เอสเอ็มอีจิ๋วเนื้อหอม แบงก์แข่งอัดสินเชื่อ

30 พ.ค. 2561 | 06:13 น.
แบงก์ลุยปล่อยเอสเอ็มอีไซซ์เล็ก หลังสัญญาณเอ็นพีแอลเริ่มนิ่ง เศรษฐกิจทยอยฟื้น “กสิกรไทย” มุ่งเจาะกลุ่มรับเหมา-บริการโต เผยเห็นลูกค้าทยอยตบเท้าขอหนังสือ L/G เพิ่ม ส่วน “ธนชาต” ส่งสินเชื่อ SME ได้ใจ รุกรายจิ๋ว ยอดขายไม่เกิน 20 ล้าน หลังตอบรับดี ตั้งเป้าปล่อยใหม่ 1 หมื่นล้าน

นายชลัฐ ศิริพงศ์วุฒิกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีนี้ธนาคารจะมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับบริการและท่องเที่ยว เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการเข้ามาขอหนังสือคํ้าประกัน (L/G) ทยอยเพิ่มขึ้น โดยจากตัวเลขพอร์ตก่อสร้างในปี 2560 อยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท เติบโต 6% และหากดูเฉพาะ L/C  จะเติบโตสูงอยู่ที่ 9% หรือคิดเป็นเงิน  4.3 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้ L/C น่าจะเติบโตขึ้นตามโครงการภาครัฐที่ทยอยออกมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอีรวมอยู่ที่กว่า 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเอสเอ็มอีกลุ่มขนาดเล็กอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท และเอสเอ็มอีกลุ่มยอดขายเกิน 50 ล้านบาท ยอดคงค้างอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ทั้งปีธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อเอสเอ็มอีรวมอยู่ที่ 4-6% ยอดคงค้างแตะ 7 แสนล้านบาท

“ตอนนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีไซซ์เล็กเริ่มโตช้าๆ ไม่ได้โตบูมเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็เห็นว่าสัญญาณเอ็นพีแอลเริ่มนิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งลูกค้าระวังเพิ่ม และแบงก์ก็เข้มขึ้นและเร่งแก้ไขปัญหา โดยมองว่าเซ็กเตอร์ที่ยังไปได้ดี จะเป็นรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจบริการ เราจึงตั้งเป้าเติบโตกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ทั้งปีโดยรวมเอสเอ็มอีน่าจะโตได้ตามเป้า 4-6%”

ด้านนางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อย ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือ SSME ที่มียอดขายไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งพบว่า สินเชื่อมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง หลังจากปีที่ผ่านมาได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อธนชาต SME ได้ใจ” สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท และทำตลาดมา 1 ปี พบว่า มีอัตราการเติบโตค่อนข้างดี และมีหนี้เสียค่อนข้างน้อยไม่ถึง 1% ประกอบกับภาพรวมตลาดเอสเอ็มอีขนาดเล็กมีตลาดค่อนข้างใหญ่กว่า 3 ล้านราย ที่ยังต้องการแหล่งเงินทุนอีกจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของธนาคารที่จะเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อ

ทั้งนี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 1 หมื่นล้านบาท โดยมาจาก“สินเชื่อธนชาต SME ได้ใจ” 2,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ปล่อยได้ 1,000 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท หลังจาก 4 เดือนแรกปล่อยไปแล้ว 500 ล้านบาท หรือ 30% ของเป้าหมาย โดยเฉลี่ยวงเงิน 1.5 ล้านบาทต่อราย จากปัจจุบันที่มียอดสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอีอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทคาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะจบอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับอัตราดอกเบี้ยกลุ่มนี้ มีหลายอัตราขึ้นกับความเสี่ยงและหลักประกัน โดยให้วงเงินหลักประกันอยู่ที่ 60-80% ส่วนดอกเบี้ยจะเริ่มตั้งแต่ดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR) บวก 2-4% หรือ 8-10% โดยลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงจะอยู่ที่ 10% และความเสี่ยงน้อยสุดจะอยู่ที่ 8% ขณะที่อัตราผลตอบแทน (Yield) เฉลี่ยที่ 7-8% สอดคล้องกับการจัดการความเสี่ยง

“เรามองว่า ตลาดเอสเอ็มอีไซซ์เล็กมีโอกาสเติบโตสูง และหลังจากเราทดลองตลาดมาในช่วง 1 ปี หนี้เสียค่อนข้างตํ่า ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้ามีคุณภาพ ปีนี้จึงตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้น โดยที่รักษาหนี้เสียไม่ให้เกิด 1% จากภาพรวมตลาดที่อยู่ 4-5%”

หน้า 23-24 “หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับ 3,370 31 พ.ค.-2 มิ.ย. 2561

e-book-1-503x62-7