ราย และเมื่อภาพรวมของหนี้ด้อยคุณภาพลดลง คุณภาพชีวิตของประชากรจะดีขึ้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราหวัง เพราะเรามองว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราไม่ใช่แต่ผู้ถือหุ้น แต่ยังรวมไปถึง ลูกค้า พนักงาน และสังคม เราต้องจัดการทุกสัดส่วนให้สมดุลระหว่างกันด้วยความเป็นธรรม”

สิ่งที่ขับเคลื่อน BAM ในวันนี้คือ หลักธรรมาภิบาล 1.ประสิทธิภาพ 2.ความยั่งยืน โดยในมิติของประสิทธิภาพนั้นทุกหน่วยงานต่างมุ่งพัฒนาอย่างเข้มข้นเพราะส่วนนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเงินในกระเป๋า ขณะที่ความยั่งยืนหรือหลักจริยธรรมที่พึงปฏิบัติมักถูกบดบังและหลงลืมจากเม็ดเงินที่เรียกว่ากำไร ทำให้หลากหลายหน่วยงานมุ่งเน้นแต่ผลกำไรจนละเลยการกำกับกิจการที่ดี ซึ่งสำหรับ BAM แล้วนั้นการตอบแทนสังคมเราเริ่มจากภายใน ผ่านการมอบทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทให้กับบุคลากรได้ไปศึกษาต่อ การเพิ่มอัตราเงินเดือนและสวัสดิการให้กับพนักงานอย่างเป็นธรรม ในด้านของสังคมเราได้มอบทุนการศึกษาเช่นกันกว่า 1,000 ทุนต่อปี พร้อมด้วยมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ การปลูกป่าเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนในทุกด้านเพื่อยกระดับชุมชนให้เป็นสังคมอุดมสุข และผลของการ
ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทำให้ BAM คว้ารางวัล “องค์กร CSR เป็นเลิศ” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

การแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพมาตลอด 20 ปี กว่าแสนรายในมูลค่าหลายหมื่นล้าน ด้วยแนวคิดที่ไม่ได้มุ่งหวังแต่ผลกำไรแต่ใส่ใจในเรื่องของสังคมเข้าไปผสมผสานเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตของประชากรและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไปด้วยกันด้วยความสมดุล เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า กำไรไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการดำเนินธุรกิจจริงๆ

“อย่าให้กำไรกลายเป็นตะกรันทางความคิดที่ขูดเท่าไหร่ก็ขัดไม่ออก จนบดบังหลักคิดการมีธรรมาภิบาลที่ดีต่อสังคม ซึ่งนั้นอาจจะไม่ใช่หนทางแห่งความยั่งยืน การลองนำเอาปัญหาสาธารณะมาใส่ในธุรกิจ แล้วคิดดูว่าธุรกิจของทุกคนจะสามารถยกระดับสังคมได้ในมุมมองไหน เพียงเท่านี้จากหนึ่งหน่วยธุรกิจจะช่วยสังคมได้อย่างหลากหลาย และภาพของธุรกิจและสังคมจะกลายเป็นภาพเดียวกันที่ทุกครั้งที่หันกลับมามอง สังคมจะมีความสุขได้ทุกส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน” อุดมการณ์ที่แข็งแกร่งของผู้ชายที่ชื่อ “บรรยง วิเศษมงคลชัย”

 

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,371 (842) วันที่ 3 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62-7